พระราชวังตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จัดออกได้เป็นสองประเภทคือ
๑. พระราชวังทางฝั่งธนบุรี และกรุงเทพมหานคร
๒. พระราชวังในส่วนภูมิภาคพระราชวังแต่ละแห่ง มีความมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์ต่างกัน ดังนั้นแบบแผนทางสถาปัตยกรรมจึงมีลักษณะต่างกันไปตามภูมิประเทศและกาลสมัย
ในสมัยที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุด ในการปกครองประเทศ พระราชวังคือศูนย์กลางของการปกครอง โดยเป็นทั้งที่ประทับและที่เสด็จออกว่าราชการเพื่อการบริหารประเทศ ปัจจุบันเรามีการปกครองแบบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าบริหารประเทศ ฉะนั้นพระราชวังจึงเป็นเพียงที่ประทับและประกอบพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์แต่เพียงอย่างเดียว
พระราชวังในกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ต้นแบบที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด ล้วนมาจากพระราชวังทั้งสิ้น ในแง่รูปลักษณ์ของพระราชวังนั้น สถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมที่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างและองค์ประกอบ ยังคงดำรงคุณค่าทางศิลปกรรมตลอดไป
พื้นที่ภายในพระราชวังมักจะแบ่งออกเป็น ๓ เขต แต่ละเขตมีกำแพงหรือคูน้ำ หรือรั้ว กั้นเป็นขอบเขตอย่างชัดเจน เรียกว่า พระราชฐานชั้นนอก พระราชฐานชั้นกลาง และพระราชฐาน ชั้นใน
พระราชฐานชั้นนอก เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการหรือเป็นที่ทำงาน พระราชฐานชั้นนี้มักจะ ตั้งอยู่ด้านหน้าและผู้ที่ปฏิบัติงานในเขตนี้มักจะเป็นผู้ชาย จึงมักจะเรียกผู้ที่ทำงานในเขตนี้ว่า "ฝ่ายหน้า"
พระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์
พระราชฐานชั้นใน เป็นที่ตั้งของหมู่ตำหนักที่ประทับของพระมเหสี พระราชเทวี และข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่เป็นหญิงล้วน พระราชฐานชั้นนี้จะตั้งอยู่ด้านในต่อเนื่องกับพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จึงมักจะเรียกผู้ที่อยู่ในเขตนี้ว่า "ฝ่ายใน"