เนื่องจากเนื้อหาสาระของเรื่องในจารึกจะผูกพันอยู่กับผู้สร้างจารึก ซึ่งส่วนใหญ่คือกษัตริย์ ผู้นำ หรือหัวหน้าท้องถิ่น เรื่องราวที่บันทึกจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวผู้บันทึกจารึก เป็นการบอกกล่าวสิ่งที่ผู้สร้างจารึกได้กระทำขึ้น เป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลหรือกลุ่มชนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งไม่อาจจะนับเป็นตัวแทนของสังคมในยุคสมัยนั้นได้ แต่สาระของเรื่องในจารึกก็น่าเชื่อถือ เพราะการกล่าวถึงนามบุคคล เช่น พระนามของกษัตริย์ ชื่อสถานที่ ชื่อเมืองชื่อหมู่บ้าน หรือศักราช สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น เพราะบุคคลในสมัยนั้นก็น่าจะได้มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่จารึกด้วยจารึกเหล่านั้นสร้างขึ้นพร้อมเหตุการณ์หรือในเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์เพื่อปักวางไว้ในที่สาธารณะให้ประชาชนได้รู้เห็นกันทั่ว เรื่องในจารึกเป็นความจริงตามทัศนะของผู้สร้างจารึกนั้น ๆ
เนื่องจากจารึกส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบันทึกกิจกรรมของตนทางศาสนา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพบูชา ดังนั้นจึงบันทึกเรื่องราวตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นด้วยความเสื่อมใสศรัทธา หรือเพราะความเกรงกลัวต่อความผิดหรือบาป อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนภายหลังก็ตาม อย่างไรก็ดีสาระของเรื่องในจารึกแต่ละยุคสมัยย่อมเป็นไปตามความนิยมของสังคมในสมัยต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งมีทั้งแตกต่างกันและเหมือนกันจำแนกได้ดังนี้
๑. เรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมะ หรือหัวข้อธรรมะซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา ทั้งพระพุทธศาสนา และลัทธิศาสนาฮินดู เช่น จารึกเยธมฺมาฯ จังหวัดนครปฐม และจารึกหุบเขาช่องคอย จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
๒. เรื่องกิจกรรมของกษัตริย์ ผู้นำหรือหัวหน้าท้องถิ่น ในเรื่องต่าง ๆ เช่น
๒.๑ การสร้างเมือง สร้างรูปเคารพและศาสนสถาน เช่น เนื้อหาของเรื่องในจารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนวัดมหาธาตุ เมืองลพบุรีกล่าวถึงอธิบดีแห่งชาวเมืองตังคุระได้สร้างพระพุทธรูปยืนนี้
๒.๒ การสร้างกฎหมาย ระเบียบการปกครองในสังคม เช่น เนื้อหาของเรื่องในจารึกวัดตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวถึงพระราชโองการห้ามพวกข้าราชการที่ออกไปปฏิบัติงานตามชนบท จับกุมคุมขังชิงทรัพย์สินของชาวบ้าน
๒.๓ การเผยแพร่และทำนุบำรุงศาสนาเช่น เนื้อหาของเรื่องในจารึกแผ่นทองแดงอู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึง พระเจ้าศรีหรรษวรมัน โปรดฯ ให้ส่งสีวิกาพร้อมด้วยคนฟ้อนรำและดนตรี เป็นทักษิณาถวายแด่พระศิวลึงค์รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระอิศวร
๒.๔ การเผยแพร่อำนาจการปกครองในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ เป็นยุคสมัยที่อาณาจักรกัมพูชาได้ขยายอิทธิพลเข้ามาอยู่ในบางส่วนของพื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทยปัจจุบันจารึกส่วนใหญ่มีส่วนสัมพันธ์กับศาสนสถานและบางครั้งจะพบว่าจารึกไว้ที่เสา ผนังข้างขอบประตู หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวอาคารสาระของเรื่องในจารึกจะเน้นหนักไปในด้านการแสดงความยิ่งใหญ่ กำลัง และอำนาจของกษัตริย์ หรือผู้นำชุมชนโดยมีส่วนสัมพันธ์กับศาสนาและประชาชน เช่น เรื่องในจารึกเมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ และพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ รวมทั้งการสร้างเทวรูปและพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากเพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะแต่ศาสนสถาน
๒.๕ การสร้างสัมพันธภาพระหว่างรัฐ สาระของเรื่องในจารึกจะกล่าวแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างเมือง เช่น คำสาบาน หรือคำสัญญา เช่น เนื้อความในจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย เป็นการประกาศความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ แห่งอาณาจักรศรีอยุธยากับพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ซึ่งได้ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักขึ้นเป็นสักขีพยานว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงรักใคร่สนิทสนมกันดุจเดียวกับนามของพระเจดีย์นั้น
๓. เรื่องเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น
๓.๑ ตำรายา กลุ่มจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งบันทึกเรื่องความรู้เกี่ยวกับตำรายารักษาโรคชนิดต่าง ๆตำรานวด และตำราฉันทลักษณ์ เป็นต้น
๓.๒ ดวงชะตา จารึกบางชิ้นมีข้อความขึ้นต้นด้วยรูปดวงชะตา ส่วนใหญ่เป็นดวงชะตาของวัด หรือถาวรวัตถุที่ผู้สร้างจารึกเป็นผู้มีส่วนในการสร้างหรือปฏิสังขรณ์ โดยจะบอกวันเดือน ปี เวลา ฤกษ์ ในการประกอบพิธีนั้น เช่นจารึกวัดใต้เทิง จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นต้นข้อความด้วยดวงชะตาวันเดือนปีสร้างถาวรวัตถุไว้กับพระพุทธศาสนา
๓.๓ การสอนอักขรวิธี จารึกบางชิ้นบันทึกแบบอักษรและการสะกดคำ มีลักษณะเป็นแบบเรียนหนังสือชั้นต้น เช่น จารึกวัดตระพังนาค จังหวัดสุโขทัย และจารึกแม่อักษรขอมขุดปรอท พระราชนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐสุริยวงศ์
๓.๔ การติดต่อสื่อสาร จารึกที่บันทึกเรื่องราวเพื่อการติดต่อสื่อสารในลักษณะจดหมายโต้ตอบเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศเช่น จารึกพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ แห่งประเทศฝรั่งเศส
เนื้อหาของเรื่องในจารึก
เนื้อหาของเรื่องในจารึก, เนื้อหาของเรื่องในจารึก หมายถึง, เนื้อหาของเรื่องในจารึก คือ, เนื้อหาของเรื่องในจารึก ความหมาย, เนื้อหาของเรื่องในจารึก คืออะไร
เนื้อหาของเรื่องในจารึก, เนื้อหาของเรื่องในจารึก หมายถึง, เนื้อหาของเรื่องในจารึก คือ, เนื้อหาของเรื่องในจารึก ความหมาย, เนื้อหาของเรื่องในจารึก คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!