ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรได้เอื้ออำนวยประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ในการนำเอาข้อมูลไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งพอยกตัวอย่างได้ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นอาทิ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยได้มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรในสาขาต่างๆ ดังนี้
ด้านป่าไม้
กรมป่าไม้ได้นำข้อมูลจากดาวเทียม ไปใช้ศึกษาพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศ และติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร การสำรวจหาพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และป่าเสื่อมโทรมทั่วทั้งประเทศ การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมศึกษาหาบริเวณพื้นที่ที่สมควรจะทำการปลูกสร้างสวนป่าทดแทนบริเวณป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถางทั่วประเทศ การศึกษาหาสภาพการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ทุกระยะ ๓ ปี นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมกันในระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น การร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และองค์การต่างประเทศ ทำการศึกษาและวิจัยงานด้านป่าไม้โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมอาจใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วยหรือทำการวิเคราะห์ด้วยสายตา หรือทั้งสองวิธีรวมกัน
ด้านการใช้ที่ดิน
ด้วยเหตุที่การใช้ที่ดินในประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดลักษณะการใช้ที่ดินว่าจะเป็นไปในลักษณะใด เช่น การทำเกษตรกรรม การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน หรือการสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลจากดาวเทียมจึงถูกนำมาใช้โดยกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน ตลอดจนการจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตการใช้ที่ดินแต่ละประเภท การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ดำเนินกรรมวิธีการวิเคราะห์ทั้งสองแบบ คือการแปลด้วยสายตา และการใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ทำให้ได้ผลที่ดีและเป็นที่เชื่อถือได้ โครงการทางด้านการใช้ที่ดินที่ได้ทำไปแล้วมีหลายโครงการ ทำการศึกษาโดยหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม การประเมินการชะล้างพังทลายของดินบริเวณบางส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมSPOT และ LANDSAT เป็นต้น
ด้านการเกษตร
การใช้ข้อมูลดาวเทียมด้านการเกษตรส่วนใหญ่ใช้ศึกษาพื้นที่เพาะปลูก ความชื้นในดินการเปลี่ยนแปลงบริเวณเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจการประเมินความเสียหายจากศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์และมีความต่อเนื่องประกอบด้วย ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ คือ ดาวเทียม LANDSAT ระบบ TM ดาวเทียม SPOT และ MOS-๑ ที่ให้ข้อมูลรายละเอียดสูง จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมยิ่งขึ้น และเนื่องจากมีการถ่ายภาพซ้ำที่เดิมทุกๆ ๑๘ วันของดาวเทียม LANDSAT และทุกๆ ๑๖ วันของดาวเทียม SPOT ทำให้สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของภาพบริเวณเดียวกัน ซึ่งถ่ายภาพต่างวันและต่างฤดูกันได้
กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้นำข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น การใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นาข้าวภาคกลาง ศึกษาหาผลิตผลของข้าวการสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไทยการศึกษาความเป็นไปได้ของการประมาณพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันในบริเวณภาคใต้และการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพของการเกษตรโดยการแปลภาพจากดาวเทียม SPOT ด้วยสายตา
การศึกษาในด้านอุทกวิทยา อาจรวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับ "อุทกภาค" ซึ่งหมายถึงน้ำทั้งบนบก ในทะเล น้ำบนดินและใต้ผิวดิน ซึ่งรวมไปถึงแหล่งที่มา ปริมาณการไหลเวียนคุณภาพ และมลภาวะ เป็นต้น โดยเฉพาะแหล่งน้ำบนดิน ภาพถ่ายจากดาวเทียม จะสามารถมองเห็นแหล่งที่ตั้ง รูปร่าง และขนาด ได้เป็นอย่างดี ถ้าหากขนาดที่ปรากฏอยู่บนภาพดาวเทียมไม่เล็กจนเกินไป เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติในการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตั้งแต่ความยาวคลื่นประมาณ ๐.๗ ไมครอน ขึ้นไปได้เกือบหมดดังนั้นภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (๐.๗-๑.๐ ไมครอน) จะแสดงขอบเขตบริเวณที่เป็นน้ำบนผิวดินได้เด่นชัด และนำมาศึกษาขอบเขตน้ำผิวดินได้ดีกว่าช่วงคลื่นอื่นๆ
กรมชลประทาน
ได้มีการนำเอาข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ในการวิจัยเรื่องการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เพื่อการชลประทานบริเวณพื้นที่ชลประทานของโครงการเกษตรชลประทานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามประเมินผลการส่งน้ำบริเวณโครงการฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาวางแผนด้านการจัดสรรน้ำ และการปรับปรุงระบบชลประทานที่ใช้งานอยู่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ได้วิจัยเรื่องการใช้ภาพดาวเทียมศึกษาการใช้น้ำและการบำรุงรักษาเขื่อน อ่างเก็บน้ำเพื่อหาทางนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้เป็นประโยชน์ในงานด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
ได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT ในการศึกษาน้ำผิวดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อจุดประสงค์ในการนับจำนวนอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำของแต่ละอ่าง เพื่อใช้ในการวางแผนการบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งการวางแผนการจัดหาน้ำให้เพียงพอแก่ความต้องการตลอดทุกฤดูกาล