แม้ว่าประเทศไทยอุดมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดและป่าประเภทต่างๆ และพื้นที่ตั้งของประเทศมีความสำคัญทางด้านพฤกษภูมิศาสตร์โดยเป็นถิ่นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ข้อมูลทรัพยากรพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศยังมีน้อย ในขณะที่พื้นที่ป่าไม้อันเป็นถิ่นกำเนิดของพืชนานาพรรณไม้ลดลงอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความปริวิตกขึ้น ในการแสวงหาข้อมูลทรัพยากรพืชพื้นเมือง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การขาดข้อมูลด้านพฤกษศาสตร์จำแนกพวก พฤกษนิเวศ และพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เป็นประเด็นข้อขัดแย้งอย่างยิ่ง ต่อความสนใจในการพัฒนาพืชพื้นเมืองของประเทศ ที่มีแนวโน้มว่าจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต
การสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งข้อมูลพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน จำเป็นต่อการเพิ่มอัตราความเป็นไปได้ในการค้นพบผลิตผลพืชชนิดใหม่ หรือพบแนวทางในการพัฒนาการใช้พืชพื้นเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดแบบยั่งยืน เพราะการใช้ประโยชน์พืชตามประเพณีนิยมของกลุ่มชนอาจนำไปสู่ศักยภาพของการใช้ประโยชน์พืชแผนใหม่โดยเฉพาะด้านเภสัชกรรมและหัตถกรรมพื้นบ้าน ยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในวงการแพทย์หลายชนิด ได้รับการค้นพบและพัฒนามาจากพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ที่คนพื้นเมืองได้ใช้สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ หัตถกรรมพื้นบ้านหลายรูปแบบสามารถนำมาพัฒนาขึ้นเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนดังเช่นหัตถกรรมไม้แกะสลัก การผลิตเครื่องเขินของจังหวัดเชียงใหม่ การผลิตภาชนะจักสานด้วยไม้ไผ่ หวาย การผลิตกระเป๋าย่านลิเภา และการผลิตเสื่อ หมวก กระสอบ ที่ทำจากต้นกระจูดทางภาคใต้ ฯลฯ ล้วนสร้างงานและส่งเสริมรายได้ให้แก่คนพื้นบ้านนับหมื่น
เป็นที่น่ายินดีแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสำคัญต่องานส่งเสริมฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในทุกภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกัน ทรงสนพระราชหฤทัยในงานฝีมือพื้นบ้านและพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในเรื่องวัตถุดิบพื้นบ้านอันจะนำมาประกอบเป็นงานฝีมือได้ ช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ล้ำค่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เกือบจะสูญหายไปพร้อมกับบรรพบุรุษ ได้กลับคืนสู่ยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นงานจักสานย่านลิเภา ไผ่ หรือหวาย งานแกะสลัก ศิลปะและลวดลายไทยโบราณ ฯลฯ ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" และทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการของมูลนิธิฯด้วย วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิฯ ก็คือ "เพื่อจัดหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่ ชาวนาและเพื่อธำรงรักษา และสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่นิยมของชนทั่วไป" ปัจจุบันมีโครงการงานหัตถกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ หลายสาขา งานค้นคว้าทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในประเทศไทยที่จะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพืชพรรณและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ย่อมจะมีส่วนสนับสนุนข้อมูลรายละเอียดแก่โครงการงานหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อนำไปพัฒนาส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของประเทศ ให้เกิดประโยชน์เป็นที่นิยมกันทั่วไป และมีคุณค่าสูงขึ้นไม่มากก็น้อย