เมื่อเรามีอาการปวดท้อง พ่อหรือแม่จะพาไปหาหมอ หมอจะถามอาการต่างๆ และตรวจดู เสร็จแล้วหมอจะให้ยามารับประทาน พร้อมทั้งแนะนำเรื่องอาหารและการพักผ่อน การรักษาแบบนี้ เรียกว่า การรักษาทางอายุกรรม แต่ถ้าเมื่อเอายาไปรับประทานและปฏิบัติตัวตามที่หมอสั่งแล้ว อาการปวดท้องกลับเป็นมากขึ้น มีคลื่นไส้ อาเจียน พ่อหรือแม่จึงพามาให้หมอดูอีกตามที่สั่งเอาไว้ คราวนี้หมอตรวจใหม่และบอกว่าสงสัยจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ ต้องผ่าตัดเอาออก การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ เรียกว่า การรักษาทางศัลยกรรม ความรู้ทางศัลยกรรมเรียกว่า วิชาศัลยศาสตร์
ที่จริงการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคต่างๆ นั้น ได้ทำกันมานานแล้ว ทั้งในยุโรปและเอเชีย มีหลักฐานยืนยันจากการขุดพบโครงกระดูกว่า ชาวอินเดียนแดงสามารถผ่าตัดเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อรักษาโรค แม้ในประเทศเรา ก็พบว่ามีการเจาะกะโหลก ซึ่งสันนิษฐานว่าเพื่อเป็นการรักษาโรคเช่นเดียวกัน โครงกระดูกนี้มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปี พบที่จังหวัดอุดรธานี"ศัลยกรรมเฟื่องฟูในระหว่างสงคราม" คำพูดนี้ยังเป็นความจริงอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน เพียงแต่เห็นได้ไม่ชัดเท่ากับสมัยโบราณเท่านั้น
ในประเทศทางยุโรป ศัลยกรรมเริ่มทำกันอยู่ในหมู่ ช่างตัดผม เห็นจะเป็นเพราะเครื่องมือของช่างตัดผมเป็นของมีคม เหมาะในการทำผ่าตัด และการผ่าตัดสมัยนั้นก็คงจะเป็นการผ่าฝี ตกแต่งบาดแผล และผ่าเอาวัตถุทิ่มแทงและคาอยู่ในร่างกายออกเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่จริงแต่เดิมนั้น ผู้ที่ทำศัลยกรรมไม่ได้รับการนับถือว่าเป็นแพทย์ ต่อมาผู้ทำศัลยกรรมได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาแพทย์เพิ่มขึ้น จึงได้ยอมรับกันว่าเป็นศัลยแพทย์
คนแรกๆ ในบรรดาช่างตัดผมที่ทำผ่าตัดนี้ เห็นจะไม่มีใครมีชื่อเสียงเกิน อัมบรัวซ์ ปาเร ชาวฝรั่งเศส เกือบจะทั้งครอบครัวของเขาเป็นช่างตัดผมและทำการผ่าตัด เรียกกันในสมัยนั้นว่า บาร์เบอร์ เซอร์เจียน (Barber surgeons) ปาเรเป็นหมอทหารประจำอยู่ในกองทัพ ได้รับความรู้ความชำนาญจากการทำบาดแผลในสงคราม เป็นผู้ประดิษฐ์คีมจับหลอดเลือด และผูกหลอดเลือด เพื่อห้ามเลือดในขณะผ่าตัด อันเป็นวิธีที่ศัลยแพทย์ยังใช้กันอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ปาเร เขียนตำราศัลย-
ศาสตร์ไว้ชุดหนึ่ง มี ๑๐ เล่ม สาระสำคัญอันเป็นพื้นฐานของวิชาศัลยศาสตร์บางส่วน ยังคงเป็นความจริงและถือปฏิบัติกันมาจนบัดนี้เหมือนกัน
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคต่างๆได้กระทำกันมานาน ในสมัยดึกดำบรรพ์ที่การรักษาโรคยังอาศัยเวทมนตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น การผ่าตัดได้เข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคเพียงเพื่อบรรเทาอาการตามหลักของสามัญสำนึกเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นการผ่าฝี และผ่าเอาของแหลมคมที่ทิ่มแทงเข้าไปในร่างกายออก โดยกระทำร่วมกับการรักษาทางเวทมนตร์ เคยมีผู้พบโครงกระดูกของชาวอินเดียนแดงเมื่อกว่า ๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว มีร่องรอยของการเจาะกะโหลก สันนิษฐานว่าเพื่อรักษาโรคปวดหัว ลมชัก หรือเสียสติแต่เดิมมา การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคได้กระทำควบคู่กันไป
กับการรักษาโรคทางยา เพราะยังไม่มีการแยกกันว่า ใครเป็นหมอยา ใครเป็นหมอผ่าตัด ดังนั้นความเจริญของความรู้ทางศัลยศาสตร์ จึงควบคู่ไปกับความเจริญของความรู้ทางอายุรศาสตร์ และตามความรุ่งเรืองของบ้านเมือง เมื่อบ้านเมือง
เสื่อมสลาย ความรู้ที่สะสมกันมาก็เสื่อมสูญไปครั้งหนึ่ง และเมื่อมีการสร้างบ้านเมืองและวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ ความรู้ต่างๆ ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีก
จากประวัติศาสตร์ที่มนุษย์บันทึกไว้และค้นหามาได้พบว่าความรู้ทางศัลยศาสตร์ได้เจริญมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ คือ ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล
ในสมัยนั้น การทำผ่าตัดกะโหลกศีรษะ ที่แตกยุบได้กระทำกันอยู่แล้วในภูมิภาคทางเอเชีย เช่น ในประเทศจีนและอินเดีย ที่ปรากฏหลักฐานว่า วิชาศัลยศาสตร์ได้เจริญรุดหน้าไปทัดเทียมกัน เช่น ในประเทศจีนมีหลักฐานการผ่าตัดเพื่อแก้ปากแหว่ง และการทำหมัน (ตอน) ในเพศชาย เพื่อใช้เป็นขันทีในราชสำนัก เป็นต้น
แม้ว่าการผ่าตัดยังจำกัดอยู่แค่การผ่าฝีและการรักษาบาดแผลต่างๆ คนที่เป็นหมอในสมัยนั้น รู้ว่าโรคอีกหลายอย่างรักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่หาย และการผ่าตัดน่าจะช่วยได้ แต่ติดขัดด้วยอุปสรรคที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ
๑. ความเจ็บปวดและความกลัว การเอามีดกรีดลงไปบนเนื้อ ทำให้เกิดทั้งความกลัวและความเจ็บปวด ถ้าแผลตื้นแค่ผิวหนัง (เป็นเล็กน้อย) พอทนได้ ถ้าลึกจนถึงอกถึงท้องก็ทำให้ผู้ที่จะรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเกิดความขลาด
๒. เลือดออก การที่มีดกรีดลงไปบนเนื้อ เลือดจะออกมา ยิ่งลึกลงไปเลือดยิ่งออกมาก ถ้าออกมากเกินไป คนก็อาจถึงตายได้ การผ่าตัดจะทำให้เลือดออกเสมอไป ยิ่งผ่าลึกผ่านานเลือดก็ยิ่งออกมาก
๓. แผลอักเสบเป็นหนอง ในสมัยก่อน การผ่าตัดแม้จะเป็นเพียงเล็กๆ น้อยๆ แผลที่ผ่าลงไปมักจะอักเสบ และเป็นหนองเสมอ การอักเสบจากการผ่าตัดอาจลุกลามรุนแรงจนผู้ป่วยต้องเสียชีวิตไปแล้วเป็นอันมาก
ทั้งสามประการนี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการผ่าตัด การที่วิชาศัลยศาสตร์ได้เจริญงอกงาม สามารถรักษาโรคและแก้ไข สภาพผิดปกติต่างๆได้อย่างในปัจจุบันนี้ ได้อาศัยความรู้จากวิชาการแขนงอื่นๆ และจากการสังเกต ค้นคว้า และการประดิษฐ์ เครื่องมือต่างๆ ของทั้งศัลยแพทย์เอง และนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ร่วมกัน
การค้นพบยาสลบนับเป็นบันไดขั้นสำคัญที่สุดของวิชาศัลยศาสตร์ แม้ว่ายาที่คลายความเจ็บปวดคือไนทรัสออกไซด์นั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ ฮัมเฟรย์ เดวี (Sir Humphrey Davy, ค.ศ. ๑๗๗๘-๑๘๒๙) พบมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๔๓ แต่ไม่มีใครนำมาใช้เพื่อการผ่าตัดอย่างจริงจัง
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๘๓ ทันตแพทย์ชาวอเมริกัน ชื่อ ฮอเรซ เวลส์ (Horace Wells, ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๔๘) ได้นำมาใช้ในการถอนฟันโดยไม่เจ็บและต่อจากนั้นอีก ๒๑ เดือน มอร์ตัน(William Thomas Green Morton, ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๘๖๘) ทันตแพทย์ชาวอเมริกันเช่นเดียวกัน ได้นำอีเธอร์มาใช้ในการวางยาสลบแก่ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด
ใน พ.ศ. ๒๓๙๐ สูติแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เจมส์ ยัง ซิมป์สัน (Sir James Young Simpson, ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๗๐) ได้นำ คลอโรฟอร์มมาใช้ในการคลอดบุตรโดยไม่เจ็บปวด
หลังจากนั้นการผ่าตัดโดยไม่เจ็บปวดก็แพร่หลายไปทั่วยุโรป และอเมริกา
วิชาที่ว่าด้วยการวางยาสลบหรือที่เรียกว่าวิสัญญีวิทยา ได้พัฒนาต่อมาอีกมาก มีทั้งตัวยาที่ทำให้หมดความรู้สึกและเครื่องมือที่ช่วยในการใช้ยาอย่างสะดวกและปลอดภัย จนในปัจจุบันการผ่าตัดสามารถทำได้ทุกอย่าง โดยไม่เกิดความน่ากลัวอีกต่อไป