ร่างกายมีเส้นเลือดอยู่ ๓ ชนิด คือ เส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ และเส้นเลือดฝอย ฉะนั้นเลือดออกได้ ๓ ทาง คือ
๑. เลือดออกจากเส้นเลือดแดง (arterial bleeding)เป็นเลือดที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เลือดมักทะลักออกจากบาดแผลตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ห้ามเลือดได้ยาก ไม่ค่อยหยุดหรือไม่เกิดเป็นลิ่ม เลือดมีสีแดงสด
๒. เลือดออกจากเส้นเลือดดำ (venous bleeding)เป็นเลือดที่อวัยวะต่างๆ ของร่ายกาย ใช้ออกซิเจนแล้วไหลกลับสู่หัวใจ มักไหลรินๆ จากบาดแผล มีสีแดงคล้ำ
๓. เลือดออกจากเส้นเลือดฝอย (capillary bleeding)มักเกิดที่บาดแผลไม่รุนแรง ตื้นๆ เป็นเส้นเลือดที่เชื่อมโยงเป็นตาข่ายระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ เลือดไหลซึมออกช้าๆ ห้ามเลือดได้ง่าย
การตกเลือด แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. การตกเลือดภายนอก ได้แก่ บาดแผลที่เห็นได้ชัด มีเลือดไหลออกมานอกผิวหนัง
๒. การตกเลือดภายใจ ได้แก่ เลือดออกในอวัยวะหรือช่องว่างต่างๆ ภายในร่างกาย โดยไม่ไหลออกมานอกผิวหนัง ทำให้สังเกตได้ยาก และเป็นอันตรายได้เสมอ
(ก) การกดบาดแผลโดยตรง เป็นวิธีง่าย ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าสะอาดเท่าที่หาได้ พับเป็นผืนสี่เหลี่ยมหลายๆ ชั้นกดลงบนบาดแผลโดยตรง กดด้วยแรงสม่ำเสมอ อย่าเปิดผ้าออกมาดูให้บ่อยนัก เพราะลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นดีแล้วจะหลุดทำให้เลือดออกอีก กดจนแผ่นผ้าชุ่มเลือดทั่วกันหมดแล้วจึงเปลี่ยนผ้าผืนใหม่ หากกดไปประมาณ ๕ นาที ผ้ายังไม่ชุ่มเลือดนักแสดงว่าเลือดไม่ออกแล้ว ให้ใช้ผ้าอีกผืนพันทับบนผ้าที่อยู่เหนือบาดแผลให้แน่นพอสมควร
(ข) การกดเส้นเลือดแดงใหญ่เพื่อห้ามเลือด ใช้ สำหรับเลือดออกจากเส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำที่มีความรุนแรง และใช้วิธีแรกมาแล้วไม่ได้ผล โดยกดลงตรงจุดที่มีเส้นเลือดแดงไหลไปเลี้ยงส่วนที่มีบาดแผล ใช้การคลำชีพจรบนตำแหน่งต่างๆ ของผิวหนัง เพื่อให้เลือดที่ไปเลี้ยงบาดแผลลดลงชั่วขณะ ความรุนแรงจากการเสียเลือดจะน้อยลง
จุดกดใหญ่ๆ ที่สำคัญมี ๗ จุด คือ
๑. จุดที่คอ โดยกดที่เส้นเลือดใหญ่ใกล้หลอดลม เพื่อห้ามเลือดที่ศีรษะและใบหน้า ใช้ในกรณีที่บาดเจ็บฉกรรจ์บนใบหน้า ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ควรให้ผู้ป่วยหันหน้าไปด้านตรงข้ามวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้ ผู้ช่วยเหลือไม่ควรใช้จุดนี้พร่ำเพรื่อหากไม่จำเป็นจริงๆ
๒. จุดที่หน้าหู โดยกดลงกับกะโหลกศีรษะ เพื่อห้ามเลือดที่ออกจากหนังศีรษะ
๓. จุดใต้คาง ห่างจากมุมกระดูกคางมายังข้างหน้าประมาณ ๑ นิ้ว เพื่อห้ามเลือดออกจากบริเวณปากและจมูก
๔. จุดเหนือกระดูกไหปลาร้า โดยกดลงกับกระดูกซี่โครงซี่ที่ ๑ เพื่อห้ามเลือดออกบริเวณแขนข้างนั้น
๕. จุดบริเวณต้นแขนด้านชิดกับลำตัว อยู่ประมาณกึ่งหนึ่งระหว่างหัวไหล่กับข้อศอก เพื่อห้ามเลือดออกบริเวณแขนส่วนล่างลงมา
๖. จุดสองข้างบริเวณด้านในของข้อมือ เพื่อห้ามเลือดบริเวณมือข้างนั้น
๗. จุดบริเวณขา ใช้กดลงไปตรงกึ่งกลางของขาหนีบ เพื่อห้ามเลือดบริเวณขาข้างนั้น
(ค) การขันชะเนาะ เป็นการห้ามเลือดอีกวิธีหนึ่งโดยใช้ผ้า เชือกหรือสายยาง รัดไม่ให้เลือดจากเส้นเลือดแดงไหลลงสู่อวัยวะส่วนนั้น เราใช้วิธีนี้ในบาดแผลที่มีเลือดออกอย่างรุนแรงตามแขนและขา ใช้ขันชะเนาะได้เฉพาะท่อนแขนหรือ
ท่อนขาส่วนบนเท่านั้น เพราะกระดูกส่วนนั้นเป็นท่อนเดียว เมื่อรัดเชือกให้แน่นแล้ว เส้นเลือดแดงก็จะแฟบติดกับท่อนกระดูก หากรัดบนกระดูกสองท่อนเรียงกันโดยมีเส้นเลือดแดงผ่านกลาง การรัดไม่ได้ผล เราใช้วิธีขันชะเนาะต่อเมื่อห้ามเลือดด้วยวิธีห้ามเลือดสองวิธีดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ผล ตำแหน่งที่รัด คือ
๑. ท่อนแขนส่วนบนประมาณหนึ่งฝ่ามือลงมาจากรักแร้ เพื่อห้ามเลือดออกจากมือและแขน
๒. ท่อนขาส่วนบนประมาณหนึ่งฝ่ามือลงมาจากขาหนีบ เพื่อห้ามเลือดจากขาและเท้า
วิธีขันชะเนาะ
๑. ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าอื่นๆ พับเป็นเบาะสี่เหลี่ยมวางบนเส้นเลือดแดงบริเวณแขนหรือขา จุดที่คลำชีพจรพบ
๒. ใช้ผ้าหรือเชือกพันรอบแขนหรือรอบขาบนเบาะข้างต้นสักสองรอบ ผูกเงื่อน ๑ ครั้ง และสอดท่อนไม้ แท่งดินสอหรือไม้บรรทัดไว้ตรงกลาง ก่อนผูกเงื่อนตายอีกทบหนึ่ง
๓. หมุนท่อนไม้ไปรอบๆ เงื่อนที่ผูกไว้หลายๆ รอบ เป็นการขันชะเนาะ ขันจนเลือดที่ไหลออกจากบาดแผลหยุดก็พอ ผูกอีกปลายหนึ่งของท่อนไม้ข้ากับท่อนแขนหรือท่อนขาเพื่อมิให้เกลียวคลาย
๔. ควรคลายเกลียวขันชะเนาะทุกๆ ๑๐ นาที โดยให้พักครึ่งถึงหนึ่งนาที เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงแขนหรือขาส่วนนั้นได้ระหว่างที่คลายเกลียว ถ้าไม่มีเลือดออกจากบาดแผล ให้หยุดการห้ามเลือดได้ แต่ถ้ามีเลือดออกมามาก ให้ใช้ผ้ากดห้ามเลือดบนบาดแผลไว้ชั่วคราว เมื่อครบเวลา จึงขันชะเนาะใหม่ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลหรือพบแพทย์
๕. เมื่อส่งแพทย์ควรแจ้งให้ผู้ช่วยเหลือคนต่อไปทราบบริเวณและเวลาที่เริ่มขันชะเนาะไว้ เพราะบางครั้งคลุมผ้าปกปิดไว้จนลืมทำให้แขนขาส่วนนั้นขาดเลือดจนเน่าได้