สาเหตุของปัญหายาเสพติด
สาเหตุของปัญหายาเสพติด, สาเหตุของปัญหายาเสพติด หมายถึง, สาเหตุของปัญหายาเสพติด คือ, สาเหตุของปัญหายาเสพติด ความหมาย, สาเหตุของปัญหายาเสพติด คืออะไร
ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน มีปัจจัยที่เป็นสาเหตุอยู่หลายประการ ซึ่งเกี่ยวโยงประกอบกัน อาจแยกพิจารณาได้เป็น ๓ ด้านคือ ตัวยา บุคคลและการใช้ยา ตลอดจนสภาพแวดล้อม รวมทั้งสังคม หากพิจารณาในแง่บุคคลที่สัมพันธ์กับยาเสพติดแล้วจะเห็นว่า ในสภาพแวดล้อมที่มียาอยู่หรือหายาได้ง่ายนั้น จะมีบุคคลที่มีประสบการณ์การใช้ยาแตกต่างกันได้มาก พอจะจำแนกได้ดังนี้
๑. ผู้ที่ไม่ใช้เลย
บุคคลเหล่านี้สามารถรักษาตนเองได้ ไม่สนใจที่จะไปลองหรือใช้ยา เปรียบได้กับผู้ที่ได้รับเชื้อโรคแล้วไม่เป็นโรค นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดี
๒. ผู้ลองใช้ยา
บุคคลเหลานี้ชอบลอง แต่ใช้ไปครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้งแล้วก็เลิกได้
๓. ผู้ใช้ยาเป็นครั้งคราว
บุคคลเหล่านี้ชอบใช้ยา และมีโอกาสหรือสภาพแวดล้อมชักจูงให้ไปใช้ยาเป็นระยะๆ แต่เว้นระยะห่างจนยังไม่เกิดสภาพติดยา มักจะเป็นการใช้ยาเพื่อเข้าในสังคม หรือหมู่เพื่อนฝูงที่ชอบใช้ด้วยกัน
๔. ผู้ใช้ยาเป็นประจำหรือผู้ที่ติดยา
บุคคลเหล่านี้ใช้ยาเป็นประจำ จนมีสภาพของการติดยา คือ มีอาการร่างกายหรือจิตใจขึ้นกับยาและอาการด้านยา บุคคลประเภทนี้มีบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มที่จะติดยาได้ง่าย หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ขาดภูมิคุ้มกันต่ออาการติดยา
ในหมู่บ้านชาวไทยภูเขา ซึ่งมีการปลูกและซื้อขายฝิ่นนั้น มีผู้ที่ติดฝิ่นอยู่ระหว่างร้อยละ ๖ ถึงร้อยละ ๓๘ โดยมีสาเหตุการใช้แบ่งได้เป็น ๓ ประการ ประการแรกเป็นการใช้ฝิ่นเป็นยารักษาโรคทางกาย เช่น เพื่อระงับอาการเจ็บปวด อาการไข้ อาการท้องเดินและอาการไอ สำหรับโรคที่เป็นในระยะเวลาสั้น ก็ใช้ฝิ่นเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งแล้วก็หยุด เพราะโรคหายไปแล้ว แต่โรคที่เป็นเรื้อรัง เช่น แผลในกระเพาะอาหารวัณโรคของปอด โรคไตเรื้อรังและบาดเจ็บต่างๆ อาการเป็นอยู่นาน และต้องสูบฝิ่นเพื่อรักษาหลายครั้งจนมีผลให้ติดยาและเลิกไม่ได้เป็นเวลาอีก ๒๐-๓๐ ปีต่อมาก็มี ประการที่ ๒ เป็นการใช้ฝิ่นเพื่อให้ได้ฤทธิ์ด้านจิตประสาทในการกดประสาทกลางทำให้เกิดความมึนเมา และระงับความกดดัน หรือความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ นับเป็นการหนีจากปัญหาต่างๆที่ประสบ ซึ่งอาจเป็นปัญหาส่วนบุคคล เช่น การสูญเสียบุตร ภรรยา ผู้เป็นที่รักไป หรือการสูญเสียพืชผล สัตว์เลี้ยง เป็นต้น หรือเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจจากความยากจน และความหมดหวังในชีวิตส่วนประการที่ ๓ เป็นการใช้ฝิ่นเพื่อความรื่นเริง ทั้งที่เป็นการเข้ากลุ่มหรือสังคม และการสูบคนเดียว การใช้ฝิ่นนี้ในประเทศอินเดียมีรายงานว่า ชาวบ้านใช้ละลายน้ำให้เด็กเล็กๆ กิน เพื่อให้นอนและไม่กวนระหว่างพ่อแม่ทำงาน
ในการที่แพทย์ใช้ยาที่เข้าฝิ่น หรือยามอร์ฟีนในการรักษาโรคนั้น หากใช้เป็นระยะสั้นในผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันแล้วหยุดยาในเวลาไม่นาน ก็ไม่เกิดผลเสียให้ติดยาขึ้น แต่ถ้าใช้ซ้ำๆ หลายครั้งในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ก็อาจทำให้ติดยาได้
สำหรับเยาวชนที่หันไปใช้ยาเสพติดนั้น มีสภาพจิตแตกต่างกันได้หลายแบบ ผู้ที่ติดยาบางคนเป็นโรคจิตหรือโรคประสาท และใช้ยาเสพติดเพื่อระงับอาการของโรค บางคนเป็นเด็กเกเรอยู่เดิม ชอบเล่นการพนัน ชอบรังแก หรือแกล้งผู้อื่นและชอบหนีโรงเรียนการติดยาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเด็กเกเรเท่านั้น ผู้ติดยาบางคนมีสภาพจิตปกติ แต่มีบุคลิกภาพอ่อนแอ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ชอบอิงหรือพึ่งผู้อื่น เมื่อคบเพื่อนที่ชักจูงไปใช้ยาก็ไม่มีกำลังใจพอที่จะหักห้ามได้ ยิ่งบางคนที่ขาดความรู้ และมีทัศนคติและค่านิยมที่ผิดไปจากปกติแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดปัญหาติดยาเสพติดได้มาก คนบางคนชอบโลดโผนหรือชอบเสี่ยงอันตราย ยิ่งทราบว่ายาเสพติดเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจมีอันตรายยิ่งอยากลองบางคนมีความพอใจในการที่สามารถกระทำในสิ่งที่ผิดแล้วไม่ถูกจับ หรือเสี่ยงแล้วรอดพ้นได้ บางคนที่มีปมด้อยหรือมีความพอใจที่จะโอ้อวด ก็อาจใช้ยาเสพติดเป็นทางแสดงออกถึงความกล้า การที่เด็กถูกห้ามกระทำในบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ใหญ่ทำได้ เช่น การสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เป็นต้น ก็เป็นเหตุให้เด็กบางคนที่ต้องการแสดงตัวและแสดงความเป็นผู้ใหญ่ หันไปกระทำในสิ่งเหล่านั้นบางคนก็ใช้ยาเสพติดเพื่อประชดผู้ใหญ่ การขาดแนวความคิด ความไม่แน่ใจตนเอง การขาดระเบียบวินัยการขาดความหวังสำหรับอนาคต ตลอดจนการขาดความระลึกชั่วดี ทำให้เยาวชนบางคนหลงทางและไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ และหันไปหายาเสพติด
บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะใช้ หรือติดยาเสพติดหรือไม่ ย่อมขึ้นกับความสามารถทางจิตใจของบุคคลผู้นั้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกัน
สภาวะที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อยาเสพติดเท่าที่พอประมวลได้ ได้แก่
๑. บุคลิกภาพ เด็กบางคนมีบุคลิกและจิตผิดปกติ เช่น ปัญญาอ่อน หรือ บุคลิกภาพต่อต้านสังคม เป็นต้น เด็กพวกนี้จะเป็นเด็กที่มีปัญหามาก่อนการเกิดปัญหาการติดยา ในการศึกษาปัญหายาเสพติดในโรงเรียน คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า เด็กที่ใช้กัญชาและฝิ่นมีอัตราการเคยมีปัญหาเล่นการพนันด้วยเงินจำนวนมาก และอัตราการจำนำของสูงกว่าในเด็กนักเรียนที่ไม่ใช้ยามาก อุปนิสัยที่ไม่ดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมาก่อนการใช้และติดยาเสพติด แสดงว่าเด็กที่มีบุคลิกภาพหรือสภาพจิตผิดปกติมีแนวโน้มที่จะหันไปใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจเนื่องจากการขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือจากการที่ยาเสพติดช่วยลดความตึงเครียดของจิต เด็กที่เป็นโรคประสาทก็อาจหาทางออกด้วยการใช้ยาเสพติด
บุคลิกภาพที่เกิดจากการที่พ่อแม่ปกป้องมากเกินไป จนเด็กไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง และพึ่งตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่นอยู่เสมอเมื่อพบเพื่อนที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็งกว่า ชักจูงไปใช้ยาเด็กเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะหักห้ามใจได้ จึงใช้และติดยาไปก็ไม่น้อย
๒. ความรู้ ความรู้ที่ถูกต้องย่อมมีส่วนเป็นเครื่องคุ้มกันไม่ให้เด็กไปใช้ยาเสพติด และไม่ให้ถูกหลอกให้กระทำผิดได้ การกล่าวถึงโทษของยาเสพติดเกินความจริงและสร้างความกลัวเกินกว่าเหตุ อาจให้ผลในทางตรงข้าม เพราะเด็กอาจได้รับความรู้อีกด้านหนึ่งจากเพื่อนที่อาจเป็นผู้มีประสบการณ์การใช้ยา และมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า ความรู้ที่ได้รับไว้เดิมนั้นไม่ถูกต้องและไม่น่าเชื่อถือ ทำให้เด็กขาดหลักที่ยึดเหนี่ยว
อีกประการหนึ่ง เด็กบางคนใช้ยาเสพติดเพราะต้องการกระทำในสิ่งที่เป็นการผจญภัยและโลดโผนการกล่าวถึงโทษของยาเสพติดยิ่งมาก เด็กก็อาจรู้สึกยิ่งโลดโผนและน่าลองมากขึ้น
ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น
๓. ทัศนคติและค่านิยม ทัศนคติที่ดีต่อชีวิตการรู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี การมีระเบียบวินัย การยับยั้งชั่งใจ ความยั้งคิด ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะป้องกันไม่ให้เด็กทำตัวเข้าสู่ปัญหายาเสพติด
ภูมิคุ้มกันที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นจากการอบรมสั่งสอน และประสบการณ์ในชีวิตของเยาวชนตั้งแต่เล็กจนโตขึ้น จึงเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดส่วนหนึ่งเกิดจากความบกพร่องในการเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัยเด็กในระยะแรกๆ
สาเหตุของปัญหายาเสพติด, สาเหตุของปัญหายาเสพติด หมายถึง, สาเหตุของปัญหายาเสพติด คือ, สาเหตุของปัญหายาเสพติด ความหมาย, สาเหตุของปัญหายาเสพติด คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!