ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม หมายถึง, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม คือ, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม ความหมาย, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม

          ในอดีตเชื่อกันว่าหากระบายมลพิษในระดับสูงเพื่ออาศัยให้ลมและสภาพอากาศ ช่วยชักพาสารจนกระจายตัวได้ดีแล้ว ย่อมไม่เกิดอันตรายแต่บัดนี้พบว่ามลพิษพ้นจากบริเวณที่ผลิต แต่กลับไปเกิดขึ้นบริเวณไกลจากต้นเหตุ ดังเช่นปรากฏหลักฐานในเรื่องฝนกรดข้ามพรมแดน เป็นต้นดังนั้นจึงต้องควบคุมมลพิษที่ต้นกำเนิดและอาศัยหลักการ ๓ ประการ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นคือ การใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด การควบคุมเครื่องจักรอุปกรณ์และกรรมวิธีให้ผลิตสารมลพิษน้อยลงและการลดมลพิษด้วยกระบวนการต่างๆ ก่อนออกสู่บรรยากาศ

          การอุตสาหกรรมอาจใช้เชื้อเพลิงแตกต่างกันนับตั้งแต่ลิกไนต์ ถ่านหิน น้ำมันเตาหรือก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้นผลของการเผาไหม้จึงขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงเป็นเบื้องต้น เชื้อเพลิงซึ่งสกปรกหรือมีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์มาก ย่อมก่อให้เกิดมลพิษมากกว่าเชื้อเพลิงซึ่งจัดว่าสะอาด เชื้อเพลิงประเภทหลังนี้ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

          การดัดแปลงกระบวนการผลิตนั้นอาจช่วยลดมลพิษได้ เช่น โรงผลิตปูนซีเมนต์ในบริเวณจังหวัดสระบุรีเปลี่ยนวิธีการเป็นแบบแห้งแทนแบบเปียกดังที่เคยใช้ในโรงผลิตที่บริเวณบางซื่อ ทำให้ลดฝุ่นละอองลงไปได้ หม้อน้ำในโรงงานมีการปรับเปลี่ยนลักษณะวิธีการป้อนเชื้อเพลิง เช่นป้อนลิกไนต์เหนือเตาหรือใต้เตา ตลอดจนการปรับปริมาณอากาศให้พอเหมาะ เหล่านี้เป็นวิธีการสำคัญในการควบคุมมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น

          อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสารมลพิษขึ้นแล้วในบั้นปลายจึงต้องมีกรรมวิธีเก็บกักเอาไว้ ทั้งนี้อาจแบ่งการควบคุมออกตามประเภทของสารมลพิษ คือ ฝุ่นละออง และก๊าซต่างๆ เช่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และไซลีน เป็นต้น          การควบคุมมลพิษที่เป็นก๊าซอาจใช้การดูดซึมการดูดซับ หรืออาศัยปฏิกิริยาทางเคมีที่เหมาะสมการดูดซึมมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องจับฝุ่นแบบเปียก เพราะอาศัยการฟุ้งกระจายของก๊าซและของเหลว เพื่อให้ผสมผสานกันเป็นอย่างดี

          การดูดซับนั้นมีหลักการเดียวกันกับการวางถ่านไม้ไว้เพื่อดูดกลิ่น ตัวดูดซับเป็นของแข็งพรุนเพื่อให้ผิวสัมผัสกับก๊าซได้มาก แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของตัวดูดซับจะเหลือใช้ตรงบริเวณผิวจึงใช้แรงนี้ดูดก๊าซเอาไว้ แล้วเอาไปล้างด้วยวิธีการง่ายๆ เพื่อนำเอาตัวดูดซับกลับมาใช้ใหม่ คาร์บอนกัมมันต์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นิยมใช้สำหรับแยกสารทำละลาย เช่น ทินเนอร์ ไซลีน ฯลฯ ในห้องปฏิบัติการมีอุปกรณ์สำหรับดูดความชื้น สารเคมีซึ่งบรรจุไว้ในนั้นคือซิลิกาเจลเช่นเดียวกันกับในสินค้าบางชนิด เช่น สาหร่ายแบบแผ่นมีการบรรจุ ตัวดูดซับไว้ในกล่องหรือซองด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาสินค้าให้คงความกรอบไว้ได้นาน

          การควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น นอกจากจะใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดแล้ว อาจแยกซัลเฟอร์ออกจากเชื้อเพลิงก่อนหรือใช้กระบวนการต่างๆ ในท้ายที่สุดได้ ถ่านหินโดยทั่วไปมีซัลเฟอร์อยู่ประมาณร้อยละ ๒-๗ ซัลเฟอร์มีอยู่ ๓ รูปคือ ไพไรต์ สารประกอบอินทรีย์และซัลเฟตไพไรต์แยกออกจากถ่านหินได้ด้วยวิธีการทางกายภาพ แต่การแยกซัลเฟอร์ในรูปสารประกอบอินทรีย์ต้องใช้กรรมวิธีทางเคมี อาจแยกซัลเฟอร์ออกจากน้ำมันเชื้อเพลิงได้ด้วยการอาศัยปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจนที่ความดันสูงในขณะที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาอยู่ การกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในขั้นสุดท้ายก่อนระบายออกสู่บรรยากาศนั้น อาศัย หลักการทางเคมีหรือการดูดซับ  สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ ด่างต่างๆ เช่น ปูนขาว  ออกไซด์ของแมกนีเซียม และตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น สารประกอบวาเนเดียม ไม่เช่นนั้นก็อาจเผาทิ้งที่อุณหภูมิสูงแล้วใช้น้ำจับในภายหลัง

          การควบคุมก๊าซไนโตรเจนออกไซด์มีหลักการคล้ายคลึงกับการควบคุมก๊าซประเภทนี้ในเครื่องของยานยนต์ทุกประการ กล่าวคือ ควบคุมสัดส่วนระหว่างอากาศกับเชื้อเพลิงให้เหมาะพอดี หรือควบคุมให้สัดส่วนนี้แยกออกเป็นสองส่วนคือ ใช้เชื้อเพลิงมากในขั้นต้นแล้วลดน้อยลงในลำดับต่อไป นอกจากนั้นหลักการลดอุณหภูมิในระหว่างการเผาไหม้ก็ยังใช้ได้อีกเช่นเดียวกันกล่าวคือ นำก๊าซซึ่งเกิดจากการสันดาป หมุนเวียนกลับเข้ามาป้อนในการเผาไหม้ ในท้ายที่สุดหากมีก๊าซเหลือตกค้างอยู่ ก็อาจนำมากำจัดด้วยวิธีการทางเคมีหรือกายภาพอีกต่อไป

          ในขณะที่การสัญจรไปมาในเมืองใหญ่ๆทำให้เกิดมลพิษทางอากาศขึ้นอย่างชัดเจน ชาวเมืองหลายคนก็ได้รับพิษภัยจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นจึงต้องจัดระเบียบของเมืองเพื่อให้บ้านอยู่ไกลโรงงาน ส่วนชาวบ้านในชนบทนั้นผจญกับภาวะมลพิษทางอากาศ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  หรือกลิ่นและควันจากโรงงานอุตสาหกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการเกษตรกรรม การเลี้ยงปศุสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟาร์มเลี้ยงหมู โรงสีข้าว โรงโม่หิน และโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม หมายถึง, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม คือ, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม ความหมาย, การควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu