ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย หมายถึง, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย คือ, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย ความหมาย, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย

          เราได้เห็นแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องวางอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยผลัดกันเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ เราจะพบว่าในสังคมไทยยังนิยมใช้คำเรียกญาติกับผู้ไม่ได้เป็นญาติอีกด้วย เช่น เรียกบิดามารดาของเพื่อนว่า "พ่อแม่" เรียกเพื่อนของพี่ว่า "พี่" เรียกเพื่อนร่วมงานว่า "พี่" "น้อง" เรียกบริกรตามร้านอาหารว่า "น้อง" ตลอดจนคนอื่นๆ ในอีกหลายๆสถานการณ์ ซึ่งนับว่าเป็นการขยายคำเรียกญาติไปสู่บุคคลสถานภาพต่างๆ ในสังคม ในส่วนนี้จะพิจารณาว่าการเรียกผู้อื่นด้วยคำเรียกญาติในสังคมไทยนั้นเกิดขึ้นในกรณีใด และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะใด แต่ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงการใช้คำเรียกญาติโดยทั่วๆ ไปเสียก่อน

          เนื่องจากคำเรียกญาติเป็นคำที่บอกลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล การ "ใช้"คำเรียกญาติเพื่อเรียกคนที่ไม่ได้เป็นญาติ จึงเป็นการเจตนา "สร้าง" ความสัมพันธ์ให้ผู้ฟังรู้สึกถึงภาระหน้าที่บางประการที่พึงมีต่อผู้พูดหรือที่พึงมีซึ่งกันและกัน การใช้คำสรรพนามในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ต้องรู้สถานภาพของคนที่เรากำลังคุยด้วย ถ้าผู้ฟังเป็นผู้บังคับบัญชาเราอาจจะใช้สรรพนามว่า "ท่าน" ในกรณีที่ต้องการแสดงความนับถือ ถ้าเป็นบุคคลตามสถานที่ราชการที่เราไปติดต่อ เราอาจจะเรียกว่า "คุณ" แต่ในกรณีที่เราต้องการสร้างความสนิทสนมเราอาจจะเปลี่ยนไปเรียกว่า "พี่" หรือ "น้อง" ซึ่งการเปลี่ยนไปเรียกว่าพี่หรือน้องเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้ผู้ฟังรู้สึกว่ามี "หน้าที่" ที่จะต้องช่วยเหลือการที่เราเรียกเขาว่า "พี่" ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีอายุมากกว่า เป็นการแสดงความนอบน้อมและแสดงเจตจำนงว่ากำลังขอความช่วยเหลือ ผู้ฟังอาจจะรู้สึกโดยอัตโนมัติว่ามีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ เพราะในวัฒนธรรมไทยความเป็นพี่บ่งบอกภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือดูแลผู้น้องหรือในร้านอาหาร  เราอาจจะเรียกบริกรว่า "น้อง" ซึ่งมีนัยว่าสิ่งที่เราจะขอต่อไปนั้น "น้อง" มีหน้าที่ต้องให้บริการ เช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ในบ้านผู้เป็นน้องก็มักจะขัดไม่ค่อยได้ถ้าพี่หรือผู้อาวุโสสูงกว่าขอร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
         การเรียกผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นญาติว่าพี่หรือน้องเป็นสิ่งที่เป็นปกติในสังคมไทย ทุกๆ คนก็ขยายการเรียกคนอื่นว่าเป็นพี่เป็นน้อง ในกรณีที่ต้องการสร้างความสนิทสนมและเพื่อลดช่องว่างและความห่างเหินกับคนที่เรากำลังคุยด้วย เพราะความรู้สึกในความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปทันที ถ้าเราเรียกบริกรว่า "คุณ" ด้วยเหตุที่การเรียกบริกรว่า "คุณ" เป็นการสร้างกำแพงระหว่างผู้พูดและผู้ฟังจริงอยู่การให้บริการจะยังเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ที่บริกรพึงมีต่อลูกค้าในร้านอาหาร แต่ความรู้สึกและลักษณะความสัมพันธ์อาจจะต่างกันในกรณีฉุกเฉินที่เรามีความจำเป็นให้บริกรช่วย เช่น โทรศัพท์ไปบอกคนที่บ้านเราด้วยเหตุบางประการซึ่งเป็นการบริการที่เกินหน้าที่ของบริกร เราคงไม่เรียกเขาว่า "คุณ" แต่จะเรียกว่า "น้อง" โดยอัตโนมัติ และบริกรก็จะรู้สึกว่าจำเป็นต้องช่วยเหลือเสมือนหนึ่งคนที่เป็นน้องมีหน้าที่ทางสังคมที่ต้องบริการต่อพี่ของตัวเองในครอบครัว
         ความเป็นญาติบอกถึงความรัก ความไว้ใจและความไม่เอาเปรียบ  จึงพบว่าในสังคมไทยนิยมใช้คำเรียกญาติเช่นคำว่า "พี่" กับคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนของพี่ เพื่อนรุ่นพี่ซึ่งเป็นการบอกลักษณะความสัมพันธ์ว่ามีความใกล้ชิดไว้ใจกันได้ ไหว้วานให้ช่วยเหลือกันได้ประเด็นเรื่องความเป็นญาติ แฝงไว้ด้วยความไม่คิดเล็กคิดน้อย ทำให้สังเกตได้ว่าเวลาซื้อของในร้านที่สามารถต่อรองราคาได้ ถ้าคนขายอายุมากกว่าเราอาจจะเรียกว่า "พี่" เช่นบอกว่า "พี่ลดราคาให้อีกหน่อยสิคะ" ด้วยการเรียก "พี่" คนขายอาจจะลดราคาให้จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่ในความเป็นญาติมักจะเอาเปรียบกันไม่ได้โดยตรง โดยเฉพาะทางการเงิน การ "ใช้" คำเรียกญาติจึงเป็นกลไกอันหนึ่งของคนในสังคมไทยใช้เพื่อผลประโยชน์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจ
         ในขณะที่การใช้คำว่า "พี่" หรือ "น้อง" เป็นการใช้เรียกคนที่ไม่ใช่ญาติในรุ่นราวคราวเดียวกับเรา ด้วยหลักการและเหตุผลเดียวกับที่
         กล่าวมาแล้ว เราจะเรียกแม่ค้าที่ดูว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่เราว่า "ป้า" หรือ "น้า" ในกรณีที่เป็นคนแก่มากๆ เราจะเรียกว่า "ยาย" มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ คนไทยจะใช้คำว่า น้า ยาย และตา มากกว่า อา ย่า และปู่ กับคนที่ไม่ได้เป็นญาติกับเรา แต่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่หรือรุ่นพ่อแม่ของพ่อแม่ ในแง่นี้วิเคราะห์ได้ว่า คนไทยรู้สึกใกล้ชิดกับญาติข้างแม่มากกว่า สืบเนื่องจากระบบครอบครัวไทยที่นิยมตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนโดยอิงข้างผู้หญิง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีการแต่งงาน  หนุ่มสาวมักจะอยู่ในบ้านบิดามารดาของฝ่ายหญิงสักระยะหนึ่งจนมีลูก หรือเมื่อน้องสาวคนถัดไปแต่งงานจึงย้ายออก  เด็กที่เกิดขึ้นมาในครอบครัวจึงได้พบและคุ้นเคยกับยายคือแม่ของแม่ และน้าคือน้องของแม่เพราะอยู่ในบ้านเดียวกัน หรือเดินออกไปบ้านข้างๆกันก็พบยายและน้าซึ่งเป็นครอบครัวของพี่สาวของยายแท้ๆ อีก ด้วยเหตุที่เด็กไทยเติบโตขึ้นมาท่ามกลางญาติทางมารดามากกว่าญาติทางบิดา จึงนับเป็นคำอธิบายอันหนึ่งว่า เหตุใดคนไทยจึงใช้คำเรียกญาติกับคนที่พบเห็นว่า น้า ยาย หรือตา มากกว่า อา ย่า หรือปู่
          น่าสังเกตการใช้คำว่า "พ่อ" ในสังคมไทยว่าคำว่า "พ่อ" มีนัยของผู้มีอำนาจ ผู้อุปถัมภ์ ผู้ที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นที่เคารพนับถือ เราจึงพบว่าเราเรียกผู้ปกครองบ้านเมืองว่า "พ่อขุน" "พ่อเมือง"โดยนัยของผู้มีอำนาจและผู้อุปถัมภ์ เราเรียกพระสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านว่า "หลวงพ่อ" เรียกวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามศาลหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ว่า "เจ้าพ่อ" โดยนัยของความเป็นผู้มีอำนาจ ในประเด็นเรื่องความเป็นผู้มีอำนาจให้โทษ โดยที่เป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่ผี หมายถึงนักเลงท้องถิ่นทางเหนือ เรียกผู้มีฐานะมั่งคั่งว่า "พ่อเลี้ยง" ทั้งนี้แฝงนัยของความเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ทั้งทางการเงินและความช่วยเหลือต่างๆซึ่งถ้าแยกศัพท์ว่า "พ่อ" และ "เลี้ยง" ก็จะเห็นนัยของคำนี้ชัดเจนขึ้น
          ส่วนคำว่า "แม่" นั้น อาจตั้งข้อสังเกตว่าแฝงนัยทางสังคมหลายประการ
          ประการแรก คำว่า "แม่" ทำให้นึกถึงผู้หญิงที่ดูแลบ้านดูแลครอบครัวจึงมีคำว่า "แม่บ้าน" ซึ่งอาจจะหมายถึงทั้งภรรยาและผู้ที่จ้างมาดูแลบ้านคำว่า "แม่ครัว" ซึ่งอาจจะหมายถึงทั้งภรรยาและผู้ที่จ้างมาทำอาหารในบ้านตลอดจนตามร้านอาหาร    
          ประการที่๒   คำว่า "แม่" อาจรวมนัยของความเป็นที่เกิดของความอุดมสมบูรณ์ เพราะแม่เป็นผู้ให้กำเนิดลูก จึงมีคำว่า "แม่โพสพ" "แม่ธรณี" "แม่น้ำ" เป็นแหล่งของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะใช้คำว่าแม่เป็นคำต้นเรียกชื่อแม่น้ำลำธารสายต่างๆ ได้ เช่น แม่ปิง แม่กก แม่สาย แม่คงคา
          ประการที่๓   คำว่า "แม่" คงไว้ซึ่งความรู้สึกของความมั่นคง แข็งแรง  จึงเป็นที่มาของคำว่า "แม่กุญแจ" "แม่แรง" "แม่ทัพ" "แม่กอง"
          ในประเด็นเรื่องการใช้คำเรียกญาติซึ่งบ่งบอกความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เห็นได้อีกในคำว่า "ลูกพี่" และ "ลูกน้อง" ปกติคำว่าลูกพี่ลูกน้องหมายถึง  คนที่ไม่ได้เป็นพี่น้องท้องเดียวกับเราแต่เป็นลูกของลุง ป้า น้า อาของเรา  แต่เมื่อนำมาใช้แยก "ลูกพี่ หรือ ลูกน้อง" ความหมายได้กลายไป ถูกนำไปใช้ในบริบททางสังคมที่กล่าวขึ้นในรูปของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์"ลูกน้อง" ใช้ในฐานะผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตาม "ลูกพี่" อาจหมายถึง นักเลง นายผู้นำของการรวมกลุ่มในลักษณะต่างๆ ซึ่งถ้าดูความสัมพันธ์ระหว่าง "ลูกพี่" และ "ลูกน้อง" ในลักษณะที่กล่าวมานี้ยังสามารถเห็นบทบาทและหน้าที่ของ "พี่" ว่าเป็นผู้ให้ความคุ้มครองดูแล และ "น้อง" เป็นผู้อยู่ในความดูแลของ "พี่" ตามความหมายเดิมและตามบทบาทหน้าที่ของพี่และน้องในระบบครอบครัวไทยนั่นเอง
         กล่าวโดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติในสังคมไทยเป็นความสัมพันธ์ ๒ ทาง ซึ่งกระทำระหว่างบุคคล ๒ ฝ่าย ซึ่งมีทั้งในกรณีที่เป็นญาติกันจริงๆ โดยทางสายเลือดและการแต่งงานและในกรณีของญาติสมมติ ดังที่กล่าวถึงในกรณีของการขยายการนับญาตินี้ ข้อที่น่าสังเกตคือ ในสังคมไทยกิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างญาติจริงก็ดีหรือญาติสมมติก็ดีเป็นความสัมพันธ์แบบชั่วคราว เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแลกผลประโยชน์กัน ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งในทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม จึงเป็นความสัมพันธ์ที่มีเรื่องผลประโยชน์เป็นรากฐาน ดังที่มีคำกล่าวว่า "มีเงินก็นับว่าน้อง มีทองก็นับว่าพี

การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย หมายถึง, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย คือ, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย ความหมาย, การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu