ในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมและขนส่งที่สำคัญมี ๓ ทาง คือ ทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ทางน้ำเราสามารถเดินทางและขนส่งได้โดยเรือพาย เรือยนต์ หรือเรือเดินสมุทรซึ่งใช้ติดต่อระหว่างประเทศหรือทวีป สำหรับทางบกในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่นอกจากจะเดินทางและขนส่งโดยรถไฟแล้ว ยังสามารถเดินทางและขนส่งโดยรถยนต์ได้อีกด้วยส่วนทางอากาศใช้เครื่องบินเป็นยานพาหนะ
รถไฟเป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งสร้างขึ้นด้วยเหล็กและไม้เป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นคันยาวพ่วงต่อกันเป็นขบวนสั้นบ้าง ยาวบ้าง โดยมีรถจักรเป็นต้นกำลังทำการฉุดลากขบวนรถเหล่านั้นให้วิ่งไปบนรางเหล็กซึ้งวางขนานคู่กันไป โดยปกติคันแรกจะเป็นคันที่มีกำลังเรียกว่า รถจักร เป็นตัวฉุดลากคันอื่นๆ ที่พ่วงอยู่ให้เคลื่อนที่ไป จะมีบ้างที่บางคันมีเครื่องยนต์ในตัวเองและสามารถวิ่งไปได้เองเช่นเดียวกับรถยนต์ เรียกกันว่า รถยนต์รางแต่โดยทั่วไป เครื่องยนต์ที่ใช้ในรถดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์ดีเซล จึงนิยมเรียกรถนี้ว่ารถดีเซลราง
การขนส่งโดยทางรถไฟนับว่าเป็นที่นิยมกันทั่วไป ทั้งนี้เพราะเป็นพาหนะที่สามารถบรรทุกของได้ครั้งละมากๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการขนส่งในระยะทางไกลๆ และมีความปลอดภัยสูงเมื่อเทียบกับการขนส่งทางบกทางอื่น โดยเฉพาะทางถนนได้แก่รถยนต์ เป็นต้น
รถไฟในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นต้นกำเนิด เขาเรียกว่า "Rail-way" ซึ่งแปลว่าทางเหล็ก ก็เพราะเขาได้พิจารณาจากลักษณะของทางที่รถเคลื่อนไปซึ่งทำด้วยเหล็กเส้นยาวๆที่มีความแข็งแรงวางเป็นคู่ขนานกันไป แล้วให้ล้อรถกลิ้งไปบนเหล็กขนานคู่นี้ โดยครั้งแรกใช้ม้าลากจูง แต่การที่คนไทยเรียกว่า "รถไฟ" นั้น ก็โดยพิจารณาจากลักษณะของรถจักรที่ลากจูง ซึ่งในระยะแรกเริ่มเป็นรถจักรที่ใช้กำลังไอน้ำ และไอน้ำจะเกิดได้ต้องใช้ไฟไปต้มน้ำให้เดือดเป็นไอ เราจึงเรียกกันว่า "รถไฟ"
ประโยชน์ของรถไฟที่เห็นเด่นชัดกว่าล้อเลื่อนประเภทอื่นก็คือ สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้สูงและมีความฝืดในการเคลื่อนที่ต่ำ
ในการเดินทางโดยทางรถไฟนั้น ผู้โดยสารจะเห็นทิวทัศน์ที่แปลกตาและสวยงามของแต่ละภูมิภาค ทางรถไฟอาจจะผ่านไปตามทุ่งนา ป่า ภูเขา บางตอนจะวิ่งผ่านไปบนสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำ หรือเหวลึก และบางครั้งจะวิ่งลอดใต้อุโมงค์ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และความตื่นเต้นแก่ผู้โดยสารมากกว่า
การเดินทางโดยรถยนต์ ทั้งนี้เพราะถนนมักจะตัดผ่านแหล่งชุมนุมชนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสมองเห็นทิวทัศน์ตามธรรมชาติสองข้างทางได้น้อยกว่าทางรถไฟ
ในด้านความสะดวกสบาย ภายในตู้โดยสารของรถไฟจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายพร้อมมูลสำหรับผู้โดยสาร เช่น มีพัดลม น้ำดื่ม น้ำใช้ ห้องสุขา ห้องอาบน้ำและรถเสบียง สำหรับขายอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนั้นผู้โดยสารยังสามารถพักผ่อนอิริยาบถได้อย่างเต็มที่ และสามารถนำสัมภาระติดตัวไปได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะในตู้โดยสารของรถไฟมีเนื้อที่กว้างขวางกว่ายานพาหนะชนิดอื่น สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นและอยากพักผ่อนในระหว่างการเดินทางก็อาจเลือกเดินทางโดยขบวนรถด่วนหรือรถเร็วที่มีบริการพิเศษ เช่น เดินทางในรถปรับอากาศที่มีที่นั่งสบาย มีพนักพิงเลื่อนได้ตามความต้องการ สามารถเอนลงนอนได้เมื่อต้องการพักผ่อน สำหรับการเดินทางระยะไกลๆ ผู้โดยสารจะนอนหลับผักผ่อนในเวลากลางคืนได้โดยเดินทางด้วยรถนั่งนอนหรือรถนอน และอาจเลือกบริการพิเศษขึ้นไปอีก เป็นต้นว่า เดินทางในรถนอนที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและแยกห้องเป็นส่วนสัดก็ได้
ในด้านการขนส่งสินค้า ตู้บรรทุกสินค้าของรถไฟสามารถบรรทุกได้ครั้งละมากๆในระยะทางไกลและปลอดภัย ดังนั้นรถไฟจึงเป็นที่นิยมของประชาชนนับตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบัน
นับตั้งแต่ปี ๒๔๓๙ อันเป็นปีที่เริ่มมีกิจการรถไฟเกิดขึ้นในประเทศไทย จนถึงปี๒๕๑๕ นั้น ได้มีการสร้างทางรถไฟเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๓,๘๕๕ กม. (เป็นทางคู่เฉพาะจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีชุมทางบ้านภาชีระยะทาง ๙๐ กม. นอกนั้นเป็นทางเดี่ยวทั้งสิ้น)และทางรถไฟสายแม่กลองมีระยะทาง ๖๕ กม. และมีสถานีกรุงเทพฯ หรือที่เรียกกันว่าสถานีหัวลำโพง เป็นศูนย์กลาง โดยมีทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปสู่ปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
สายเหนือ มีปลายทางที่จังหวัดเชียงใหม่
สายใต้ มีปลายทางที่สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และที่ปาดังเบซาร์จังหวัดสงขลา ซึ่งเชื่อมต่อ
กับการรถไฟมลายา ทำให้สามารถเดินทางต่อกันไปถึงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ได้
สายตะวันออก มีปลายทางที่อรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี และสามารถเชื่อมต่อกับการรถไฟกัมพูชา
สายตะวันออกเฉียงเหนือ มีปลายทางที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนี้ยังมีทางรถไฟสายสั้นๆ ในบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับทางสายใหญ่ คือ จัดบริการเดินรถรับส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าอยู่ระหว่างสถานีธนบุรีทั้งสิ้น ๖๕ กม.
รถไฟ
รถไฟ, รถไฟ หมายถึง, รถไฟ คือ, รถไฟ ความหมาย, รถไฟ คืออะไร
รถไฟ, รถไฟ หมายถึง, รถไฟ คือ, รถไฟ ความหมาย, รถไฟ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!