ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ หมายถึง, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ คือ, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ ความหมาย, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ

          บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการนั้น  นอกเหนือจากบุคลากรที่ทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางการศึกษาแล้ว  ยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง  เช่น ทางการแพทย์  ทางจิตวิทยา  ทางสังคม ทางอาชีพและอื่นๆ  ฉะนั้นจึงมีการใช้กลุ่มบุคลากร หรือกลุ่มสหวิทยากรร่วมกันทำงานเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ ซึ่งมีดังนี้
          ๑.  ครูการศึกษาพิเศษ  เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมมาเป็นพิเศษเฉพาะเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทั่วไปและพัฒนาการเฉพาะของเยาวชนผู้พิการ  เทคนิคการสอนพิเศษ  การใช้สื่อเครื่องมือ  อุปกรณ์พิเศษ  การตรวจสอบและประเมินเด็กพิเศษ  การกำหนดหลักสูตร  และการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ทั้งครูปกติ  เด็กพิการและพ่อแม่  ทั้งยังมีหน้าที่ให้บริการทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่เยาวชนผู้พิการและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  กล่าวคือ สอนเสริมหรือสอนซ่อมเสริมทักษะต่างๆ ให้กับเด็กพิการโดยตรง และ/หรือช่วยครูปกติจัดเตรียม  และจัดหาสื่อวัสดุอุปกรณ์  และเครื่องมือพิเศษ  ประสานงานบริการด้านอื่นๆ จัดหรือให้การอบรมแก่ผู้บริหารและครูทุกคนในโรงเรียน  ติดตามความก้าวหน้าของเด็ก
          ๒. ครูปกติ  เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมให้มีความรู้ในด้านการสอนเด็กปกติและควรได้รับข้อมูลหรือการฝึกอบรมให้มีความรู้พื้นฐานและความเข้าใจในการสอนเด็กพิการเรียนร่วม  ครูปกติมีหน้าที่ดำเนินโปรแกรมการเรียนการสอนและทำหน้าที่ประเมินผล  จึงจำเป็นต้องหาเทคนิควิธีการสอน  สื่อต่างๆ  เพื่อช่วยให้เด็กพิเศษสามารถเรียนอยู่ในชั้นเรียนปกติได้รวมทั้งเป็นผู้ให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับตัวเด็กนอกจากนี้ยังต้องเข้าใจกระบวนการในการประสานงานกับบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องให้การบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่เยาวชนผู้พิการอย่างต่อเนื่อง เช่น  นักกายภาพบำบัด  นักโสตสัมผัสวิทยา  แพทย์  นักแก้ไขการพูด เป็นต้น
          ๓.  ผู้ช่วยครู  เป็นอาสาสมัครหรือผู้ที่ทางโรงเรียนว่าจ้างโดยได้รับการฝึกอบรมให้ทำหน้าที่ช่วยครูพิเศษประจำชั้นในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กพิการขณะเด็กเรียน  ทำกิจกรรมรับประทานอาหาร  เข้าห้องน้ำ  หรือช่วยในห้องสอนเสริมหรือห้องฟื้นฟูบำบัด
          ๔. ครูแนะแนว  เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมด้านการศึกษาและจิตวิทยาการแนะแนว  ทำหน้าที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในกรณีที่โรงเรียนไม่มีนักสังคมสงเคราะห์  ช่วยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็กพิเศษจากครู  จากบันทึกของทางโรงเรียน  พ่อแม่  หน่วยงานในชุมชน  เป็นต้น  เพื่อประสานโปรแกรมการศึกษากับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลความก้าวหน้าของเด็กให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบรวมทั้งให้บริการแนะแนวทางการศึกษาและอาชีพด้วย
          ๕. ครูสอนพูด เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมให้มีความสามารถสอนพูดและภาษาให้กับเด็กพิการ รวมทั้งสามารถแก้ไขการพูดไม่ชัด  โดยร่วมมือกับนักแก้ไขการพูดในการวางแผนการสอนพูดและภาษา
          ๖.  นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน หมายถึง  ผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมมาทางด้านจิตวิทยา  สามารถทำการตรวจสอบทางจิตวิทยาปรับพฤติกรรมเด็กพิการ  ช่วยรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการประเมินเด็ก  สังเกตเด็กพิการในชั้นเรียนปกติ  สัมภาษณ์พ่อแม่หรือให้คำแนะนำแก่บุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งอธิบายหรือแปลความหมายผลการตรวจสอบให้พ่อแม่  ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบและเข้าใจ
          ๗. นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงเรียน เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมทางด้านสังคมสงเคราะห์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่พ่อแม่  ครู  และตัวเด็กเอง  ในเรื่องของการให้การสงเคราะห์แก่เด็กพิการที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของครอบครัว  ศึกษาปัญหาและสภาพแวดล้อมของเด็ก โดยการเยี่ยมบ้าน ติดตามผล และประสานประโยชน์ระหว่างโรงเรียน  องค์กรในชุมชน และทางบ้าน
          ๘. พยาบาลประจำโรงเรียน  เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมด้านการพยาบาลศึกษา  ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับเด็ก  อธิบายถึงผลกระทบของความบกพร่องที่มีต่อการศึกษาของเด็ก  ช่วยในการคัดแยกเด็กที่มีปัญหาทางการเห็นหรือการได้ยินอธิบายหรือแปลความหมายบันทึกหรือรายงานทางการแพทย์  ให้บริการแก่เด็กพิการที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องการการเอาใจใส่ทางการแพทย์ติดต่อกัน  รวมทั้งช่วยให้พ่อแม่ของเด็กพิการได้รับบริการทางการแพทย์สำหรับลูกพิการของเขา
          ๙. แพทย์  เป็นผู้ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมให้เป็นผู้ชำนาญเฉพาะทาง  เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู  จิตแพทย์  จักษุแพทย์  ศัลยแพทย์ทางกระดูก  กุมารแพทย์  แพทย์ทางด้านหู  คอ  จมูก  ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยและให้การบำบัดรักษา  เพื่อปรับสภาพความพิการและฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กพิการ  ติดตามผลการรักษาฟื้นฟูโดยอาจเปลี่ยนแปลงการรักษาและฟื้นฟูให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของความพิการเพื่อทำให้การฟื้นฟูสมรรถภาพบรรลุผลสูงสุด
          ๑๐. นักกายภาพบำบัด  เป็นผู้มีความชำนาญในการใช้เทคนิครักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  การทรงตัว  การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ  และข้อต่อที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ฝึกการใช้กายอุปกรณ์เสริมหรือเทียม  และเครื่องช่วยในการเคลื่อนไหว  รวมทั้งควบคุมการบำบัดด้วยกายบริหารในกำหนดการต่างๆ ที่แพทย์สั่ง
          ๑๑. นักกิจกรรมบำบัด  เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการเลือกเฟ้นงานฝีมือ   และกิจกรรมต่างๆ มาให้บุคคลพิการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลทางการรักษา  การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันรวมถึงการประกอบอาชีพ  นอกจากนี้ นักกิจกรรมบำบัดยังช่วยประดิษฐ์หรือดัดแปลงอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานการเรียนการสอน  ตลอดจนให้คำแนะนำที่จำเป็นแก่ครูและนักกายอุปกรณ์เสริมและเทียม
          ๑๒. นักกายอุปกรณ์เสริมและเทียมเป็นผู้ผลิตกายอุปกรณ์เสริมซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเสริมความแข็งแรงให้แก่ส่วนของร่างกายที่พิการและดัดแก้ความพิการที่สามารถดัดแก้ไขได้ เช่น รองเท้าสำหรับคนพิการ เครื่องช่วยพยุง  ปลอกคอกันสะเทือน  อุปกรณ์ประคองข้อต่างๆ รวมทั้งผลิตกายอุปกรณ์เทียม  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แทนส่วนของแขนขาที่ขาดหายไป เช่น  นิ้วเทียม  แขนและขาเทียม เป็นต้น
          ๑๓. นักจิตวิทยาคลินิก เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการตรวจและวินิจฉัยทางจิตวิทยา   เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการแก้ปัญหาเป็นผู้แก้ไขปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิต  กระตุ้นให้บุคคลพิการมีกำลังใจในการที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเต็มที่  และให้ข้อเสนอแนะกับครูผู้สอนเด็กพิการด้วย
          ๑๔. นักแก้ไขการพูด  เป็นผู้ที่สามารถประเมินและตรวจสอบความสามารถและความบกพร่องในการพูด  เพื่อทำการส่งเสริมแก้ไขการพูดและพัฒนาการทางภาษาที่ผิดปกติ  และเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติเหล่านั้น   ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้การรักษาอย่างถูกต้องของแพทย์ได้
          ๑๕. นักโสตสัมผัสวิทยา  เป็นผู้ที่สามารถตรวจและวินิจฉัยสมรรถภาพการได้ยินคัดเลือก ให้คำแนะนำ ติดตามและประเมินผลการใช้เครื่องช่วยฟังทำการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน  ฝึกฟัง  ฝึกใช้การมองในการสื่อความหมาย  พัฒนาภาษาและการพูด ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ปกครองและครูด้านจิตใจ  สังคมและการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและเด็กพิการอื่นๆ ที่มีปัญหาการพูดและภาษา
          ๑๖. ที่ปรึกษาด้านอาชีพ เป็นผู้ให้คำแนะนำร่วมกับแพทย์ในการฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับความพิการของบุคคล   ทำหน้าที่ประเมินด้านอาชีพ   เช่น  ความสามารถ   ความถนัด  ความสนใจ  และอุปนิสัยในการทำงาน โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์  การฝึกเตรียมอาชีพ  รวมทั้งวิธีการตรวจสอบทางจิตวิทยาเพื่อประเมินระดับสติปัญญา  นอกจากนี้ที่ปรึกษาด้านอาชีพยังมีหน้าที่ทำกำหนดการฝึกอาชีพ  แก้ปัญหาในการฝึกอาชีพตลอดจนจัดหางานที่เหมาะสมให้ทำเมื่อฝึกอาชีพได้แล้ว
         บุคคลที่ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ คือ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติของเด็กในเวลาที่อยู่นอกโรงเรียน ร่วมวางเป้าหมายทางการศึกษาสำหรับเด็ก ให้การสนับสนุนหรือทดแทนส่วนใดส่วนหนึ่งของโปรแกรมการศึกษาที่ทางโรงเรียนหรือหน่วยงานของเด็กจัดให้ไม่สมบูรณ์หรือขาดไป

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ หมายถึง, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ คือ, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ ความหมาย, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu