อาณาจักรหริภุญชัย หรือลำพูน อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีเมืองหริภุญชัยเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรแห่งนี้ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเตาเผาของอาณาจักรหริภุญชัย พบแหล่งผลิต ๒ แหล่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำพูน นอกตัวเมืองลำพูนโบราณ คือที่บ้านศรีย้อย ตำบลต้นธง และที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง
เครื่องปั้นแบบหริภุญชัยเป็นเครื่องปั้นเนื้อดินส่วนใหญ่มีเนื้อหยาบสีค่อนข้างขาวไปจนถึงสีส้มส่วนใหญ่มีภาชนะรูปหม้อมีเชิง กุณโฑ จานก้นลึก พาน ตะคัน การตกแต่งตัวภาชนะประเภทที่เป็นกุณโฑ และหม้อมีเชิง มักเขียนลายเส้นสีแดงวนรอบบริเวณที่เป็นคอ บ่า และเชิงภาชนะ ประกอบกับลายขุดเป็นร่องคล้ายรูปสามเหลี่ยม และลายคล้ายคมมีดสับบนสันของตัวภาชนะ
หม้อก้นแบน ปากแคบยาว ขอบปากผายออก เป็นลักษณะเฉพาะของเครื่องปั้นหริภุญชัยภาชนะชนิดนี้มักมีสีนวลเนื่องจากการทาน้ำดินที่ตัวภาชนะ ที่คอมีเส้นนูนเพื่อก้นลื่น เส้นนูนนี้มีอยู่ที่สันของภาชนะเช่นเดียวกัน บางครั้งก็มีหลายเส้น มีการตกแต่งตัวภาชนะด้วยลายกดเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือลายขูดขีดตามแต่จะเห็นสมควรใต้เส้นนูนดังกล่าวแล้วมีลายสามเหลี่ยมขีดเป็นร่องลึก ยอดของสามเหลี่ยมอยู่ที่ขอบก้นหม้อลายนี้มีเป็นระยะจนรอบหม้อ มีทั้งที่ขีดลึกลงไปในเนื้อภาชนะ หรือเขียนด้วยเส้นสีแดง เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเครื่องปั้นหริภุญชัย
จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของเครื่องปั้นหริภุญชัยที่มีลักษณะเฉพาะ มีความคล้ายคลึงกับเครื่องปั้นในภาคกลางของพม่าด้วย