ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ปฏิทิน, ปฏิทิน หมายถึง, ปฏิทิน คือ, ปฏิทิน ความหมาย, ปฏิทิน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ปฏิทิน

          ปฏิทิน เป็นเครื่องช่วยนับวัน และจัดระเบียบ หน่วยเวลา หน่วยเหล่านี้โดยทั่วไปมาจากวงรอบทางดาราศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอในธรรมชาติ
          วัน  มาจากการหมุนของโลกรอบแกนใน ๒๔ชั่วโมง เดือน มาจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ไปรอบโลก  สัปดาห์ อาจมาจากดวงจันทร์ แต่ปีมาจากการเคลื่อนที่ของโลกไปรอบดวงอาทิตย์ การวัดเวลานานของรอบต่างๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายแต่การจัดระเบียบให้มีระบบวัดเวลาเป็นเรื่องต้องใช้ความคิดกันมาทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในเวลานี้เราก็ยังไม่มีปฏิทินที่แม่นยำแท้ทีเดียว ปฏิทินที่เรามีใช้อยู่เวลานี้ เป็นแต่เพียงดีพอสำหรับความต้องการของเรา
         ได้มีการแก้ไขปฏิทินกันหลายครั้ง เป็นเพราะรอบดาราศาสตร์ ซึ่งใช้กำหนดวัน เดือน ปี ไม่ได้จังหวะลงตัว ปีนับจากการที่โลกเคลื่อนที่ไปรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบนานประมาณ ๓๖๕ ๔ วัน เดือนนับจากเวลาที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปรอบโลกหนึ่งรอบ  นานประมาณ ๒๙ ๒ วันเศษ ดังนั้นปีหนึ่งจึงไม่เท่ากับ๑๒ เดือน ซึ่งแบ่งไว้ให้เท่าๆ กัน แต่ไปเท่ากับประมาณ ๑๒ ๓ เดือนต่อมาไม่นาน เดือนที่นับจากดวงจันทร์และปีที่นับจากดวงอาทิตย์ ก็มีการเหลื่อมล้ำกันปฏิทินซึ่งให้เดือนหนึ่งเท่ากับ ๓๐ วัน จึงต้องมีการแก้เป็นครั้งคราว เปรียบได้กับมีรถ ๒ คัน คันหนึ่งเป็นรถวิ่งช้า อีกคันหนึ่งเป็นรถวิ่งเร็ว วิ่งไปตามทางกลมทั้ง ๒ คัน รถช้าจะทำเวลาได้หนึ่งรอบ (หนึ่งปี) รถเร็วจะไปได้ ๑๒.๓๗ รอบ (เดือนของดวงจันทร์)รถเร็วจะผ่านรถช้าที่จุดต่างๆ ที่รอบทางนั้น เมื่อรถช้าแล่นไปได้ ๑๙ รอบ รถเร็วจะผ่านรถช้าเกือบจะเป็นจุดเดียวกัน เมื่อเวลาเริ่มออกรถพร้อมๆ กันแล้วรอบของการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ก็จะตั้งต้นใหม่
         ในสมัยบาบิโลเนีย (Babylonia) ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวบาบิลอน (Babylonian) ได้ประดิษฐ์ปฏิทิน อาศัยหลักคาบ เวลาระหว่างดวงจันทร์วันเพ็ญ เฉลี่ยนาน ๒๙ ๒ วัน และแบ่งปีออกเป็น ๑๒ เดือน ทางจันทรคตินานรวม ๓๕๔ วัน ซึ่งสั้นกว่าสุริยคติประมาณ ๑๑ วัน ต่อมาอีกไม่นาน พิธีซึ่งเขากำหนดไว้ เช่น พิธีที่เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวข้าวก็ตกในฤดูที่ไม่ตรง พระจึงได้แก้ไขปฏิทินโดยเพิ่มจำนวนวันหรือเดือนขึ้นให้ตรงกับวงรอบทางดาราศาสตร์ เพื่อให้ตรงกับธรรมชาติ ขั้นแรกเพิ่มจำนวนเดือนขึ้น ตามแต่พระจะเห็นชอบแล้วภายหลังเพิ่ม ๗ เดือน แบ่งกระจายในคาบ ๑๙ ปี เพื่อให้เดือนและปีได้ครบรอบธรรมชาติ
          หน่วยเวลาตามสุริยคติซึ่งนับเป็นวัน แบ่งย่อยออกเป็นชั่วโมง และวินาที วัดความนานของเวลาเป็นวันๆ สำหรับเวลานานกว่าวัน  ย่อมต้องมีการเกี่ยวข้องกับฤดูกาล เมื่อฤดูกาลกำหนดโดยตำแหน่งแกนโลกนับเนื่องจาก ดวงอาทิตย์  และดวงอาทิตย์ก็กำหนดตำแหน่งที่ของจักรราศีเมษ (vernal equinox) หน่วยเวลานานที่ใช้จึงเป็นปี  ซึ่งเป็นอันตรภาคเวลาระหว่างเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ถึงจุดตั้งต้นจักรราศีเมษได้บรรจบครบรอบ ปีชนิดนี้นาน ๓๖๕.๒๔๑๙ วัน เวลาสุริยคติปานกลาง ยังมีเศษทศนิยมต่อไปอีกมากมายหลายตัว กำหนดค่าเป็นจำนวนเลขลงตัพอดีไม่ได้  เป็นเหตุให้การวัดหน่วยเวลายุ่งยากกว่าการวัดอื่นๆ เช่น ระยะยาว น้ำหนัก หรือค่าของหน่วยใหญ่ๆ ซึ่งนิยามกำหนดไว้แน่นอนว่ามีจำนวนเล็กกว่าเท่าใด เช่น ๑ ฟุตมี ๑๒ นิ้ว และ ๑ บาท มี ๑๐๐ สตางค์
         เวลาสุริยคติปานกลาง เป็นเวลากำหนดจากดวงอาทิตย์ สมมุติขึ้นให้เคลื่อนที่ไปตามเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าด้วยความเร็วเชิงมุม ซึ่งกำหนดให้เท่ากับที่ดวงอาทิตย์ปรากฏเคลื่อนที่ไปตามสุริยวิถี (ecliptic)ถึงรอบที่ราศีเมษพร้อมกัน ปฏิทินที่ใช้กันในประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา มีชื่อว่า ปฏิทินเกรกอเรียนได้ชื่อจาก  สันตะปาปาเกรกอรีที่ ๑๓ (Gregory XIII)เป็นปฏิทินทางการของนิกายโรมันคาทอลิกตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๘๒ ปฏิทินนี้ใช้แทนปฏิทินจูเลียน (Julian calendar)ซึ่งจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ได้นำมาใช้ที่กรุงโรมเป็นครั้งแรก
          ในสมัยแรกๆ ของกรุงโรม ชาวโรมันใช้ปฏิทินนับเนื่องจากดวงจันทร์ ปีหนึ่งมี ๑๐ เดือน ใช้เพิ่มวันขึ้นตามความเหมาะสมให้ตรงกันฤดูกาลเป็นครั้งคราวถึงแม้ว่าในศตวรรษที่ ๘ ก่อนคริสต์ศักราช ได้เปลี่ยนให้ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน ชื่อเดือน ๔ เดือนสุดท้ายยังคงใช้กันต่อมาจนบัดนี้คือ กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งมีความหมายในภาษาละตินเป็น เดือนที่ ๗, ๘, ๙ และ ๑๐ ตามลำดับ
          ต่อมาในสมัยจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเป็นนักการเมือง นักประวัติศาสตร์ และแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและมีอำนาจ  ปรากฏว่าปฏิทินโรมันอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง คลาดเคลื่อนกับฤดูกาลกว่าสองเดือน โดยการแนะนำของนักดาราศาสตร์กรีก-อียิปต์ ชื่อ โซซิเจเนส (So-sigenes) จูเลียส ซีซาร์จึงได้สั่งเปลี่ยนแปลงปฏิทินให้ปีที่ ๔๖ ก่อนคริสต์ศักราชมี ๔๔๕ วัน และเพิ่มวัน  ๒๓ วัน ที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มวัน ๖๗ วันระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม จึงนับเป็นปีที่มีความสับสน  นอกจากนี้ จูเลียส ซีซาร์ ยังสั่งให้เพิ่มวันในเดือนกุมภาพันธ์ทุกสี่ปีให้เป็นปีที่ ๓๖๖ วันซึ่งเราเรียกกันว่า ปีอธิกสุรทิน  ทั้งนี้เพื่อให้คงสภาพตามฤดูกาลไปได้นาน การเปลี่ยนตามเกณฑ์จะเหมาะสมดี ถ้าปีตามศัพท์นิยามมี ๓๖๔.๒๕ วันซึ่งใน ๔ ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑ วันพอดี แต่ตามความเป็นจริงปีหนึ่งนานน้อยกว่า  ๓๖๕.๒๕ เกือบ .๐๐๘ของวัน ดังนั้นในหนึ่งพันปี  ปฏิทินจูเลียนจะคลาดเคลื่อนไปเกือบ ๘ วัน
          ใน ค.ศ. ๑๕๘๒ ความคลาดเคลื่อน ได้สะสมมากขึ้นเป็น ๑๓ วัน ภายหลังได้มีการประชุมปรึกษาเป็นเวลานานในหมู่นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักฟิสิกส์มีชื่อหลายคน สันตะปาปาเกรกอรีได้  สั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงการคิดเวลาปฏิทินใหม่ ให้นับเวลาจุดตั้งต้นจักรราศีเมษเหมือนใน ค.ศ. ๓๒๕  แต่ไม่ให้เปลี่ยนปฏิทินกลับไปถึงสมัยของจูเลียส ซีซาร์๔๕ ปีก่อนคริสต์ศักราช ดังนั้นจึงต้องตัดวันนับตามปฏิทินและกำหนดไม่ให้ปีศตวรรษซึ่งหารด้วย ๔๐๐ไม่ได้ลงตัวเป็นปีอธิกสุรทิน เช่น ค.ศ.๒๐๐๐ เป็นปีอธิกสุรทิน แต่ปี ๑๗๐๐, ๑๘๐๐ และ ๑๙๐๐ ไม่เป็นอธิกสุรทินใน ๔๐๐ ปี ปฏิทินจูเลียนมีปีอธิกสุรทิน ๑๐๐ ปี แต่ปฏิทินเกรกอเรียนมีปีอธิกสุรทินเพียง ๙๗  ปี ความคลาดเคลื่อนในปฏิทินเกรกอเรียนจะมีเพียงภายใน ๑ วันใน ๓,๓๒๓ ปี
          การเปลี่ยนแปลงไปใช้ปฏิทินเกรกอเรียน คงใช้กันในที่ซึ่งสันตะปาปามีอำนาจ ยังไม่ได้ใช้ที่อื่นทั่วไปพร้อมกัน  อังกฤษและอาณานิคมเริ่มใช้ในค.ศ. ๑๗๕๒ รุสเซีย กรีซ และประเทศอื่นๆ ซึ่งถือนิกายออร์ทอดอกซ์ (orthodox) ยังคงใช้ปฏิทินจูเลียนจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๓ และเขาใช้ระบบคำนวณปีอธิกสุรทินซึ่งแม่นยำดีกว่าที่ใช้ในปฏิทินเกรกอเรียน กล่าวคือ จะเป็นปีอธิกสุรทินก็ต่อเมื่อปีศตวรรษหารด้วย ๙ ได้เศษ ๒ หรือ ๖ เท่านั้น เฉลี่ยความนานของปีตามระบบนี้  ได้ค่าเฉลี่ยแล้วใกล้เคียงกับความนานของปีภายใน ๓ วินาที ส่วนปีตามปฏิทินเกรกอเรียนเฉลี่ยแล้วมีความคลาดเคลื่อนประมาณ ๒๔  วินาทีปฏิทินระบบนิกายออร์ทอดอกซ์กับของเกรกอเรียนจะลงรอยกัน จนถึง ค.ศ. ๒๘๐๐ เวลานั้นจะมีความต่างกัน ๑ วัน ปีเกรกอเรียนเป็นปีอธิกสุรทิน แต่ปีในระบบของออร์ทอดอกซ์เป็นปีธรรมดา
         ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ถือคริสต์ศาสนา ต่างก็มีปฏิทินของเขา เช่นปฏิทินของยิว และโมฮัมเมดาน (Mohammedan) ใช้หลักจากเดือนจันทรคติและนับปีจากวันสำคัญทางประวัติศาสตร์
         สำหรับประเทศไทย นับทางจันทรคติ ตั้งต้นปีใหม่ที่เดือนห้า ขึ้นหนึ่งค่ำ และเรียงลำดับเดือนต่อไปเป็นเดือนหก เจ็ด แปด เก้า สิบ สิบเอ็ด สิบสองแล้วติดตามด้วยเดือนอ้าย เดือนยี่  เดือนสาม และเดือนสี่ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บัญญัติให้ใช้เดือนทางสุริยคติตามแบบสากล จึงได้ใช้ชื่อทั้งสิบสองราศีมาตั้ง เช่น เมษายน หมายความว่า ดวงอาทิตย์ได้มาอยู่ในราศีเมษ (มีรูปดาวนักษัตรประจำราศีเป็นรูปแกะ) และพฤษภาคม ดวงอาทิตย์ได้มาอยู่ในราศีพฤษภ (รูปโค) เป็นต้น ลำดับต่อไปตามนักษัตรประจำราศี ปีใหม่ตั้งต้นเดือนเมษายน
          ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางราชการได้เปลี่ยนให้ใช้ปีใหม่ ตั้งต้นด้วยเดือนมกราคม

          ปฏิทินซึ่งใช้กันเป็นทางการทั่วไปปัจจุบันนี้ ง่ายและมีความละเอียดพอสำหรับความต้องการ แต่มีข้อสังเกตในความยาวของเดือนไม่เท่ากัน และจำนวนสัปดาห์ในเดือนหนึ่งๆ หรือในปีหนึ่ง ก็ไม่เป็นเลขเต็มหน่วย (นอกจากเดือนกุมภาพันธ์ในปีที่ไม่เป็นอธิก-สุรทิน) จำนวนสัปดาห์ในปีหนึ่งก็ไม่เป็นเลขเต็มหน่วยทุกปี และ ๑๑ เดือน ในจำนวน ๑๒ เดือน วันตั้งต้นของสัปดาห์ต่างกันกับปีหรือเดือนที่ผ่านมาแล้ว
          เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ มีผู้เสนอวิธีแก้ไขการแบ่งปฏิทินเกรกอเรียนหลายวิธี แต่ให้คงไว้ซึ่งวิธีอันละเอียดถูกต้องของปีอธิกสุรทินข้อเสนอต่างๆ ที่จะให้มีการแก้ปฏิทินซึ่งมีผู้เห็นชอบด้วยมากก็คือปฏิทินโลก (world calendar)
        ปฏิทินนี้ เอลิซาเบท อะเคลิส (Elizabeth Achelis) เป็นผู้ซึ่งมีความสนใจมากในการแก้ไขปฏิทิน ได้เสนอใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ปฏิทินโลกนี้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนส่วนละ ๙๑  วัน แต่ละส่วนยังแบ่งออกเป็น ๓ เดือน ๓๑, ๓๐ และ ๓๐ วัน ส่วนหนึ่งๆ มี ๑๓ สัปดาห์พอดี และทุกส่วน ๓ เดือนนั้นตั้งต้นด้วยวันอาทิตย์และสิ้นด้วยวันเสาร์
        เมื่อส่วนหนึ่งมี ๙๑ วัน ๔ ส่วนรวมเป็น ๓๖๔วัน ต้องเพิ่มวันในเดือนธันวาคม ๑ วัน วันที่เพิ่มนี้เรียกว่า ธันวาคม W และจัดเอกออกไว้ต่างหากจากสัปดาห์ แม้วันที่เพิ่มนี้จะติดวันเสาร์ แต่ไม่เรียกเป็นวันอาทิตย์ ให้เรียกเป็น "วันโลก" ในปีอธิกสุรทินให้เพิ่มวันหนึ่งวัน เรียกว่า "ปีอธิกสุรทิน" โดยเพิ่มไว้ที่ปลายเดือนมิถุนายน
         คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ได้นำเรื่องปฏิทินโลกนี้ขึ้นพิจารณา มีผู้แทนหลายประเทศเห็นชอบ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาสนาบางนิกาย

          เอราโทสเทเนส ผู้วัดขนาดโลกเมื่อ ๒๔๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชก่อนที่ แมเกลแลน เดินทางทางเรือไปรอบโลก ๑,๗๐๐ ปี พบว่าเมื่อดวงอาทิตย์อยู่เหนือสุด ประมาณ ๒๑-๒๒ มิถุนายน ที่อะเล็กซานเดรียแสงอาทิตย์ส่องตรงในบ่อน้ำที่ไซเอน เมื่อแสงอาทิตย์ส่องที่อะเล็กซานเดรีย ซึ่งอยู่ห่างจากไซเอน ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร เงาเสาเอนประมาณ๗.๒ องศา เขาคำนวณมุมศูนย์กลางโลก ระหว่างไซเอน และอะเล็กซานเดรีย เท่ากับ ๑/๕๐ ของ ๓๖๐ องศา ได้เส้นรอบวงของโลก๕๐ เท่า ระยะระหว่างไซเอน และอะเล็กซานเดรียเท่ากับ ๔๐,๐๐๐ กิโลเมตร

ปฏิทิน, ปฏิทิน หมายถึง, ปฏิทิน คือ, ปฏิทิน ความหมาย, ปฏิทิน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 2

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu