เสียงท้องร้องจ๊อกๆ เกิดจากอะไรกันนะ? เคยสงสัยกันหรือเปล่า?
เชื่อว่าหลายคนต้องได้ยินเสียงท้องร้องเวลาหิว สาเหตุที่ท้องร้องก็เพราะสมองซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความรู้สึกหิวของเราจะคอยจัดลำดับการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ้าในเลือดมีสารอาหารพอเพียง สมองก็จะสั่งให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง แต่เมื่อใดที่มีสารอาหารในเลือดน้อยระบบย่อยอาหารจะทำงานเร็วขึ้นเราจึงได้ยินเสียงท้องร้อง
ทำไมท้องถึงร้องเวลาเราหิว? แม้ว่าท้องร้อง (growl) จะเป็นสิ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความหิว และในกระเพาะไม่มีอาหาร แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาไม่ว่าจะตอนที่กระเพาะว่างหรือไม่ก็ตาม และยิ่งกว่านั้นเสียงร้องไม่ได้มาจากกระเพาะเท่านั้น แต่มักจะมาจากลำไส้เล็กอีกด้วย เสียงท้องร้องมักจะเกี่ยวข้องกับความหิว เพราะว่ามันมักจะร้องตอนที่กระเพาะและลำไส้ว่าง และอวัยวะภายในอื่นๆ ไม่ได้ส่งเสียงออกมา
เสียงนี้เป็นที่สนใจมานานแล้ว โดยเฉพาะชาวกรีกโบราณ ซึ่งตั้งชื่อให้ว่า borborygmi (พหูพจน์ของคำว่า borborygmus) คำนี้มีต้นกำเนิดมาจากคำที่เป็นเสียงเหมือนกับสิ่งที่ต้องการบรรยาย (onomatopoeia) เพื่อต้องการที่จะใส่เสียงร้องลงไปในคำ คำว่า Borborygmi แปลออกมาได้ว่า เสียงร้อง (จากท้อง) (rumbling)
ในทางสรีรศาสตร์ แหล่งกำเนิดของเสียงร้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยทั่วไปแล้วท่อทางเดินอาหาร (gastrointestinal tract) มีลักษณะเป็นท่อกลวงที่เริ่มจากปากจนถึงทวารหนัก และผนังของมันจะประกอบไปด้วยชั้นของกล้ามเนื้อเรียบ เมื่อผนังได้รับการกระตุ้น กล้ามจะบีบตัวเพื่อผสมและคลุกเคล้าอาหาร แก๊ส และของเหลวผ่านกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ซึ่งทำให้เกิดเสียงขึ้น การบีบตัวของผนังกล้ามเนื้อนี้เรียกว่า peristalsis และเกี่ยวข้องกับการหดตัวเป็นวงที่เคลื่อนที่ (จากปาก) ลงมายังทวารหนักด้วยระยะทางเพียง 2-3 นิ้ว/ครั้ง
การสร้างคลื่นไฟฟ้าของ peristalsis เป็นผลมาจากการขึ้น-ลงที่เป็นจังหวะของศักย์ไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหดตัว การขึ้น-ลงของศักน์ไฟฟ้านี้เรียกว่า basic electrical rhythm (BER) และเป็นผลมาจากกิจกรรมของระบบประสาทที่เกี่ยวกับลำไส้ที่มาจากกรรมพันธุ์ (บางคนอาจไม่เป็นก็ได้) ซึ่งพบได้ในผนังลำไส้ BER ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กทำงานในจังหวะปกติ (3 และ 12 ครั้งต่อนาที ตามลำดับ) ในลักษณะที่คล้ายกับจังหวะการเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจแต่ช้ากว่าระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System; ANS) และปัจจัยเกี่ยวกับฮอร์โมนสามารถลด BER ได้
แม้ว่าอัตราและกำลังของ peristalsis มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีอาหาร แต่กิจกรรมดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นหลังจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กว่างประมาณ 2 ชั่วโมงเช่นกัน ในกรณีหลัง หน่วยรับความรู้สึกในผนังของกระเพาะจะส่งสัญญาณว่าไม่มีอาหารแล้ว ทำให้เกิดการสร้างคลื่นไฟฟ้า (Migrating Myoelectric complexes; MMCs) ขึ้นอีกครั้งในระบบประสาทที่เกี่ยวกับลำไส้ MMCs จะถูกส่งไปตามกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก และนำไปสู่การหดตัวเนื่องจากความหิว การหดตัวจากความหิวจะเริ่มจากกระเพาะส่วนล่าง (antrum) และแพร่ไปตามความยาวของท่อทางเดินอาหารรวมถึงส่วนปลายสุดของสำไล้เล็ก (ileum) ซึ่งจะทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในกระเพาะอาหารรวมถึงเมือก เศษอาหาร และแบคทีเรีย และป้องกันการสะสมสารต่างๆ อีกด้วย
การหดของกล้ามเนื้อยังทำให้เกิดการสั่น และเสียงร้องที่เกี่ยวข้องกับการหิว การหดกล้ามเนื้อเนื่องจากความหิวอาจจะอยู่นานถึง 10-20 นาทีในช่วงแรก และหลังจากนั้นจะหดตัวเป็นจังหวะทุกๆ 1-2 ชั่วโมงจนกระทั่งอาหารมื้อต่อมาได้เข้าสู่ร่างกาย ถ้าจะหยุดเสียงเหล่านั้นก็คงทำไม่ได้ เพราะเป็นกลไกธรรมชาติ แต่ป้องกันได้โดยการทานอาหารให้ตรงเวลา แต่ท้องร้องเกิดขึ้นได้แม้ขณะกระเพาะอาหารไม่ว่างด้วยซ้ำ และหากปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำก็จะทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อและทำให้เกิดเสียงร้องได้อีกด้วย ดังนั้นแนะนำให้รีบดื่มนมรองท้องก่อนเข้าประชุมหรือก่อนช่วงเวลาสำคัญ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาอาการท้องร้องได้
ที่มา : crma52.com