แบบจำลองข้อมูลนี้ถูกเสนอขึ้นโดยกลุ่มโคดาซิล (CODASYL Database Task Group) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ บางคนจึงเรียกแบบจำลองนี้ว่า ดีบีทีจี (DBTG Mode) โครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ระเบียน (Record) และ เซต (Sets) โดยที่ระเบียนสำหรับ แบบจำลองนี้คือ ที่เก็บรวบรวมข้อมูล ระเบียนแต่ละอันจะประกอบด้วยกลุ่มของค่าต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน มีลักษณะเหมือนกับระเบียนของแบบจำลองข้อมูลเชิงลำดับชั้น ส่วนเซตคือความสัมพันธ์แบบ ๑ ต่อมาก (1:N relationship) ระหว่าง ๒ ระเบียนใดๆ เซตหนึ่งจะประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ ๑. ชื่อของเซต ๒. ชนิดของระเบียนที่เป็นเจ้าของ (Owner of set type)และ ๓. ชนิดของระเบียนที่เป็นสมาชิกของเซต (Member of set type)
ตัวอย่างแสดงระเบียนและเซต ซึ่งมี ๒ ระเบียน ได้แก่ ระเบียนวิชา และระเบียนนักศึกษา ๒ เซต ได้แก่ เซตลงทะเบียนเรียน ซึ่งมีระเบียนวิชาเป็นระเบียนเจ้าของ และมีระเบียนนักศึกษาเป็นระเบียนสมาชิก แสดงความสัมพันธ์ว่า วิชาหนึ่งๆ มีนักศึกษาคนใดลงทะเบียนเรียนบ้าง ข้อสังเกตการกำหนดเซตนี้จะทำให้เกิดข้อจำกัดที่ว่า นักศึกษาแต่ละคนลงทะเบียนเรียนได้คนละ ๑ วิชาเท่านั้น ส่วนเซตผู้ช่วยสอนในวิชานั้น ระเบียนเจ้าของและระเบียนสมาชิกตรงกันข้ามกับเซตแรก แสดงความสัมพันธ์ว่า นักศึกษาคนใดเป็นผู้ช่วยสอนในวิชาใดบ้าง
เซตจะแตกต่างกับความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกในลักษณะที่ว่า ระเบียนที่เป็นเจ้าของและระเบียนสมาชิกในเซตหนึ่งจะสามารถกลับไปเป็นระเบียนสมาชิกและระเบียนเจ้าของในอีกเซตหนึ่งได้ตามลำดับ แต่ระเบียนที่เป็นพ่อและเป็นลูกจะไม่สามารถกลับเป็นลูกและเป็นพ่อตามลำดับได้ในอีกความสัมพันธ์หนึ่ง เซตจึงมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่าในจุดนี้
สำหรับความสัมพันธ์แบบ ๑ ต่อ ๑ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งใด สามารถใช้เซตได้ เพียงแต่เพิ่มข้อบังคับเข้าไปอีกอย่างว่า ระเบียนที่เป็สมาชิกจะมีได้เพียง ๑ ตัวเท่านั้นต่อ ๑ ระเบียนจ้าของ ส่วนความสัมพันธ์แบบมากต่อมากต้องมีการสร้างระเบียนใหม่ขึ้นมาอีก ๑ ระเบียน และสร้างเซตขึ้นมาอีก ๒ เซต โดยให้ระเบียนใหม่เป็นระเบียนสมาชิกของทั้งสองเซต และระเบียนเดิมในความสัมพันธ์แบบมากต่อมากนั้น เป็นระเบียนเจ้าของเซตทั้งสอง ดังแสดงในตัวอย่างการแทนความสัมพันธ์แบบมากต่อมาก