ในนิยาย การ์ตูน หรือภาพยนตร์หลายเรื่อง มักจะให้ความสำคัญกับ “ความหวัง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตอนถึงคราวคับขัน ตัวเอกเจอเหตุการณ์ที่วิกฤตมากๆ แทบจะมองไม่เห็นว่าจะหาทางออกกับปัญหาในขณะนั้นอย่างไร แต่ตัวละครก็จะเตือนสติตัวเอง หรือมีคนอื่นเตือนสติให้เชื่อมั่นว่า อย่าหมดหวัง ให้เชื่อจริง ๆ ว่าสิ่งร้าย ๆ ต้องผ่านไป และสิ่งดี ๆ ก็ต้องเข้ามาสักวัน
ส่วนในชีวิตจริงนั้นเนื่องจากเราเป็นคนแสดงเสียเอง และเนื่องด้วยโลกในปัจจุบัน คือโลกแห่งวิทยาศาสตร์ ความหวังดูเหมือนจะเป็นปาฏิหารย์เลือนรางใกล้เคียงกับเรื่องโชคราง แต่อย่างไรก็ตามมีการวิจัยของจิตวิทยาเกี่ยวกับผลของความคิด หรือความหวังของคนที่อยู่ภายในที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งรอบตัวให้เป็นไปตามนั้น ฟังแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่วิทยาศาสตร์แต่ความจริงแล้วความหวังมีอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ จริงๆ
ปรากฏการณ์ที่ความหวังนั้นเกิดก่อนความจริง เป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงมานาน แต่จะในแนวเหนือธรรมชาติเสียมากกว่า ภาษาอังกฤษเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Self-fulfilling prophecy ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจเกี่ยวกับนิยาย และภาพยนตร์ในหลาย ๆ เรื่อง แต่ผลของความหวังที่ทำให้เกิดความจริงอย่างมีหลักฐานนั้น มีการวิจัยที่ไม่ค่อยนานเท่าไหร่เมื่อ ปี 1992 ของ Robert Rosenthal และ Lenore Jacobson ซึ่งได้วิจัยเกี่ยวกับผลของครูที่มีต่อนักเรียน ซึ่งน่าสนใจมากทีเดียว
การวิจัยนี้ทดลองโดยการบอกครูผู้สอนว่าเด็กคนไหนเก่ง และคนไหนไม่เก่ง โดยที่จริงๆ แล้วเด็กทั้งคู่ก็เรียนเก่งพอๆ กัน แต่พอเวลาผ่านไป เด็กคนที่ครูผู้สอนเชื่อว่าเป็นเด็กเก่งก็เรียนเก่งขึ้นจริงๆ และเด็กคนที่ครูผู้สอนเชื่อว่าเรียนไม่เก่ง ก็พาลเอาเรียนไม่เก่งเอาดื้อๆ ทั้งๆ ที่เด็กทั้งคู่ก่อนหน้านี้มีความเก่งหรือฉลาดไม่แตกต่างกันเลย การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อของครูผู้สอนที่มีต่อนักเรียนมีผลต่อตัวนักเรียนอย่างมาก แต่ว่าเป็นเพราะอะไร? ความเชื่อที่อยู่ในหัวถึงส่งผลต่อเด็กจริง ๆ ได้
ความคิดของคนนั้นเหมือนจะอยู่แค่ภายในก็จริง แต่ว่ามันก็ส่งผลต่อเราหลายอย่างออกมาโดยที่เรารู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง ในการวิจัยข้างบนก็เป็นผลมาจากสิ่งนี้ ครูผู้สอนเมื่อรู้ว่านักเรียนคนไหนเรียนเก่ง ก็จะคาดหวังกับเด็กคนนั้นสูง พยายามส่งเสริมให้ทำอะไรต่าง ๆ ที่ยากขึ้น เมื่อเด็กคนนั้นไม่ได้หรือผิด ก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องแปลก และพยายามทำให้เด็กคนนั้นทำได้ เพราะตนรับรู้ว่าเขาเป็นคนเก่งซึ่งควรจะทำอะไรยาก ๆ ได้ แต่เด็กคนที่ครูคาดว่าเรียนไม่เก่ง ครูก็จะไม่ค่อยจะให้มีส่วนร่วมเช่น ไม่ให้ตอบคำถามยาก ๆ เพราะคาดไว้อยู่แล้วว่าคงตอบไม่ได้ เมื่อทำอะไรไม่ได้ ครูผู้นั้นก็จะเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคิดไว้แล้วว่าเป็นคนไม่เก่ง และอาจจะละเลย ที่จะส่งเสริมให้เด็กคนนั้นเก่งขึ้น เพราะคิดว่าคงจะยากเกินไปสำหรับเด็กคนนั้น
การวิจัยข้างบนเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลของความคาดหวัง เมื่อคนเราคาดหวังอะไรแล้ว คนเราก็จะมักจะคิดไว้ก่อน โดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป มันควรจะเป็นแบบไหน เช่น ถ้าเราหวังว่าวันเกิดของเราจะได้ของขวัญจากเพื่อน เมื่อเราเห็นกลุ่มเพื่อนของเราขอตัวไปซื้อของโดยไม่ให้เราไปด้วย เราก็มักจะคิดว่าเขาคงไปซื้อของขวัญให้เราแน่ ๆ และไม่เพียงเท่านั้น ความหวังของเราจะส่งผลกับคนอื่นด้วย เช่น ถ้าเราเห็นว่าเพื่อนไม่เห็นจะให้ของขวัญเราเสียที เราอาจจะพูดถึงของที่อยากได้ หรือแม้แต่การมองของที่อยากได้ขณะเดินซื้อของกับเพื่อน โดยหลายครั้งเราทำไปโดยไม่รู้ตัว และแน่นอนว่าคนอื่นเองก็อาจรับรู้ความต้องการของเราได้เช่นเดียวกัน เพื่อนเราที่อาจจะลืมวันเกิดเรา แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นจากการกระทำของเราบ่อย ๆ เขาก็อาจจะจำได้ว่าควรจะซื้อของขวัญวันเกิดให้เรา การที่ความคาดหวังเป็นจริงนั้น เป็นเพราะเราทำให้สิ่งรอบตัวเอื้อต่อการเกิดสิ่งที่เราหวังนั่นเอง
อย่างไรก็ตามนี่เป็นแค่ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาให้เห็นชัดเจนเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว เรามักจะไม่รู้ตัวว่าเราพยายามทำสิ่งที่เราหวังให้เกิดขึ้น เพราะหลายสิ่งที่เราทำมันส่งผลเล็กน้อยมาก เช่น ถ้าเราแอบชอบใคร เราจะพยายามหาโอกาสที่จะได้เจอกับคน ๆ นั้น เช่น เดินผ่านที่ที่เขาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งถ้าหากมองเผิน ๆ แล้วเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของสิ่งที่เราหวัง เช่น จากตัวอย่าง ถ้าเราชอบใครแล้วเราไม่เคยทำให้เขาเห็นหน้าเลย โอกาสที่เขาจะชอบเราก็จะน้อยเต็มที
นอกจากนี้ยังมีเรื่องท่าทาง การแสดงออกของคน หลายอย่างที่ส่งผลโดยความคิดภายใน โดยที่ยากจะปกปิด เช่น สีหน้า น้ำเสียง ถ้าเรากับเพื่อนมีปัญหาขัดแย้งกัน แล้ววันต่อมาเราคาดหวังว่าเราอาจจะทะเลาะกับคนคนนี้เพราะปัญหานี้ก็ได้ เวลาเราคุยกับเพื่อนคนนี้เราอาจจะแสดงสีหน้า บึ้งตึง น้ำเสียงกระชาก จนเป็นการสร้างความโมโหให้อีกฝ่าย และต้องทะเลาะกันจริง ๆ
จากที่เล่ามาแล้ว คงเห็นถึงความสำคัญของความหวังขึ้นมาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามถึงความหวังนั้นมีผลต่อสิ่งภายนอกจริง ๆ แต่แค่ส่งผล ไม่ได้ดลบันดาลให้มันเป็นจริงไปตามทุกอย่างที่เราหวัง เพราะที่มันเป็นจริงก็เกิดจากตัวเราที่พยายาม และคนอื่นที่รับรู้ถึงความพยายามของเราเสียส่วนใหญ่
ความหวัง คงจะมีประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่แค่หวังเปล่า ๆ เพราะถ้าเราแค่หวัง เราก็จะพยายามทำอะไรให้สมหวังโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราพยายามอย่างรู้ตัวควบคู่ไปด้วย และพยายามอย่างถูกวิธี ก็เพิ่มความเป็นไปได้ว่าสิ่งที่เราหวังนั้นจะเป็นจริงได้ง่ายขึ้น
และสิ่งที่ควรจะเตือนตัวเองไว้เสมอคือ ทุกอย่างมีโอกาสผิดพลาด มีความหวัง ย่อมคู่ไปกับความผิดหวัง ความผิดหวังไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่ ๆ แต่ถ้าเราสามารถยอมรับมันได้ และไม่ทุกข์กับมันจนเกินไป เราก็จะหวังอะไรต่าง ๆ ได้อย่างสบายใจขึ้น และที่สำคัญมาก คือ หวังในสิ่งที่ดีแล้วกัน