นับตั้งแต่มีการจัดการศึกษาพิเศษเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มเปิดสอนเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการเห็นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นต้นมานั้น การจัดการศึกษาพิเศษส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ เป็นการจัดในโรงเรียนพิเศษแยกจากการจัดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนปกติทั่วไป แต่การจัดการศึกษาพิเศษมิได้มีอยู่เพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก
หลายรูปแบบที่ได้มีการจัดให้กับเยาวชนผู้พิการเพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของเยาวชนผู้พิการที่มีความแตกต่างไปจากเยาวชนปกติและหากมีความแตกต่างมากก็จะต้องการความช่วยเหลือที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากขึ้น อาจแบ่งรูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาพิเศษออกได้ ๙ รูปแบบดังนี้
รูปแบบที่ ๑ ชั้นเรียนปกติเต็มวัน
นักเรียนพิการเข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนกับเด็กปกติตลอดวัน ครูปกติมีความเข้าใจและรู้ถึงความต้องการจำเป็นพิเศษของเด็กและมีทักษะที่จะสนองตอบความต้องการเหล่านั้นของเด็กพิเศษด้วยตนเอง คือสามารถใช้สื่ออุปกรณ์และเทคนิคการสอนพิเศษที่เหมาะสมกับเด็ก ในรูปแบบนี้ทั้งครูปกติและเด็กพิการไม่จำเป็นต้องได้รับบริการโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เพียงแต่ครูพิเศษจัดหาสื่ออุปกรณ์ให้เท่านั้น
รูปแบบที่ ๒ ชั้นเรียนปกติกับการให้คำแนะนำปรึกษา
นักเรียนพิการเข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนกับเด็กปกติตลอดวัน และนอกเหนือจากสื่ออุปกรณ์และเทคนิคพิเศษแล้ว ครูปกติอาจจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำปรึกษาจากครูการศึกษาพิเศษหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เช่น นักจิตวิทยาโรงเรียนครูการศึกษาพิเศษอาจให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ชี้แนะครูปกติให้ไปหาแหล่งทรัพยากรอื่นๆ สาธิตการใช้สื่อเครื่องมือหรือเทคนิคพิเศษ
รูปแบบที่ ๓ ชั้นเรียนปกติกับบริการครูเดินสอน
นักเรียนพิการเข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนกับเด็กปกติ ครูการศึกษาพิเศษจะให้บริการในลักษณะไปหาเด็กพิการหรือครูปกติที่โรงเรียนต่างๆ ตามกำหนดในตารางเวลา เพื่อช่วยสอนเด็กพิการเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ และจัดหาสื่อและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสอนให้แก่ครูปกติรวมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาแก่ครูปกติเกี่ยวกับปัญหาพิเศษที่เด็กพิการมี
รูปแบบที่ ๔ ชั้นเรียนปกติกับบริการครูสอนเสริม
นักเรียนพิการเข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนกับเด็กปกติ ครูการศึกษาพิเศษจะให้บริการแก่เด็กและครูประจำที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งระยะเวลาและความถี่ของการให้บริการจะถูกกำหนดโดยความรุนแรงของปัญหาที่เด็กมี ครูสอนเสริมจะตรวจสอบความต้องการจำเป็นของเด็กเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มเล็กในห้องพิเศษที่มีสื่อและอุปกรณ์พิเศษโดยทั่วไป ครูสอนเสริมจะเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ครูปกติในเรื่องการสอนและการจัดการกับเด็กนักเรียนในห้องเรียน และบางครั้งก็สาธิตวิธีการสอนความยืดหยุ่นของรูปแบบนี้กับการที่เด็กยังได้อยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ทำให้รูปแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
รูปแบบที่ ๕ ศูนย์วินิจฉัยและวางแผนแก้ไข
ในรูปแบบนี้ นักเรียนพิการจะเข้ารับบริการเป็นระยะเวลาหนึ่งในชั้นเรียนพิเศษหรือศูนย์ฯเพื่อรับการตรวจสอบความต้องการจำเป็น และจะมีการวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติโดยใช้ข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากการตรวจสอบวินิจฉัย หลังจากที่มีการเขียนแผนแก้ไขทางการศึกษาแล้ว ก็จะมีการเสนอแนะให้ส่งเด็กเข้าเรียน ซึ่งอาจจะส่งเข้าเรียนในโรงเรียนพิเศษเฉพาะ หรือในชั้นเรียนปกติก็ได้
รูปแบบที่ ๖ การสอนในโรงพยาบาลและที่บ้าน
รูปแบบนี้จัดขึ้นเพื่อสอนเด็กที่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเนื่องจากปัญหาทางร่างกายหรือจิตใจ ส่วนใหญ่เด็กร่างกายพิการจะต้องการบริการในรูปแบบนี้ แต่บางครั้งก็มีเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์และพิการอื่นๆ ที่ต้องการรูปแบบนี้หากไม่มีการให้บริการในรูปแบบอื่น โดยปกติแล้วเด็กมักจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่พักฟื้นที่บ้านเป็นระยะเวลาไม่นานมากนัก ครูพิเศษที่สอนในโรงพยาบาลหรือตามบ้านก็จะต้องติดต่อประสานงานกับครูปกติของเด็กอย่างสม่ำเสมอ
รูปแบบที่ ๗ ชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ
นักเรียนพิการจะเรียนอยู่ในชั้นเรียนที่มีเด็กพิการประเภทเดียวกันประมาณ ๑๕ คนหรือน้อยกว่า โดยมีครูการศึกษาพิเศษเป็นผู้ทำการสอนเองเพียงคนเดียว หรือเกือบทั้งหมดตามปกติแล้วเด็กพิการที่อยู่ในชั้นเรียนพิเศษนี้จะถูกแยกจากเพื่อนปกติทั้งวัน ยกเว้นบางครั้งเด็กพิการอาจเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในวิชาพลศึกษา ดนตรี หรือกิจกรรมอื่นบางอย่างที่เขาสามารถร่วมได้
รูปแบบที่ ๘ โรงเรียนพิเศษไปกลับ
เป็นรูปแบบที่จัดประสบการณ์ทางการเรียนการสอนให้กับเด็กพิการแยกออกจากเด็กปกติ โดยทั่วไปจะจัดให้เด็กพิการแต่ละประเภทมาเรียนร่วมกันในหนึ่งโรงเรียน เช่น เด็กตาบอด หูหนวก ร่างกายพิการ มีปัญหาทางอารมณ์เป็นต้น โดยมีเครื่องมือพิเศษที่จำเป็นต้องใช้ในการให้การดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กพิการเหล่านั้น เด็กพิการเป็นนักเรียนไปกลับ
รูปแบบที่ ๙ โรงเรียนพิเศษประจำ
เป็นสถานที่ที่เด็กพิการได้รับการดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยทั่วไปโรงเรียนจะอยู่ห่างจากบ้านเด็ก เด็กอาจกลับไปเยี่ยมบ้านเป็นระยะๆหรือกลับบ้านทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่โรงเรียนพิเศษประจำนี้เด็กจะได้รับทั้งการศึกษาและการฝึกหัดให้ทำกิจวัตรประจำไปด้วย
ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนผู้พิการตั้งแต่รูปแบบที่ ๑ จนถึงรูปแบบที่ ๙ และมีแนวโน้มที่จะจัดให้เด็กพิการได้เรียนร่วมกับเด็กปกติมากยิ่งขึ้น ได้มีหน่วยงานที่ให้บริการทางการศึกษาสำหรับเด็กพิการ อายุ ๐-๗ ปี เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็ก รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับเด็กพิการก่อนเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและประถมศึกษาร่วมกับเด็กปกติ เช่น ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มเด็กตาบอดและครอบครัวของวิทยาลัยครูสวนดุสิต โครงการกระตุ้นเด็กปัญญาอ่อนของโรงพยาบาลราชานุกูล โครงการกระตุ้นเด็กหูหนวกทางไปรษณีย์ของมูลนิธิช่วยคนหูหนวกฯ เป็นต้น
รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ
รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ หมายถึง, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ คือ, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ ความหมาย, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ คืออะไร
รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ หมายถึง, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ คือ, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ ความหมาย, รูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนผู้พิการ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!