ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย หมายถึง, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย คือ, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ความหมาย, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย

   แผ่นดินไหวในประเทศไทย


               ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียน (Eurasian Plate) ซึ่งล้อมรอบด้วยแผ่นเปลือกโลกอีก 2 แผ่น คือแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย (Indian-Australian Plate) และแผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Plate) ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในเขตที่ถือว่าค่อนข้างปลอดแผ่นดินไหวพอสมควร แต่จากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ ก็เคยปรากฏเหตุแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในประเทศไทยอยู่บ้างเล็กน้อย
แผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย มุดเข้าหาแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนด้วยอัตรา 70 มิลลิเมตรต่อปี


           

ความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว
               กรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย โดยแบ่งเป็นกลุ่มรอยเลื่อน 14 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด (มีนาคม 2555)


          

 

                               ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในประเทศไทย
               รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
               ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
                         หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

               “รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ย้ำว่าภูเก็ตไม่จมทะเลง่ายๆ เนื่องจากตั้งอยู่บนฐานหินแข็งอายุกว่า100 ล้านปี ซึ่งรองรับแผ่นดินไหวได้มาก ส่วนเหตุแผ่นดินไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อกที่ดูเหมือนเกิดขึ้นบ่อยนั้นเป็นปรากฏการณ์ปกติหลังแผ่นดินไหว เพียงแต่เกิดบริเวณเปลือกโลกที่ค่อนข้างตื้นจึงรับรู้ได้มาก
               โดยก่อนหน้านี้รอยเลื่อนในประเทศไทยที่ได้รับความสนใจที่สุดคือรอยเลื่อนแม่จันที่พาดผ่านเชียงรายและเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังมากที่สุดและเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จากรอยเลื่อนละแวกใกล้เคียงแล้วคือรอยเลื่อนในมณฑลยูนนานของจีนที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี2552 และรอยเลื่อนน้ำมาในลาวและพม่าที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี2554 ที่ผ่านมา แต่รอยเลื่อนแม่จันยังไม่ขยับและกำลังสะสมพลังงานอยู่ ซึ่งเมื่อ1,000 กว่าปีที่แล้วเคยแผลงฤทธิ์ และทำให้นครโยนกในอดีตต้องล่มสลาย ซึ่งมีการบันทึกไว้ในพงศาวดาร
               อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่ภูเก็ตทำให้รอยเลื่อน2 แห่งในภาคใต้คือ รอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยได้รับความสนใจมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ว่ามีแนวรอยเลื่อนใหม่ที่ยังไม่รู้จักซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณีกำลังส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ แต่สิ่งที่ รศ.ดร.ปัญญาห่วงอยู่ตอนนี้คือการสะสมพลังงานของรอยเลื่อนทั้งสองแห่งซึ่งตอนนี้ยังไม่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นบนบก
               จากหลักฐานทางธรณีวิทยาระบุว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวบนบก 6-7 ริกเตอร์จากรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยเมื่อ2,000 ปีที่แล้วและ 4,000 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้ "ใกล้คาบอุบัติซ้ำ" ของการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แล้ว แต่ยังไม่มีแผ่นดินไหวใหญ่เกิดขึ้น ซึ่ง รศ.ดร.ปัญญากล่าวว่าไม่ชอบนัก เพราะแสดงให้เห็นว่ารอยเลื่อนกำลังสะสมพลังงานอยู่และไม่รู้ว่าปลดปล่อยออกมาเมื่อไหร่ซึ่งไม่มีใครระบุได้”

               “รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต แม้จะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก และไม่สามารถทำให้เกาะภูเก็ตจมได้ตามคำทำนายหรือข่าวลือต่าง ๆ แต่นักวิชาการไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยหันมาให้วามสนใจกับรอยเลื่อนในภาคใต้มากขึ้น
               รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญากล่าวต่อว่า จากการศึกษาพบว่ารอยเลื่อนที่ควรระวังหรือเฝ้าจับตา นอกจากรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่พาดผ่านภาคเหนือของไทยบริเวณ จ.เชียงราย และอยู่ระหว่างการสะสมพลังแล้วนั้น ในภาคใต้ยังมีรอยเลื่อนที่น่าจับตาคือ "รอยเลื่อนระนอง" ซึ่งถือเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังนอกชายฝั่ง สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5-6 ริคเตอร์ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตรวจพบว่าทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บนพื้นดิน จะมีแต่การเกิดนอกชายฝั่งหรือในทะเลและจัดเป็นแผ่นดินไหวในแบบที่ไม่ทำให้เกิดสึนามิได้
               รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา ระบุอีกว่า ดังนั้นจุดที่น่าเป็นห่วงคือรอยเลื่อนระนอง ที่อยู่ในส่วนของพื้นดินที่คาดกันว่าอยู่ระหว่างการสะสมพลัง ทั้งนี้เคยมีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า รอยเลื่อนในภาคใต้อย่างเช่น รอยเลื่อนระนอง หรือรอยเลื่อนคลองมะลุ่ย เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวบนพื้นดินขนาด 6-7 ริคเตอร์เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ดังนั้นการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บนพื้นดินจากรอยเลื่อนดังกล่าว จึงอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้นับจากวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดการณ์หรือบอกล่วงหน้าได้”

               ศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาฯ
               ที่มา:  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

               “ศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาฯ เปิดเผยว่า กรณีแผ่นดินไหวในฝั่งอันดามันและที่เกาะภูเก็ต ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสข่าวลือต่าง ๆ นักวิชาการจึงจำเป็นต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ทั้งนี้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา หลายคนคาดว่าเป็นผลมาจากแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ 9.1 ริคเตอร์เมื่อปี 2547 รวมถึงส่งผลต่อการเกิดแผ่นดินไหวที่บ่อยและรุนแรงมากขึ้นนั้น เนื่องจากรอยเลื่อนต่าง ๆ อยู่ห่างจากกันมากกว่า 100 กิโลเมตร ดังนั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันและมีโอกาสเกิดจากผลกระทบนี้น้อยมาก อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป ส่วนการที่จะทำให้รอยเลื่อนในประเทศไทยมุดตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีการเลื่อนตัวในแนวราบเป็นหลัก
               ศาสตราจารย์ ดร.ปณิธานระบุต่อว่า สำหรับกรณีแผ่นดินไหวที่เกาะภูเก็ต สามารถยืนยันได้ว่าไม่จมอย่างแน่นอน เพราะเกิดจากรอยเลื่อนขนาดเล็ก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดการขยับในรูปแบบใด และรอยเลื่อนเป็นไปในลักษณะไหน เพราะส่วนใหญ่รอยเลื่อนที่พาดผ่าน จ.ภูเก็ต มักจะเป็นรอยเลื่อนที่ตายแล้วหรือไหวตัวครั้งสุดท้ายเมื่อ 10,000 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการเกิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะเกิดในหินแข็งที่มีอายุมากกว่า 100 ล้านปี หากจะส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นจม ต้องมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากกว่า 9 ริคเตอร์ซึ่งเป็นไปได้ยาก และเกาะภูเก็ตไม่ได้อยู่ในแนวมุดตัวของโลกด้วย ส่วนการจมหรือทรุดตัวของภูเก็ตในปัจจุบัน ที่พบว่ามีประมาณ 1 ซม.ต่อปีนั้นถือเป็นเรื่องปกติทางธรณีวิทยา ที่พื้นดินจะมีการแกว่งตัว ดีดขึ้นลงตามคาบเวลาต่าง ๆ
               ศาสตราจารย์ ดร.ปณิธานกล่าวอีกว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งแผ่นดินไหวที่จะมีผลถึงขั้นทำให้อาคารถล่ม จะต้องมีความรุนแรงขนาด 5.5 ริคเตอร์ขึ้นไปและมีปัจจัยต่าง ๆ สนับสนุน ที่ผ่านมาในประเทศไทยพบเหตุการณ์ดังกล่าวได้น้อยมาก หากขนาดแผ่นดินไหวน้อยกว่า 5 ริคเตอร์ เช่นที่ภูเก็ต อาคารจะสามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้โดยไม่พังทลาย หรือเป็นอันตรายต่อโครงสร้างหลัก ยกเว้นอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้กรมทรัพยากรธรณี ควรเร่งการจัดทำแผนที่รอยเลื่อนที่มีพลังของไทย โดยแยกเป็นรายจังหวัด เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

               รศ.ดร.อมร พิมานมาศ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรม โครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
               ที่มา: จดหมายข่าว IPRB ฉบับที่ 24 เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2554

               1. ทุกวันนี้แผ่นดินไหวทั่วโลกเกิดถี่ขี้นจริงหรือไม่?
                    หากดูจากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกย้อนหลังไป 10 ปี จะพบว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั่วโลกนับพันครั้งต่อวัน แผ่นดินไหวบางครั้งมีขนาดเล็กไม่เกิน 2-3 ริกเตอร์ คนไม่รู้สึกแต่สามารถตรวจวัดโดยใช้เครื่องมือ แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือนมักมีขนาดเกิน 5 ริกเตอร์ขึ้นไปและเกิดในที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก ซึ่งตามสถิติแล้ว แผ่นดินไหวขนาด 5.0-5.9 ริกเตอร์จะเกิดขึ้นประมาณ 1,500 ครั้งต่อปี ขนาด 6.0-6.9 ริกเตอร์เกิดขึ้นประมาณ 150 ครั้งต่อปี ขนาด 7.0-7.9 ริกเตอร์เกิดขึ้นประมาณ 15 ครั้งต่อปี และขนาด 8.0 ริกเตอร์ขึ้นไปเกิดขึ้นประมาณ 1 ครั้งต่อปี ซึ่งถ้าดูตามสถิตินี้แล้วก็ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวจะมีความถี่มากขึ้นผิดปกติแต่อย่างใด
               2. สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?
                    สำหรับประเทศไทยนั้นมีรอยเลื่อนที่มีศักยภาพที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่หลายที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ อย่างไรก็ตาม ศักยภาพที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนในประเทศไทยนั้นยังไม่รุนแรงเท่ากับบริเวณพื้นที่ที่เป็นรอยต่อของเปลือกโลกหรือวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งจากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่ผ่านมาเกือบ 40 ปีเรามีแผ่นดินไหวขนาดกลาง (5.0-5.9 ริกเตอร์) เกิดขึ้น 8 ครั้ง หรือเฉลี่ย 1 ครั้งในรอบ 5 ปี แบ่งเป็นภาคเหนือ 5 ครั้ง ภาคตะวันตก 3 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบ้านเราส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 6.0 ริกเตอร์ แผ่นดินไหวที่มีขนาดมากกว่า 6.0 ริกเตอร์จะเกิดนอกประเทศทั้งนั้น แต่แม้แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นในระยะไกล เช่น เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย พม่า ทว่าในพื้นที่ที่เป็นชั้นดินอ่อนที่อยู่ห่างไกลจากจุดเกิดแผ่นดินไหว เช่น กรุงเทพฯ ก็สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน
               3. มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดอันตรายจากแผ่นดินไหว?
               ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายจากแผ่นดินไหว ได้แก่ 
                    1.พื้นที่นั้นอยู่ใกล้ๆ รอยต่อของเปลือกโลกหรือวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) หรือรอยเลื่อนที่มีศักยภาพที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวหรือไม่ 
                    2.พื้นที่นั้นตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนหรือไม่ 
                    3.โครงสร้างของอาคารบ้านเรือนในพื้นที่นั้นออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวหรือไม่ ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดกลางหากเกิดขึ้นก็ทำอันตรายได้ถ้าเกิดขึ้นในที่ชุมชนที่มีอาคารบ้านเรือนตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน และอาคารบ้านเรือนในพื้นที่นั้นไม่ได้ออกแบบเพื่อป้องกันภัยแผ่นดินไหว
                    4. พื้นที่และบริเวณใดบ้างในประเทศไทยที่ถือว่าเป็นที่ที่ต้องเฝ้าระวังภัยแผ่นดินไหว?
                         สำหรับพื้นที่และบริเวณเฝ้าระวังภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทยเรามีดังนี้ คือ 
                         1.พื้นที่หรือบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี 
                         2.พื้นที่หรือบริเวณที่เป็นดินอ่อนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 
                         3.พื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
                    5. อาคารใดบ้างในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว?
                         อาคารที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่
                         1. ตึกแถวที่มีเสาขนาดเล็กเกินไปและมีคานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอาคารสูงไม่เกิน 4-5 ชั้น
                         2. อาคารพื้นท้องเรียบไร้คานรองรับ เช่น อาคารจอดรถ อาคารสำนักงานบางแห่ง
                         3. อาคารสูงที่มีดีไซน์แปลกๆ รูปทรงซับซ้อน มีส่วนเว้า ส่วนโค้ง ส่วนยื่น หรือลูกเล่นมากๆ
                         4. อาคารหรือบ้านเดี่ยวที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป เช่น ใช้คาน หรือเสาสำเร็จรูปมาต่อกัน
                         5. อาคารที่ทำการต่อเติมและทำทางเดินเชื่อมต่อกัน
                         6. อาคารที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น อาคารทำจากอิฐไม่เสริมเหล็ก
                         7. อาคารที่อยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตกของประเทศไทย มีความเสี่ยงทุกความสูง ส่วนอาคารในกรุงเทพฯ ที่มีความสูงตั้งแต่ 5-6 ชั้น และอาคารเตี้ยที่ก่อสร้างไม่ดี ไม่มีมาตรฐาน ถือว่ามีความเสี่ยง
                         อาคารที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมาหลังจากที่มีกฎกระทรวงปี พ.ศ. 2550 (กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550) ออกมา หากออกแบบและก่อสร้างอาคารตามกฎหมายนี้ก็จะทำให้อาคารมีความปลอดภัย แต่สำหรับอาคารเก่าจำนวนมากที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว อาคารเหล่านี้ก็จะมีความเสี่ยงและควรต้องมีการวิเคราะห์และหาวิธีเสริมความมั่นคงให้อาคารสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ในระดับเดียวกับอาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ตามกฎกระทรวง”

แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย หมายถึง, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย คือ, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ความหมาย, แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu