ประวัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป โดยใช้ชื่อภาษา-อังกฤษว่า MASS RAPID TRANSIT AUTHORITY OF THAILAND (MRTA)
เดิม รฟม. มาจาก องค์การรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ 2535 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2535 โดยใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า METRO POLITAN RAPID TRANSIT AUTHORITY มีวัตถุประสงค์ในการจัดระบบ
ขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งการขนส่งโดยรถไฟฟ้า และดำเนินการหรือให้บริการ อันเกี่ยวกับการขนส่งโดยรถไฟฟ้าดังกล่าว กับดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม.
พระราชบัญญัติฉบับใหม่ดังกล่าวยังให้อำนาจหน้าที่ รฟม. เพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น มีอำนาจกำหนด
"เขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้า" เพื่อ คุ้มครองอุโมงค์และสิ่งก่อสร้างใต้ดิน และกำหนดเขต "ระบบรถไฟฟ้า" เพื่อคุ้มครองดูแลคนโดยสารรถไฟฟ้า และระบบรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังให้ รฟม. สามารถหารายได้ทางอื่นนอกจากค่าโดยสาร และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการรถไฟฟ้า และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง ยังอาจดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดอื่นตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้อำนาจด้วย
ยุทธศาสตร์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
เพื่อให้การดำเนินงานในด้านต่างๆ สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กรตามที่ได้กำหนดไว้ และมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมทั้งความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน ยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จึงได้วิเคราะห์และจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์
จากแผนที่ยุทธศาสตร์ดังกล่าว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินงานในช่วงปี 2550-2554 รวม 10 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการ
3. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการเงิน
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจและบริการใหม่
5. ยุทธศาสตร์การบริหารสินทรัพย์และค่าใช้จ่าย
6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรและบริหารจัดการระบบงาน
7. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการระบบสารสนเทศ
8. ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
9. ยุทธศาสตร์การรับผิดชอบต่อสังคม
10. ยุทธศาสตร์การสร้างพันธมิตรธุรกิจ
โดยแต่ละยุทธศาสตร์มีเป้าประสงค์ กลยุทธ์ในการดำเนินงาน และโครงการหลักดังตารางที่ 1 ทั้งนี้การดำเนินงานตามโครงการหลักตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดซึ่งมีจำนวนรวม 36 โครงการ จะมีค่าใช้จ่ายในช่วงแผนวิสาหกิจปีงบประมาณ 2550-2554 เป็นจำนวนเงิน 124,294.02 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าฯ จำนวน 124,122.00 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการอื่นๆ จำนวน 172.02 ล้านบาท
รวมรายชื่อรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย
ที่มา : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย