การเกษตรที่สูงในประเทศไทย
การเกษตรที่สูงในประเทศไทย, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย หมายถึง, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย คือ, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย ความหมาย, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย คืออะไร
ปัญหาการเกษตรของชาวเขา
ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาหรือที่สูงที่เรียกกันว่าชาวเขานั้นมีอาชีพเพาะปลูกพืชไร่บางชนิดและปลูกฝิ่น ชาวเขารู้จักปลูกฝิ่นกันมาเป็นเวลานานแล้วเข้าใจว่ามีการนำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ฝิ่นสามารถขึ้นได้ดีในที่สูงทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับความสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป แต่ก่อนนี้ชาวเขารู้จักเพาะปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพดถั่ว และฝ้าย เป็นต้น พืชดังกล่าวนี้ใช้เป็นอาหาร เลี้ยงสัตว์ และใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม ส่วนฝิ่นนั้นจะปลูกเพื่อบริโภคและขายเป็นเงินไปซื้ออาหารและของที่จำเป็นต่อการครองชีพเพิ่มเติม
การทำการเกษตรของชาวเขาดังกล่าวนี้จะมีลักษณะเป็นการทำไร่เลื่อนลอย คือย้ายที่ไปเรื่อยๆ หลังจากที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์หรือมีวัชพืชเกิดขึ้นมาก ทำให้มีการทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูกกันมากขึ้นทุกปี นอกจากต้นไม้ในป่าจะถูกตัดฟันและเผาทำลายไปโดยไร้ประโยชน์แล้ว ต้นน้ำลำธารก็ถูกกระทบกระเทือนเป็นอันตรายไปด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงปัญหาในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทรงเห็นว่าการที่จะขับไล่หรือเคลื่อนย้ายชาวเขาให้ไปอยู่ในที่ที่กำหนดให้นั้นจะทำได้ยาก แต่ถ้าสามารถช่วยให้ชาวเขามีความรู้ความสามารถทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ชาวเขาตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่ ถาวรได้โดยไม่เคลื่อนย้ายทำไร่เลื่อนลอยดังแต่ก่อนและจะก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมในที่สุด
พระราชดำริในเรื่องนี้ทำให้เกิดโครงการส่วนพระองค์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ มีชื่อว่า "โครงการหลวง" มีวัตถุประสงค์ที่จะหาพืชทดแทนฝิ่นอันเป็นพืชสำคัญของชาวเขา ซึ่งถ้าหากทำได้เป็นผลสำเร็จก็จะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ปัญหาเรื่องต้นน้ำลำธาร และปัญหายาเสพติด เป็นต้น
โครงการหลวงได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานการสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างใกล้ชิด ดังได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในภาคต้น ต้นเหตุคือ "ชาวเขา" และ "ฝิ่น" จึงทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัยทางเกษตรสาขาใหม่ขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ "การเกษตรที่สูง" ลักษณะพิเศษของอากาศบนที่สูงนี้ทำให้สามารถปลูกพืชที่ชอบอากาศหนาวได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ที่เป็นประโยชน์ในด้านป่าไม้ ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ หรือพืชไร่ พืชที่เราไม่เคยปลูกได้มาก่อนก็สามารถปลูกได้เป็นการค้า เช่น แอปเปิล สาลี่ ท้อ พลับ พลัม บ๊วย กาแฟอะราบิกา กีวี ราสป์เบอร์รี มะเดื่อฝรั่งลินิน ไพรีทรัม ถั่วแดงหลวง เห็ดหอม อะเซเลีย แอลสโตรมีเรีย เป็นต้น ส่วนพืชบางชนิดก็สามารถปลูกได้ดียิ่งขึ้นบนที่สูง เช่น สตรอว์เบอร์รี องุ่นข้าวสาลี ผักกาดหอมห่อ เซเลอรี เอ็นไดฟ์ กะหล่ำปลีแดง โกโบ มันฝรั่ง ปวยเหล็ง คาร์เนชัน แกลดิโอลัส กุหลาบ เบญจมาศ เยอร์บีรา สแตติส เป็นต้น
มีพืชหลายชนิดที่สามารถปลูกได้ตลอดปีบนที่สูง เช่น ผักต่างๆ มันฝรั่ง ไม้ดอกและไม้ ประดับ จึงทำให้เกิดอาชีพที่จะปลูก "พืชนอกฤดู" ได้อีกด้วย เช่น ผักและไม้ดอกเมืองหนาวนั้น จะปลูกได้ในพื้นที่ต่ำเฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น ในฤดูที่ไม่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ต่ำฃจึงเหมาะที่จะปลูกบนที่สูงเพราะจะขายได้ราคาดีและไม่มีการแข่งขันมากนัก
พืชบางชนิดจะมีความเหมาะสมในการปลูกบนที่สูงเพื่อทำเป็นเมล็ดพันธุ์หรือหัวพันธุ์ มีพืชผักหลายชนิดที่จะออกดอกติดเมล็ดได้ดีบนที่สูง เมล็ดผักเหล่านี้สามารถใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกในพื้นที่ต่ำได้เป็นอย่างดี ทำให้ลดการสั่งเข้าเมล็ดพันธุ์ผักจากต่างประเทศไปได้มาก นอกจากนี้แล้ว พืชที่ใช้หัวเป็นพันธุ์ปลูก เช่น มันฝรั่งก็สามารถผลิตหัวพันธุ์บนที่สูงได้ เป็นหัวพันธุ์ที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ต่ำในฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูมันฝรั่งของพื้นที่ต่ำทางภาคเหนือจะเห็นได้ว่าการปลูกพืชบนที่สูงนั้น สามารถตั้งวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์ได้เป็น ๔ กรณี คือ
๑. ปลูกพืชเมืองหนาวที่ไม่สามารถปลูกในที่อื่นได้
๒. ปลูกพืชที่ทำให้ได้คุณภาพของผลิตผล และผลประโยชน์ดีขึ้น
๓. ปลูกพืชนอกฤดู
๔. ปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดหรือหัวพันธุ์ในบรรดาพืชต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีพืชเมืองหนาวชนิดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษได้แก่ไม้ผลเขตหนาวชนิดผลัดใบ ไม้ผลชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว จึงมีลักษณะทางสรีรวิทยาผิดแผกไปจากพืชเมืองร้อนอย่างมาก แต่การค้นคว้าวิจัยเป็นเวลานานพอสมควร ทำให้ เราสามารถปลูกไม้ผลเขตหนาวผลัดใบได้หลายชนิดบนที่สูงของประเทศไทย เช่น แอปเปิล สาลี่ ท้อพันธุ์ดี หรือพีช พลัม บ๊วย และพลับ เป็นต้น
ความพยายามที่จะปลูกไม้ผลดังกล่าวนี้เกิดจากความต้องการที่จะลดหรือทดแทนการสั่งเข้าผลไม้ต่างประเทศ และความต้องการที่จะหาพืชยืนต้นที่ทำรายได้ดีทดแทนรายได้จากการปลูกฝิ่นนอกจากนั้นไม้ผลซึ่งเป็นไม้ยืนต้นนี้จะช่วยให้ชาวเขาตั้งหลักแหล่งอยู่กับที่โดยไม่จำเป็นจะต้องเคลื่อนย้ายทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่ของการรักษาต้นน้ำลำธารอีกด้วย ไม้ผลเขตหนาวชนิดผลัดใบจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในฤดูร้อน พอถึงปลายฤดูร้อนตาที่อยู่ตรงซอกของก้านใบจะมีการพักตัว การพักตัวของตานี้จะต้องอาศัยความหนาวเย็นในฤดูหนาวที่เพียงพอมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสรีรวิทยา การพักตัวจึงจะสลายหมดสิ้นไปและเป็นเหตุให้ตานั้นเจริญออกมาได้ ขบวนการนี้เรียกว่า "การแตกตา" อย่างไรก็ตามถ้าตาที่พักตัวไปแล้วไม่ได้รับความหนาวเย็นอย่างพอเพียงนั่นคือฤดูหนาวไม่หนาวพอ ตาจะไม่สามารถแตกออกมาได้ ต้นไม้ก็จะมีการเจริญเติบโตน้อยและในที่สุดก็ต้องตายไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถปลูกไม้ผลเขตหนาวในพื้นที่ต่ำซึ่งมีความหนาวเย็น
ในฤดูหนาวไม่มากนักได้ ไม้ผลเขตหนาวแต่ละชนิดแต่ละพันธุ์จะต้อง การความหนาวเย็นในฤดูหนาวเพื่อทำให้ตาหมดการพักตัวไม่เท่ากัน บางอย่างต้องการมาก บางอย่างต้องการน้อย ความหนาวที่มีผลในการทำให้การพักตัวของตาหมดไปได้นั้นถือกันว่ามีอุณหภูมิต่ำกว่า ๗.๒ องศาเซลเซียส และความต้องการอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ๗.๒ องศาเซลเซียส เพื่อทำลายการพักตัวของตานั้นจะวัดกันเป็นหน่วยชั่วโมง พันธุ์แอปเปิลที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วไปในเมืองหนาวนั้นจะต้องการประมาณ ๘๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ชั่วโมง ในที่สูงของประเทศไทยซึ่งมีอุณหภูมิต่ำในระหว่างฤดูหนาวนั้น ตามความเป็นจริงแล้วก็ยังมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ๗.๒ องศาเซลเซียสเพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางซึ่งเป็นที่หนาวที่สุดแห่งหนึ่ง ก็มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๗.๒ องศาเซลเซียสไม่เกิน ๕๐๐ ชั่วโมงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นจะต้องคัดเลือกพันธุ์ไม้อย่างถูกต้อง คือควรเลือกปลูกเฉพาะพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นน้อยเท่านั้นอย่างไรก็ตาม การที่จะช่วยแก้ไขภาวะของการขาดความหนาวเย็นนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธี วิธีที่ดีที่สุดก็คือการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ส่วนวิธีอื่นๆ สามารถทำได้โดยการโน้มกิ่ง การปลิดใบ การควบคุมการให้น้ำและการใช้สารเคมี เป็นต้น
ในที่สูงของประเทศไทย ไม้ผลเขตหนาวส่วนใหญ่จะเริ่มทิ้งใบในตอนปลายฤดูฝน พอถึงประมาณเดือนพฤศจิกายนก็จะไม่มีใบเหลืออยู่บนต้นเลยมองดูเหมือนต้นไม้ตาย ลักษณะเช่นนี้เป็นนิสัยของไม้ผลเขตหนาวและประเภทผลัดใบ หลังจากนั้นอีกไม่นานเมื่อตาหมดการพักตัวแล้ว ก็จะแตกตาออกมาเป็นดอกและใบไม้ผลเขตหนาวส่วนมากจะมีดอกบานก่อนที่จะเห็นใบได้ชัดเจน จึงทำให้แลดูสะพรั่งไปด้วยสีต่างๆ สวนท้อจะเป็นสีชมพูไปทั่ว สวนสาลี่จะเป็นสีขาวไปหมด และสวนแอปเปิลก็จะเป็นสีชมพูอ่อน สวยงามยิ่งนัก หลังจากดอกบานแล้ว ก็จะเริ่มมีการติดผล แล้วผลก็จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแก่และสุก การติดผลของไม้ผลเขตหนาวนั้นมีเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งคือไม้ผลบางชนิด บางพันธุ์ไม่สามารถติดผลโดยใช้เกสรของพันธุ์เดียวกันได้แต่ต้องอาศัยเกสรจากพันธุ์อื่นมาผสมจึงจะติดผลจึงจำเป็นจะต้องปลูกพันธุ์ที่เหมาะสมไว้ด้วยกันไม้ผลที่มักจะมีปัญหาเรื่องการติดผลนี้ได้แก่ พลับ และแอปเปิล
ไม้ผลเขตหนาวจะมีฤดูกาลของผลสุกไม่เหมือนกัน บ๊วยจะมีผลแก่เก็บได้ประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน ท้อจะเริ่มสุกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก หลังจากนั้นก็จะเป็นพลัม แอปเปิล สาลี่ และพลับ โดยลำดับ ผลไม้บางอย่าง เช่น ท้อพันธุ์ดี นั้น จะสุกเร็วกว่าในประเทศอื่นเนื่องจากประเทศไทยมีอากาศหนาวไม่นานและมีความร้อนในระหว่างที่ผลไม้เจริญเติบโตอย่างเพียงพอ ทำให้มีความเหมาะสมที่จะส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศมาก
การเกษตรที่สูงในประเทศไทย, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย หมายถึง, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย คือ, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย ความหมาย, การเกษตรที่สูงในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!