เมื่อข้อมูลเข้ามามีบทบาทในการทำงานขององค์กรมากขึ้น จึงมีความจำเป็นในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ในหลายๆ ทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อองค์กรใหญ่องค์กรหนึ่งๆ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายๆ แผนกแต่ละแผนกเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผนกของตนซึ่งอาจใช้ระบบจัดการฐานข้อมูลแตกต่างกันไปโครงสร้างของข้อมูลก็อาจแตกต่างกัน หรือแม้ กระทั่งใช้ชื่อเดียวกัน แต่หมายถึงของคนละอย่างหรือของอย่างเดียวกัน แต่ใช้ชื่อเรียกต่างกันในแต่ละแผนก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การนำข้อมูลของบริษัทมาใช้โดยรวมต้องมีการจัดสร้างคลังข้อมูล (Data Warehousing) ขึ้นมา เพื่อที่จะทำสำเนา ข้อมูลจากฐานข้อมูลของแต่ละแผนก และมีการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมและถูกต้องมาใช้พัฒนาสร้างฐานข้อมูลของส่วนกลางขึ้นซึ่งคลังข้อมูลนี้จะมีการปรับปรุงตามฐานข้อมูลย่อยของแต่ละแผนกแต่อาจไม่จำเป็นที่จะต้องปรับทันทีทันใดที่ข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลง อาจจะแก้ไขข้อมูลทุกๆ คืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีการใช้งานฐานข้อมูล โดยคลังข้อมูลนี้ส่งผลให้ข้อมูลโดยรวมของบริษัท มีโครงสร้างเดียวกัน ทำให้นำมาใช้ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือประเมินผลงานของแต่ละแผนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การวางแผนและวิเคราะห์งานดีขึ้นอีกด้วย
ส่วนเหมืองข้อมูล (Data Mining) เป็นวิธีการค้นหารูปแบบหรือโครงสร้างของข้อมูล ที่ผู้ใช้ไม่สามารถเห็น หรือเข้าใจได้ในทันทีจากข้อมูลที่มีอยู่ หรือกล่าวได้ว่า เป็นเทคนิคเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ในข้อมูลที่ผู้ใช้ไม่ทราบมาก่อน เช่น การค้นหารายชื่อกลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้าประเภทเดียวกัน จากฐานข้อมูลลูกค้าและการสั่งซื้อของเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานข้อมูลกลุ่มนั้นๆ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในเหมืองข้อมูลมีมากมาย เช่น ระบบฐานข้อมูลการรู้จำรูปแบบข้อมูล โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) ฟัซซีลอจิก (Fuzz Logic) ขั้นตอนวิธีทางยีน (Genetic Algorithms) เป็นต้น