
เมื่อได้ทำการขุดหลุม และได้ตอกเข็มไม้ หรือเข็มคอนกรีตตามขนาด ความยาว และจำนวนที่ต้องการแล้ว ช่างจะตั้งเสาไม้ และติดตั้งคาน และตง ทั้งชั้นล่างและชั้นบน ต่อจากนั้นก็ติดตั้งขื่อหลังคา แล้วจึงวางโครงหลังคา เริ่มมุงหลังคาโดยใช้กระเบื้องลอน หรือแผ่นสังกะสี หรือแผ่นอะลูมินัมลอน เมื่อมุงหลังคาเสร็จแล้ว จึงจะเริ่มติดตั้งบันไดชั้นล่างขึ้นชั้นบน ปูพื้นไม้ ติดตั้งเคร่าฝา วงกบประตูหน้าต่าง แล้วตีฝาไม้ตามนอนหรืออาจจะตีฝาตามตั้งก็ได้ ไม้กระดานฝามักใช้ไม้ยางขนาด ๑๒นิ้ว x ๖ นิ้ว เมื่อบ้านเสร็จแล้วจึงเริ่มทาสี โดยใช้สีน้ำมันทา ใช้สีรองพื้นชั้นหนึ่งก่อน สีรองพื้นนี้ใช้อุดตามรูและแผลในเนื้อไม้เสร็จแล้ว จึงใช้สีน้ำมันทาทับอีก ๒ ครั้ง บ้านไม้บางหลังไม่ใช้สีน้ำมันทา แต่ใช้น้ำมันกันตัวสัตว์ทาก็มี
การทำพื้นไม้
ไม้กระดานพื้นนิยมปูตามความยาวของเรือน การวางพื้นคาน และตงมักนิยมวางตามภาพ
การทำบันไดไม้
บันไดไม้มีบันไดพุก และบันไดเจาะ ความกว้างของขั้นบันไดไม่ควรจะน้อยกว่า ๑.๐๐ เมตร ไม้ทำขั้นบันไดควรใช้ไม้หนา ๑ ๑๒ นิ้ว ขึ้นไป ความสูงและความกว้างของขั้นบันไดควรจะได้มาตรฐานเพื่อจะได้ขึ้นลงได้สะดวกสบาย
การทำหลังคา
หลังคามีรูปทรงแบบต่างๆ หลายแบบ ซึ่งอาจจะสรุปได้ดังนี้ คือ
๑) หลังคาทรงปั้นหยา
๒) หลังคารูปจั่ว
๓) หลังคารูปเพิง
๔) หลังคารูปโดม
ไม้หลังคานิยมใช้ไม้เต็งรัง หรือไม้เนื้อแข็ง ระแนงควรใช้ไม้สักเพื่อกันการบิดตัว ไม้ทุกชิ้นควรได้รับการทาด้วยน้ำมันดิน (น้ำมันโซลิกนัม) ทั้งนี้เพื่อป้องกันปลวก มอด ที่จะเข้ากัดกินเนื้อไม้ ระยะห่างของไม้ระแนงหรือไม้แปขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้อง ไม้หลังคาที่ต่อกันนั้น จะต้องต่อเฉพาะตอนที่มีไม้รองรับ จันทันก็ต้องต่อกันตรงที่รองรับจันทัน หลังคาต้องมีช่องลมสำหรับระบายความร้อน ซึ่งจะช่วยทำให้ห้องชั้นบนไม่ร้อนจนเกินไปเมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด
การทำเพดาน
โดยทั่วไปนิยมใช้กระเบื้องกระดาษหนาประมาณ ๔ มิลลิเมตร หรือ ๖ มิลลิเมตร ทำฝ้าเพดาน ส่วนกระทงฝ้า มักใช้ไม้ยางหรือไม้เนื้อแข็งขนาด ๑ ๑๒ นิ้ว x ๓ นิ้ว วางห่างกันประมาณระยะ ๖๐ เซนติเมตร เพื่อใช้รับกระเบื้องกระดาษ บางครั้งก็ใช้ไม้กระดานฝาขนาด ๖ นิ้ว x ๑๒ นิ้ว ตีทำฝ้าเพดาน