การปลูกพืชโดยหว่านเมล็ดโดยตรงในแปลงปลูก เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดแบบหนึ่งซึ่งมักจะใช้กับการปลูกพืชไร่ และธัญพืชรวมทั้งการปลูกผักเป็นการค้า โดยปกติแล้วการปลูกพืชโดยวิธีนี้เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์มาก การปลูกพืชจำนวนมากๆ จึงมักจะใช้วิธีนี้ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและสะดวก จึงเป็นวิธีที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวไร่ชาวสวนทั่วไป เพราะต้นพืชจะเจริญติดต่อกันไปรวดเดียวโดยไม่ชะงักการเจริญเติบโต
วิธีการโดยทั่วไปก็คือ นำเมล็ดมาหว่านหรือดำลงในแปลงซึ่งเตรียมไว้เป็นพิเศษ การหว่านหรือดำจะหนาหรือบางถี่หรือห่างแล้วแต่เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด ถ้าเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกน้อยก็จะหว่านหรือดำเมล็ดให้หนา และถ้าเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงก็จะหว่านเมล็ดให้บางลง และเมื่อเห็นว่าจะมีต้นพืชขึ้นหนาแน่นเกินไป ก็จะถอนแยกหรือถอนทิ้งออกเสียบ้าง เพื่อมิให้ต้นพืชขึ้นเบียดเสียดแน่นจนเกินไป การปลูกพืชโดยวิธีนี้เหมาะกับพืชที่เมล็ดมีราคาถูก เพราะต้องสิ้นเปลืองเมล็ดมากกว่าการปลูกพืชโดยการเพาะแล้วย้ายปลูกทีหลัง ประกอบกับต้นพืชที่ผลิตได้มักมีราคาจำหน่ายต่ำด้วย จึงต้องหาวิธีขยายพันธุ์ที่ทำได้ง่ายและลงทุนน้อย พืชที่นิยมปลูกโดยวิธีนี้ได้แก่ ละหุ่ง ฝ้าย ป่าน ปอ กระเจี๊ยบ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง คะน้า ผักกาดชนิดต่างๆ ผักบุ้ง ผักชี รวมทั้งไม้ ดอกบางชนิด เช่น บานไม่รู้โรย ดาวกระจาย และแอสเทอร์ เป็นต้น
การเตรียมแปลงปลูกนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการปลูกพืชโดยวิธีนี้ แปลงปลูกที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้
๑. อุ้มน้ำหรือมีความชื้นเพียงพอตลอดระยะเวลาการงอกของเมล็ดรวมทั้งระยะแรกๆ ของการเจริญของกล้าพืช
๒. มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์ดีซึ่งหมายถึง ร่วนโปร่ง และอุ้มน้ำได้ดี ซึ่งจะทำให้เมล็ดได้รับน้ำติดต่อกันโดยไม่ขาดตอน
๓. มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ปัญหาในการเตรียมแปลงปลูกพืชโดยวิธีนี้อยู่ที่ความพอดีระหว่างการถ่ายเทอากาศในดิน (earation) และความชื้นในดิน (moisture) ซึ่งมักจะไม่พอดีกัน คือ ถ้ามีการถ่ายเทอากาศในดินมาก ก็มักจะมีความชื้นในดินน้อยหรือถ้ามีความชื้นในดินมากก็จะมีการถ่ายเทอากาศในดินน้อย เช่นนี้เป็นต้นปัญหานี้จะหมดไปถ้าทำการปลูกพืชในที่ที่เป็นดินปนทราย (medium textured loam) ซึ่งถ้าเป็นดินทราย (light sandy soil) ดินมักจะแห้งเร็ว หรือถ้าเป็นดินเหนียวจัด (heavy clay soil) ก็มักจะมีการถ่ายเทอากาศไม่ดี และการระบายน้ำก็ไม่ดีด้วยนอกจากนี้ดินเหนียวเมื่อแห้งยังทำให้ดินแข็งไม่สะดวกในการพรวนดิน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยหมักในดินประเภทนี้จะเป็นการช่วยแก้ลักษณะไม่ดีดังกล่าวได้มาก และปุ๋ยหมักที่ใส่ลงในดินควรจะให้ในรูปของพืชคลุมหรือในรูปของปุ๋ยคอกก็ได้ และควรจะยืดเวลาให้นานพอสมควร เพื่อให้ปุ๋ยได้มีโอกาสผุเปื่อยเสียก่อน ก่อนที่จะหว่านเมล็ดพืช สำหรับการปลูกพืชเพียงเล็กน้อย เช่น การทำสวนครัวหลังบ้านก็อาจใช้ใบไม้ผุๆ หรือเศษขยะเก่าๆ ในบริเวณบ้านได้ ซึ่งแปลงปลูกที่เตรียมดีแล้วควรจะมีลักษณะดังนี้
๑. แปลงจะต้องมีความชื้นสม่ำเสมอ แต่ไม่เปียกแฉะ
๒. ไถพรวนให้มีความลึก ๖-๑๐ นิ้ว โดยเฉพาะความลึกระดับ ๓-๔ นิ้ว จากหน้าดินจะต้องย่อยให้ละเอียด
๓. แปลงจะต้องแน่นพอสมควร เพื่อมิให้เกิดโพรงอากาศขนาดใหญ่อันจะทำให้แปลงปลูกแห้งเร็วเกินไป เนื่องจากการระเหยและสูญเสียน้ำได้ง่าย
ส่วนวิธีเตรียมแปลงนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับขนาดของแรงงานและชนิดของพืชที่จะปลูก สำหรับการปลูกพืชที่เป็นงานใหญ่ จะต้องใช้เครื่องทุ่นแรงช่วย เช่น จอบ ไถ พรวน เครื่องทำแถว เครื่องปรับระดับแต่ถ้าเป็นงานเล็กๆ อาจมีเพียงจอบฟันและมือพรวนก็เป็นการเพียงพอ หลังจากที่ได้ไถหรือฟันดินแล้ว จึงย่อยหรือคราดหลายๆ ครั้ง และถ้าดินที่เตรียมแห้งเกินไป ก็อาจรดน้ำช่วย ซึ่งจะทำให้ฃการเตรียมแปลงทำได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ดินยังเปียกอยู่ไม่ควรจะเตรียมดิน เพราะจะทำให้ดินแน่น ขาดการถ่ายเทอากาศและน้ำจะระบายได้ยากในภายหลังการที่จะกะว่าดินปลูกแห้งหรือเปียกขนาดไหนจึงจะเตรียมแปลงได้ อาจทำได้ง่ายโดยวิธีกำดินให้แน่นพอตึงมือ แล้วสังเกตลักษณะดินที่กำนั้น ถ้ามีลักษณะเป็นก้อนแสดงว่ายังเปียกเกินไป แต่ถ้าไม่จับเป็นก้อน แสดงว่าเตรียมดินได้
การฆ่าเชื้อโรค และแมลงในดินรวมทั้งเมล็ดวัชพืชก็อาจทำได้ในขณะเตรียมแปลงนี้ แต่ควรจะพิจารณาใช้กับพืชที่มีราคาสูงและคุ้มค่าเท่านั้น
การปลูกพืชโดยวิธีนี้ ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศของแต่ละฃท้องถิ่นเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่มักจะปลูกกันเพียงฤดูเดียว คือ ฤดูฝน แต่สำหรับการปลูกผักอาจทำได้ ๒ ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในแต่ละฤดูก็อาจปลูกพืชได้ ๒-๓ ชนิด โดยเฉพาะพืชอายุสั้นๆ ฉะนั้นแทบจะกล่าวได้ว่า การปลูกผักหว่านโดยวิธีนี้ ชาวสวนมักจะทำติดต่อกันไปเกือบทั้งปี ทั้งนี้เพื่อให้ผลิตผลได้ออกสู่ตลาดเป็นประจำ ปัญหาสำคัญในการปลูกพืชโดยวิธีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การกะปริมาณเมล็ดพืชที่จะหว่านเพื่อให้ได้พืชตามที่ต้องการ ถ้าหว่านบางไปก็จะทำให้ได้ผลิตผลน้อย แต่ถ้าหว่านเมล็ดหนาเกินไป อาจทำให้ขนาดและคุณภาพของพืชด้อยลง ดังนั้น การกะประมาณจำนวนต้นพืชที่ต้องการไว้ล่วงหน้าก็จะสามารถคำนวณอัตราการใช้เมล็ดได้ ถ้าเราทราบเปอร์เซ็นต์ความงอกเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ และจำนวนเมล็ดพืชต่อน้ำหนัก ๑ ปอนด์ หรือ ๑ ออนซ์
สูตรในการคำนวณมีดังนี้
จำนวนเมล็ด (คิดเป็นปอนด์หรือออนซ์ต่อ ๑ หน่วยพื้นที่) = จำนวนต้นพืชที่ต้องการต่อ ๑ หน่วยพื้นที่ x เปอร์เซ็นต์ความงอก x เปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์
จำนวนเมล็ด (ต่อปอนด์หรือออนซ์)
สำหรับอัตราการใช้เมล็ดที่คำนวณตามวิธีนี้เป็นอัตราที่ใช้เมล็ดน้อยที่สุด ดังนั้นการปฏิบัติจริงๆ ในไร่ควรจะคิดเผื่อไว้สำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากศัตรูพืชด้วย และเมื่อต้นพืชมีขนาดโตพอแล้ว ควรจะได้ถอนออกให้เหลือห่างกันตามต้องการ
ส่วนการกลบเมล็ดนั้น ควรจะได้คำนึงถึงขนาดของเมล็ด สภาพของแปลงปลูกและสิ่งแวดล้อมขณะที่ปลูกเป็นสำคัญ ซึ่งถ้ากลบเมล็ดลึก การงอกของเมล็ดอาจไม่ดี เพราะเมล็ดที่งอกไม่สามารถจะดันต้นให้โผล่พ้นผิวดินได้ นอกจากนั้นยังทำให้การถ่ายเทของอากาศในดินไม่ดีพอ แต่ถ้ากลบเมล็ดตื้นเกินไป เมล็ดจะลอยขึ้นมาเหนือผิวดิน ทำให้เมล็ดแห้งได้ง่าย สำหรับดินเบา (light sandy soil) ในฤดูที่ฝนหนักควรจะกลบเมล็ดให้ลึก ส่วนพวกดินหนักควรจะกลบเมล็ดให้ตื้นๆ ตามหลักโดยทั่วไปควรจะกลบให้ลึก ๒-๔ เท่าของความหนาของเมล็ด