สุริยุปราคา (Solar Eclipse หรือ Eclipses of sun) หรือเรียกว่า "สุริยคราส " เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เงาของดวงจันทร์ จะทอดยาวมายังโลก ทำให้คนบนโลก(บริเวณที่มีเงาของดวงจันทร์) มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง หรือบางแห่งเห็นดวงอาทิตย์มืดหมดทั้งดวง ช่วงเวลาที่เกิดสุริยุปราคาจะกินเวลาไม่นานนัก เช่น เมื่อวันที่ 24 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2538 ประเทศไทยสามารถมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้นาน 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนเข้าจนเคลื่อนออก
สุริยุปราคา จะเกิดขึ้นเฉพาะในเวลากลางวันและตรงกับ วันแรม 15 ค่ำ หรือ วันขึ้น 1 ค่ำ เท่านั้น ตำแหน่งบนพื้นโลกที่อยู่ในเขตใต้เงามืดของดวงจันทร์จะมองเห็นดวงอาทิตย์มืดมิดทั้งดวงเรียกว่า "สุริยุปราคาเต็มดวง" ท้องฟ้าจะมืดไปชั่วขณะ ในขณะที่ตำแหน่งบนพื้นโลกที่อยู่ภายใต้เขตเงามัวจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังไปบางส่วนเรียกว่า"สุริยุปราคาบางส่วน" สำหรับการเกิดสุริยุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากกว่าปกติ ทำให้เงามืดของดวงจันท์ทอดตัวไปไม่ถึงพื้นโลก แต่ถ้าต่อขอบของเงามืดออกไปจนสัมผัสกับพื้นผิวโลกจะเกิดเป็นเขตเงามัวขึ้น ตำแหน่งที่อยู่ภายใต้เขตเงามัวนี้จะมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวนดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก แต่ที่เรามองเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้มิด ก็เพราะดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์
= สุริยุปราคาหมดดวง
= อุปราคาในปี 2551
สาเหตุการเกิดสุริยุปราคา
สุริยุปราคาเกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาพื้นโลก ทำให้พื้นที่บนโลกบริเวณใต้เงาของดวงจันทร์มืดลง เรียกกันง่ายๆว่า สุริยุปราคา คือการที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่มาบังดวงอาทิตย์นั้นเอง จะเกิดเมื่อ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน บนพื้นระนาบ (พื้นราบ) เดียวกัน โดยดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
ประเภทของสุริยุปราคา
ลักษณะเงาของดวงจันทร์ เนื่องจากดวงจันทร์เป็นวัตถุทึบแสงและมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก เมื่อมันโคจรมาบังแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะทำให้เกิดเงา 2 ลักษณะคือ เงามืด (Umbra) ซึ่งเป็นอาณาเขตที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึงผู้ที่อยู่ใต้เงามืดจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มืดไปทั้งดวงก็จะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง และ เงามัว (Penumbra) ซึ่งเป็นอาณาเขตที่แสงอาทิตย์ส่งออกไปถึงได้บ้าง ผู้ที่อยู่ใต้เงามัวจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ก็จะเห็นสุริยุปราคาบางส่วน แต่ถ้าดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากกว่าปกติเงามืดจะทอดไปไม่ถึงโลก คงมีแต่เงามัวเท่านั้น ดวงจันทร์จึงบังดวงอาทิตย์ไม่มิด คนที่อยู่ใต้เงามัวส่วนในจะเห็นดวงอาทิตย์เป็น รูปวงแหวน มีดวงจันทร์อยู่กลาง ก็จะเห็นสุริยุปราคาเป็นรูปวงแหวน ซึ่งเราแบ่งสุริยุปราคาออกตามลักษณะการเกิดได้ 3 ประเภท คือ
1. ถ้าเงาของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เห็นมืดเป็นบางส่วน จะเรียกว่า สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse)
2. ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง ซึ่งจะเกิดให้เราได้เห็นไม่บ่อยนัก และเกิดให้เห็นในระยะอันสั้น เราเรียกว่า สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) โอกาสที่จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงให้เห็นได้นานที่สุดเท่าที่มีมา ไม่เคยถึง 8 นาทีเลยสักครั้งเดียว
3. ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เฉพาะตรงกลาง ทำให้เกิดขอบแสงสว่างปรากฏออกโดยรอบดุจมีวงแหวนล้อมรอบ ก็เรียกว่า สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse)
ปรากฏการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ในตอนกลางวันของแรม 14-15 ค่ำ และวันขึ้น 1 ค่ำ ปรากฏการณ์ของสุริยุปราคานั้น เห็นได้ในบางส่วนของโลก และสุริยุปราคาเต็มดวงมีระยะการเห็นได้กว้างไม่เกิน 167 ไมล์ ซึ่งเป็นเขตให้เงาดำสนิทเคลื่อนผ่านไป แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่อยู่นอกเขตเงาดำสนิท ก็จะเห็นปรากฏการณ์ของสุริยุปราคาด้วยเหมือนกัน หากไม่เห็นเต็มดวง คงเห็นเพียงบางส่วนเท่านั้นและอาณาบริเวณที่เห็นได้บางส่วนนี้มีความกว้างยิ่งกว่าที่เห็นเต็มดวง
ลำดับเหตุการณ์การเกิดสุริยุปราคา
การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนั้น จะเริ่มต้นด้วยการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนก่อน คือการที่ดวงจันทร์เริ่มต้นโคจรเข้ามาบังดวงอาทิตย์ทีละน้อยๆ ต่อเมื่อดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดดวงจึงจะเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง แต่ในบริเวณที่อยู่เหนือขึ้นไปหรือใต้แนวที่ถูกทำให้มืดลงมา ซึ่งจะเห็นเฉพาะสุริยุปราคาบางส่วนก็จะไม่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวง คงจะเห็นแต่สุริยุปราคาบางส่วนไปตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดปรากฏการณ์เพราะสุริยุปราคาบางส่วนจะมีเฉพาะสัมผัสที่ 1 และ 4 เท่านั้น การสัมผัสของดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ในขณะเกิดสุริยุปราคา มี 4 จังหวะด้วยกันคือ
1. สัมผัสที่ 1 (First Contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์
2. สัมผัสที่ 2 (Second Contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้มิดหมดดวง
3. สัมผัสที่ 3 (Third Contact) เป็นจุดสุดท้ายที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มิด
4. สัมผัสที่ 4 (Fourth Contact) เป็นจุดสุดท้ายก่อนที่ดวงจันทร์จะหลุดพ้นออกจากดวงอาทิตย์
ปรากฏการณ์ที่เกิดจากสุริยุปราคา
ก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้น จะทำปฏิกิริยากับพื้นผิวของดวงจันทร์เกิดเป็นประกายแวววาวในรูปแบบต่างๆคือ
1. ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily"s Beads) จะเกิดก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้นจะส่องลอดผ่านบริเวณที่ลุ่ม ที่ต่ำ หุบเขา หุบเหวลึกบนพื้นผิวดวงจันทร์อันขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ปรากฏเป็นประกายแวววาวเหมือนลูกปัดสีสวยสดใสที่เรียงร้อยกันล้อมรอบดวงจันทร์สวยงามมากเราเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ ฟรานซิสเบลีย์ (Francis Baily) ซึ่งเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างถูกต้องเป็นคนแรก เมื่อเกิดสุริยุปราคาวงแหวนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2379
2. ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) จะเกิดก่อนดวงอาทิตย์มืดหมดดวง ซึ่งดวงอาทิตย์จะปรากฏเป็นเสี้ยวเล็กมากๆ บรรยากาศของโลกจะส่งผลให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมาจากเสี้ยวเล็กๆ นั้นมีการกระเพื่อม ซึ่งช่วงนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นริ้วเป็นแถบของการกระเพื่อมของแสงอันเนื่องมาจากบรรยากาศของโลกรบกวน เป็นแถบเงารูปคลื่นสีดำซึ่งจะทอดเป็นริ้วๆทั่วไป เหมือนแสงสะท้อนจากผิวน้ำที่สะท้อนขึ้นไปบนเรือดูแปลกตามาก จะเห็นได้ชัดเจนหากปูพื้นด้วยผ้าสีขาวกลางแจ้ง ผู้สังเกตพบเป็นคนแรก คือ เอช. โกลด์ชมิดท์ เมื่อ พ.ศ. 2363 ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศโลก ไม่ได้เกี่ยวกับดวงจันทร์
3. ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The diamond ring effect) จะเกิดขึ้นเมื่อลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ลอดผ่านหลุมอุกกาบาตใหญ่บนดวงจันทร์ลงมา ซึ่งจะเกิดก่อนและหลังการบังมืดหมดดวงประมาณ 10 วินาที ปรากฏการณ์เป็นดวงสว่างจ้าอยู่เพียงดวงเดียวบนขอบเสี้ยวของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับไป เป็นรูปคล้ายแหวนเพชรส่องประกายสวยงามมาก
ประโยชน์และคุณค่าของการเกิดสุริยุปราคา
นอกจากการเกิดสุริยุปราคาจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าตื่นเต้นแล้ว สุริยุปราคายังมีคุณค่าทางดาราศาสตร์และการศึกษาหาข้อมูลทางด้านฟิสิกส์และเคมีของดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานใหญ่และเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาลเป็นอย่างมาก พอจะรวบรวมประโยชน์และคุณค่าได้ดังนี้คือ
1. สามารถตรวจสอบสภาพกาลอากาศได้ว่าสุริยุปราคาโดยเฉพาะสุริยุปราคาเต็มดวงมีผลทางอุตุนิยมวิทยา ใช้ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบรรยากาศของโลกระดับต่างๆ ตั้งแต่ชั้นไอโอโนสเฟียร์ลงมา
2. สามารถศึกษาสมบัติบางประการในการกระจายแสงของบรรยากาศของโลก
3. สามารถศึกษารูปร่างและการแผ่ขยายรูปร่างโคโรนา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสนามแม่เหล็กหรือการเกิดจุดดำบนดวงอาทิตย์ เพราะเราจะเห็นโคโรนาได้ชัดเจนต่อเมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น เพราะมันมีแสงอ่อนมาก จนในช่วงเวลาปกติจะไม่มีทางมองเห็นโคโรนาได้ชัด
4. สามารถตรวจสอบเส้นรุ้ง (Latitude) และเส้นแวง (Longitude) ให้ถูกต้องแท้จริง
5. สามารถวิเคราะห์ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ได้จากการศึกษาสเปกตรัมของดวงอาทิตย์ในขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งในอดีตนักดาราศาสตร์ชาวนักกฤษได้ค้นพบธาตุฮีเลียมในดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา เมื่อปี พ.ศ. 2411
6. ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้มนุษย์สนใจใคร่รู้ในเรื่องของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และอาจก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกได้ อาทิเช่น การเกิดสุริยุปราคาในปี พ.ศ. 2103 ทำให้เด็กหนุ่มชาวเดนมาร์กคนหนึ่ง เกิดความสนใจดาราศาสตร์อย่างจริงจัง เขาเริ่มบันทึกผลการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์โดยดารตรวจสอบตำแหน่งปรากฏการณ์ของดาวเคราะห์บนท้องฟ้า จนเกิดการสร้างเครื่องมือวัดมุม (Quadrant) ซึ่งใช้วัดมุมได้ละเอียดถึงลิปดาเลยทีเดียวหนุ่มผู้นั้นได้กลายมาเป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในสมัยกลาง คือ ไทโค บราฮี (Tycho Brahe) และแรงบันดาลใจการเกิดสุริยุปราคานี้เอง ยังทำให้เกิดการสร้างหอดูดาวที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นอีกด้วย
7. สามารถตรวจสอบการเบนของแสงสว่างในสนามแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวัดตำแหน่งและการกำหนดตำแหน่งของดาวฤกษ์
8. เมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เราสามารถเห็นดาวฤกษ์ที่สว่างบางดวงได้ เช่น ดาวในกลุ่มแมงป่อง กลุ่มดาวจระเข้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นต้น
ในปี 2559 นี้จะพบ สุริยุปราคา ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559
ที่มา : www.rmutphysics.com