เครื่องเคลือบชนิดนี้เป็นเครื่องเคลือบหลายสีกำเนิดขึ้นในประเทศจีน สมัยราชวงศ์ชิง ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ แต่เป็นที่นิยมกันมากในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลุง (Ch'iang Lung ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๗๙-๒๓๓๘) และรัชสมัยจักรรดิเจียชิง (Chia Ch'ing ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๓๙-๒๓๖๓) เครื่องเคลือบชนิดนี้เขียนลวดลายบนภาชนะด้วยวิธีลงยา แต่ลงพื้นบนภาชนะด้วยสีทองที่ทำจากทองคำ ก่อนเขียนลวดลายตกแต่ง ไทยสั่งทำเครื่องเคลือบลายน้ำทองโดยกำหนดรูปแบบและลวดลายส่งไปทำในจีนเช่นเดียวกับเครื่องเคลือบเบญจรงค์ ส่วนใหญ่สั่งเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗) สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีได้ทรงสั่งเครื่องเคลือบลายน้ำทองจากจีนเข้ามาใช้ในราชสำนัก มีลวดลายที่ประดิษฐ์ใหม่หลายแบบ ส่งไปให้ช่างจีนทำขึ้นในครั้งนั้น ความนิยมสั่งเครื่องเคลือบลายน้ำทองจากจีน มีมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) แต่มักนิยมให้เขียนลวดลายแบบจีน จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ความนิยมเครื่องเคลือบลายน้ำทองจึงลดลง หันไปสั่งเครื่องเคลือบลายน้ำเงินขาว (ไทยเรียกเครื่องลายคราม) เข้ามาแทนที่ ทั้งสั่งทำรูปแบบภาชนะและลวดลายตามความต้องการด้วย