การเคลื่อนของเลือดติดต่อกันเป็นวงจน เกิดขึ้นได้โดยการหดตัวของหัวใจ เลือดออกจากหัวใจโดยทางหลอดเลือดแดง (artery) และกลับเข้าสู่หัวใจโดยทางหลอดเลือดดำ (vein) หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำติดต่อกันโดยหลอดเลือดฝอยเล็กๆ และบาง ประสานกันเป็นร่างแห ดังนั้นเลือดที่ออกจากหัวใจ จึงมีหน้าที่นำสารบางอย่าง เช่น ออกซิเจน และอาหารที่ย่อยแล้วไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย สำหรับการเจริญเติบโต และให้ทำงานได้ตามปกติ และนำของเสียจากการเผาผลาญ (waste product)ไปสู่ปอดและไตเพื่อขับออกจากร่างกาย บทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของระบบเลือดไหลเวียน ก็คือ ช่วยในการต่อสู้เชื้อโรค และการซ่อมแซมเมื่อได้รับอันตราย และยังนำฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งที่หลั่งจากต่อมไร้ท่อไปทั่วร่างกาย
เมื่อหัวใจหดตัว ก็จะบีบไล่เลือดไปสู่เอออร์ตา และหลอดเลือดแดงแขนงใหญ่ๆ ทันที หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ จึงมีเส้นใยยืดหยุ่นมากในผนัง และยืดออกได้เมื่อหัวใจหดตัวทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่มีต่อหลอดเลือดขนาดเล็กกว่าอันเนื่องจากความดันของเลือดที่ออกมาอย่างแรง
เพื่อที่จะควบคุมการส่งเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ หลอดเลือดขนาดกลาง จึงมีกล้ามเนื้อเรียบมากขึ้น หลอดเลือดขนาดเล็กจะกลับมีกล้ามเนื้อเรียบน้อยลง
หลอดเลือดฝอย มีขนาดเล็กมากขนาด ๘-๑๐ ไมครอน ไม่มีกล้ามเนื้อเลย มีแต่เยื่อบุผนังเท่านั้น สำหรับการแลกเปลี่ยนออกซิเจน และ คาร์บอนไดออกไซด์ อาหารและของเสียซึมผ่านผนังได้โดยสะดวกและรวดเร็ว