ทวารวดีเป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะใช้กำหนดเรียกงานศิลปะกลุ่มหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกันในภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลเกิดขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ เครื่องปั้นทวารวดี ซึ่งได้พบทั่วไปในชุมชนโบราณช่วงระยะเวลาดังกล่าวพบว่า มีแบบไม่แตกต่างกันมากนัก งานที่ผลิตกันทั่วไปจนกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของทวารวดีเนื่องจากได้พบในชุมชนโบราณทุกแห่ง คือ หม้อมีสัน และกาน้ำ นอกจากนั้นเป็นภาชนะรูปร่างต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
เป็นเครื่องปั้นจากเนื้อดินละเอียด ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ผิวเรียบ มีทั้งเคลือบผิวด้วยน้ำดิน และไม่เคลือบผิว ผิวนอกขัดมันและไม่ขัดมัน ภาชนะในกลุ่มนี้เผาด้วยไฟแรงสูง ตัวภาชนะสุกสม่ำเสมอกัน ภาชนะบางแบบมีฝาปิด รูปแบบของภาชนะในกลุ่มนี้ ได้แก่ จาน ชาม ภาชนะคล้ายแจกัน กระปุกขนาดเล็ก กุณโฑ หม้อ เป็นต้น
การตกแต่งภาชนะในกลุ่มนี้ไม่ใช้ลายขูดขีดและลายกดทาบแบบกลุ่มแรก แต่มักเป็นลวดลายที่ขูดลึกลงไปบนผิวภาชนะด้วยหวี เป็นลายลูกคลื่น ลายเส้นคู่ขนานแนวนอน ลายผสมระหว่างลายคลื่นและลายคู่ขนาน และการตกแต่งลวดลายแบบอื่นในลักษณะของการเน้นความสวยงาม ระบายสีด้วยสีขาวหรือสีแดงบนปากและขอบปากภาชนะ หรือเขียนสีแดงเป็นวงกลมที่ด้านในของก้นภาชนะรูปถ้วย เป็นต้น ภาชนะที่เป็นรูปหม้อบางแบบมีลายกดประทับเป็นรูปช้าง สิงโต หงส์กางปีก ลายดอกไม้ ลายกลีบบัวประดับที่ส่วนไหล่ของภาชนะด้วย