เป็นลมหมดสติ (fainting , syncope) หมายถึงอาการหมดสติชั่วคราว ความรุนแรงน้อยกว่าอาการ "ช็อก" มีสาเหตุมาจากเลือดที่ไหลเวียนนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองลดลงเพียงชั่วขณะหนึ่ง อาการเป็นลมหมดสติ เกิดได้ในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มองเห็นเลือด มองเห็นบาดแผล ร่างกายอ่อนเพลีย เช่น ยืนอยู่กับที่นานๆอยู่ในที่ร้อนจัดอากาศถ่ายเทไม่ดี อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น ดีใจ เสียใจ หรือตกใจสุดขีด คนบางคนมีแรงดันเลือดต่ำเป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้เป็นลมได้ง่ายกว่าคนทั่วๆไป
ผู้ป่วยมีความรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด เห็นจุดดำๆ ปรากฏในสายตา ใบหน้าและผิวหนังซีดเซียวลง ริมฝีปากเขียวคล้ำเหงื่อออกเป็นเม็ดโตๆ บนหน้าผาก หายใจตื้นๆ ชีพจรเต้นเร็วและเบา ผู้ป่วยทรงตัวไม่ได้ มักล้มพับลงกับพื้นหรือสิ่งใกล้เคียง
วิธีปฐมพยาบาล
ถ้าผู้ป่วยหน้ามืดวิงเวียน ให้นำผู้ป่วยนอนหงายศีรษะต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย แต่พอรู้สึกตัว ให้นำมานั่งลงกับพื้น ให้ชันเข่าและก้มศีรษะ ให้หายใจเข้าออกลึกๆ หรือให้ดมแอมโมเนียเป็นลมหมดสติเนื่องจากความร้อน
เป็นลมหมดสติเพราะกรำแดดหรืออยู่ในที่มีความร้อนจัดอากาศถ่ายเทไม่ดี ทำให้เกิดอาการได้ ๒ รูปแบบ คือ
๑. อาการเป็นลมหน้าแดง หรือภาษาการแพทย์เรียกว่า "อาการสิ้นสติจากความร้อน หรือแสงแดด" (heatstroke หรือ sunstroke)
๒. อาการเป็นลมหน้าซีด หรือภาษาการแพทย์เรียกว่า "อาการสิ้นแรงจากความร้อน" หรือ "ตะคริวจากความร้อน"(heat exhaustion) หรือ (heat cramps)
เกิดจากผู้ป่วยได้รับความร้อนและเสียเหงื่อจากร่างกายจำนวนมากเป็นเวลานานๆ ทำให้ร่างกายขาดทั้งเกลือแร่และน้ำจากเหงื่อที่สูญไป ปริมาณของเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดต่างๆ ของร่างกายลดลงทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย หมดแรงและเป็นลมสิ้นสติไป ผู้ป่วยประเภทนี้ปลุกให้ตื่นได้ง่าย อุณหภูมิของร่างกาย มักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือบางครั้งต่ำกว่าปกติ เช่น ต่ำถึง ๙๗ องศาฟาเรนไฮต์ ชีพจรอ่อนและเร็ว ใบหน้าและผิวหนังซีดเซียว เย็นและชุ่มเหงื่อ มักเป็นตะคริวของกล้ามเนื้อหน้าท้องและแขนขา
วิธีปฐมพยาบาล
๑. ให้นำผู้ป่วยออกสู่ที่ร่มเย็น แต่อย่าให้ลมโกรกเพราะอาจหนาวสั่น คลายเครื่องแต่งตัวให้หลวม ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่นพอควร ให้นอนศีรษะต่ำกว่าลำตัว
๒. ถ้ามีตะคริวของกล้ามเนื้อ ให้ประคบด้วยความร้อนหรือนวดเฟ้นด้วยมือ
๓. เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ควรจำไว้ว่าน้ำเปล่าหนึ่งขวดเหล้ากลมจุประมาณ ๗๕๐ ซี.ซี. และควรเติมเกลือแกงลงไป ครึ่งช้อนชา เพื่อชดเชยเกลือที่เสียไปจากร่างกาย
๔. อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำชาหรือกาแฟอุ่นๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจให้สูบฉีดเลือดดีขึ้น