พังพอนกับงูคู่อาฆาตจริงหรือ ??
ทำไมพังพอนกับงูจึงไม่ถูกกัน ไม่ลงชื่อ กรุงเทพฯ
ทำไมพังพอนกับงูจึงไม่ถูกกัน ไม่ลงชื่อ กรุงเทพฯ
อาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ให้ความกระจ่างว่า นิทานเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า และการแสดงปาหี่ของนักเล่นกล ทำให้เกิดความเชื่อที่ผิด ๆ ว่า พังพอนและงูเห่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันและพังพอนชอบกินงูเห่าเป็นอาหาร ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริงเท่าใดนัก พังพอนเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดเล็ก มีจำนวนทังสิ้น ๓๑ ชนิดพบอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย ศรีลังกาและบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาพังพอนเข้าไปในหมู่เกาะอินดิสตะวันตก ฟิจิ และหมู่เกาะฮาวาย ในประเทศไทยมีพังพอน ๒ ชนิด คือ พังพอนเล็ก และพังพอนใหญ่ ลำตัวของพังพอนมีขนยาวและหยาบปกคลุมส่วนใหญ่เป็นขนสีน้ำตาลหรือสีเทา บางชนิดมีลายสีดำพาด ขวางหรือพาดตามความยาวของลำตัว สีขนของพังพอนจะแตกต่างกันไปตามชนิด และในชนิดเดียวกันยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นดินที่อาศัย ที่อยู่อาศัยของพังพอนมีตั้งแต่ป่าทึบ ทุ่งหญ้า และในทะเลทราย ปกติพังพอนจะหากินอยู่บนพื้นดิน ชนิดที่อยู่เดี่ยวจะออกหากินในเวลากลางคืน ชนิดที่อยู่รวมกันเป็นฝูงจะออกหากินในเวลากลางวัน เนื่องจากพังพอนมีฟันที่แหลมคม ๓๔-๔๐ ซี่ จึงเหมาะสมต่อการจับเหยื่อ ซึ่งนอกจากจะเป็นงูชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังรวมถึงสัตว์ขนาดเล็กทุกอย่างที่หาได้ ตั้งแต่สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก แมลง แมงมุม แมงป่อง ฯลฯ และแม้แต่ผลไม้พังพอนอาศัยความว่องไวในการโจมตีงูพิษ โดยหลอกล่อจนงูเหนื่อยก่อน แล้วจึงกระโจนเข้ากัดบริเวณลำคอ ถึงแม้พังพอนจะมีภูมิคุ้มกันพิษงูต่าง ๆ อยู่บ้าง แต่หากถูกกัดอย่างจังก็อาจถึงแก่ความตายได้ “ ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี ”
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!