ธนาคารพาณิชย์ ได้เข้ามามีบทบาทในการให้สินเชื่อทางการเกษตร มาเป็นเวลานานแล้วดังเช่นจากสถิติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ปรากฏว่า สหกรณ์ที่ได้จัดตั้งขึ้นทั้งสิ้น ๖๐ สมาคม ได้ขอกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์มาเป็นทุนดำเนินงานทั้งสิ้น ๓๐๓,๖๖๘.๗๗ บาท* ต่อมาได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ สหกรณ์จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์อีก
ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ธนาคารพาณิชย์ได้เข้ามามีบทบาทในการอำนวยสินเชื่อการเกษตรใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้มีวิธีการแตกต่างไปจากครั้งก่อน คือ เป็นการให้สินเชื่อแผนใหม่ชนิดมีการให้คำแนะนำและกำกับดูแล ซึ่งวิธีการให้สินเชื่อแบบใหม่นี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นผู้เริ่มต้นขึ้น และในขณะนั้นเป็นธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียวที่ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรด้วยวิธีนี้จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้มีแผนงานธุรกิจเศรษฐกิจชนบทขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดพัฒนาอาชีพของเกษตรกรด้วยการชักนำเกษตรกรให้รวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่ม เพื่อเป็นศูนย์อำนวนการทั้งด้านวิชาการ ด้านสินเชื่อ และด้านธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นหนักในด้านสินเชื่อการเกษตร ทาง รพช. จึงได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ให้ช่วยอำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกรที่อยู่ในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การดำเนินงานปรากฏว่าไม่บรรลุผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเกษตรกรมีหนี้ค้างชำระอยู่มากโดยเฉพาะในระยะหลังๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์จึงลดการให้สินเชื่อลงและจะไม่ยอมให้เพิ่มอีกจนกว่าจะได้มีการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้หมดเสียก่อน
การให้สินเชื่อการเกษตรของธนาคารพาณิชย์นั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความต้องการสินเชื่อของเกษตรกรทั่วประเทศแล้ว ปรากฏว่าสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้แก่เกษตรกรโดยตรงนั้น สนองความต้องการของเกษตรกรได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในทำนองเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปริมาณสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ภาคเกษตรกรรมกับสินเชื่อที่ให้แก่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งหมด ก็ปรากฏว่าเป็นจำนวนเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นเอง (พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๗) ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก และไม่สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรากฐานมาจากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาการเป็นหนี้สิน และความยากจนของเกษตรกร อันเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาการเกษตร ทั้งนี้เพราะการขาดแคลนสินเชื่อจากสถาบันการเงินทำให้เกษตรกรต้องหันไปพึ่งผู้ให้กู้เอกชน ซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก และพยายามหาทางเอาเปรียบเกษตรกรอยู่ตลอดเวลา
*ประดิษฐ์ มัชฌิมา "บทบาทของการเกษตรและสหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชนบทไทย"
จากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาดังกล่าว ได้มีส่วนช่วยให้ปริมาณสินเชื่อการเกษตรจากสถาบันการเงินในระบบเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มจากก่อนมีนโยบายดังกล่าวคือจาก ๘๓๓.๐ ล้านบาทใน พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็น ๗๘,๔๓๙.๔ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ (รวมส่วนที่ฝาก ธกส. ด้วย) อย่างไรก็ตาม สินเชื่อการเกษตรในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ธนาคารพาณิชย์ทำได้เกินเป้าหมายที่กำหนดเฉพาะในส่วนของการปล่อยกู้แก่ธุรกิจการเกษตรเท่านั้น แต่ในส่วนที่ปล่อยกู้แก่เกษตรกรโดยตรงยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาตลอด ทำให้วงเงินส่วนที่ปล่อยกู้ไม่ได้ตามเป้าและต้องนำไปฝากที่ ธกส. ทำให้ ธกส. มียอดเงินฝากสูงขึ้นตลอด ซึ่งในระยะหลัง ธกส. ไม่ยินดีที่จะรับเงินในส่วนนี้ เนื่องจากมีนโยบายที่จะแสวงหาเงินทุนจากแหล่งที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและจะพยายามระดมเงินฝากจากประชาชนเอง ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ปรับนโยบายสินเชื่อการเกษตรใหม่เป็นสินเชื่อสู่ชนบท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้การอำนวยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีคุณภาพและนำไปปฏิบัติได้ และให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจชนบท รวมทั้งเพื่อหาทางเปิดกว้างข้อจำกัดของสินเชื่อการเกษตรที่เหลือปล่อยกู้ไม่ออก และ ธกส. รับฝากต่อไปไม่ไหว โดยบังคับให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการให้สินเชื่อแก่ภาคเกษตรกรรมจากร้อยละ ๑๓ ของยอดเงินฝากคงค้างในปีก่อนหน้านั้น (โดยร้อยละ ๑๑ ให้กับเกษตรกรโดยตรง ที่เหลือร้อยละ ๒ให้กับธุรกิจการเกษตร) เป็นร้อยละ ๒๐ ของยอดเงินฝากคงค้างในปีก่อนหน้านั้น (ร้อยละ ๑๔ ให้กับเกษตรกรโดยตรงและอุตสาหกรรมขนาดย่อมในชนบท ที่เหลือร้อยละ ๖ ให้กับธุรกิจการเกษตร) ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปล่อยสินเชื่อสู่ชนบทใน พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นจำนวน ๑๒๑,๕๔๕.๐ ล้านบาท แยกเป็นส่วนสำหรับเกษตรกรโดยตรงและอุตสาหกรรมขนาดย่อมในส่วนภูมิภาค ๘๕,๐๘๑.๕ ล้านบาท และเป็นส่วนสำหรับธุรกิจการเกษตร (รวมโรงสีข้าว) ๓๖,๔๕๓.๕ ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยส่วนใหญ่เพื่อแก้ปัญหาราคาพืชไร่ตกต่ำโดยเฉพาะข้าว และเป็นการแก้ปัญหาเป็นปีๆ ไป ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ ๕,๐๐๐ ล้านบาทสำหรับการเพิ่มการรับซื้อข้าว และ ๓,๐๐๐ ล้านบาทสำหรับการเพิ่มการรับซื้อข้าวโพด ปอ และปาล์มน้ำมัน ในด้านข้าวธนาคารแห่งประเทศไทยจะคิดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ ๑ ต่อปี และให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ร้อยละ ๓ ต่อปี ซึ่งเดิมคิดร้อยละ ๕ ต่อปี และให้เพิ่มวงเงินปล่อยกู้จากร้อยละ ๖๐ ของมูลค่าข้าวที่รับซื้อไว้ เป็นร้อยละ๘๐ สำหรับพืชไร่ ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปี และให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ร้อยละ ๕ ต่อปี และเพิ่มวงเงินปล่อยกู้ในสัดส่วนเช่นเดียวกับข้าว