ทุกปีในเดือนเราะมะฎอนซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม (ซึ่งในปีนี้จะอยู่ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 26 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2543) เป็นช่วงเวลาที่มุสลิมทั่วโลกประมาณ 1,500 ล้านคนทั้งชายหญิงที่พ้นวัยแห่งความเป็นเด็กแล้วจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ การถือศีลอด (ภาษาอาหรับเรียกว่า "อัศเซาม์" หรือ "ศิยาม")
การถือศีลอดตามความหมายทางศาสนาของอิสลาม คือการงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกตลอดทั้งเดือนเราะมะฎอนของทุกปีซึ่งอาจจะมีระยะเวลา 29 หรือ 30 วัน โดยมีเจตนาว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ
ประเภทของศีลอด
ประเภทที่จำเป็นต้องถือศีลอดติดต่อกัน เช่น การถือศีลอดในเราะมะฎอน การถือศีลอดเป็นค่าปรับ กรณีฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา (คือ 2 เดือนติดต่อกัน) การถือศีลอดเนื่องจากการหย่าแบบซิฮาร การถือศีลอดเพื่อเป็นค่าปรับกรณีร่วมประเวณีในตอนกลางวันของเราะมะฎอน และการถือศีลอดเนื่องจากการบนบานซึ่งระบุการติดต่ออยู่ในการบนบานนั้นด้วย
ประเภทต่อมา ก็คือไม่จำเป็นต้องถือในวันที่ติดต่อกัน เช่นการถือศีลอดชดใช้ของเราะมะฎอน การถือศีลอด 10 วัน ของผู้ทำฮัจญ์ ที่ไม่เชือดสัตว์ การถือศีลอดเนื่องจากการละเมิด คำสาบานที่ไม่ได้ระบุเงื่อนไข และการถือศีลอดเนื่องจากละเมิดข้อห้ามขณะครองอิหฺรอม เป็นต้น
ประเภทต่อมาก็คือ การถือศีลอดที่เป็นความสมัครใจ (ซุนนะฮฺต่าง ๆ ) เช่น ศีลอดในวันจันทร์และพฤหัสบดี และทุกวันที่ 13,14 และ 15 ของเดือน ศีลอดวันอาซูรอ ศีลอดวันอะรอฟะฮฺ ศีลอด 7 วันในเดือนเชาวาล และศีลอดในช่วงเดือน มุหัรรอมและเดือนชะอฺบาน ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มักถือหลายวันด้วยกัน
วันที่หลักฐานห้ามถือศีลอดก็คือ เช่น กรณีการเจาะจงถือศีลอดเฉพาะวันศุกร์ หรือวันเสาร์เพียงวันเดียว โดยไม่มีเหตุผลที่ศาสนาอนุโลม การถือศีลอดทุกวันตลอดชีวิต การถือศีลอดที่ถือติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันโดยที่ไม่ยอมละศีลอด หรือทานอาหารใด ๆ เลยระหว่างนั้น ศีลอดในวันอีดทั้ง 2 และการถือศีลอดในวันตัชรีก (คือวันที่ 11, 12, 13 ของเดือนซุลหิจญะฮฺ)
มุสลิมที่ต้องถือศีลอดเดือนรอมะฎอน
- บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ หรือที่เรียกว่า บรรลุศาสนภาวะ ด้วยเหตุนี้ ศีลอดจึงไม่เป็นข้อบังคับสำหรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ (เด็กผู้ชายต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์หรือมีสัญลักษณ์อื่น ๆ ส่วนเด็กผู้หญิงต้องมีอายุครบ 9 ปีบริบูรณ์ตามทัศนะของมัซฮับชีอะหฺ)
- มีสติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์ ศีลอดจึงไม่เป็นข้อบังคับสำหรับคนที่วิกลจริต แม้ว่าอาการวิกลจริตจะเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งในเวลากลางวันก็ตาม
- ตามทัศนะมัซฮับชีอะหฺ ผู้ที่ไม่ได้เดินทางไกล หมายถึงบุคคลที่มีสถานที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและต้องพักอยู่ ณ สถานที่ของตนไม่น้อยกว่าสิบวัน ดังนั้นผู้ที่เดินทางไกล หรือพำนักอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดไม่เกินสิบวันเขาจึงไม่สามารถถือศีลอดได้ และนมาซของเขาต้องทำแบบย่อ (นมาซสี่ร่อกอัตให้ทำแค่สองร่อกอัต)ส่วนตามทัศนะมัซฮับซุนนี ผู้เดินทางสามารถเลือกที่จะถือศีลอด หรือไม่ถือศีลอดแต่ต้องชดเชยภายหลัง
- ไม่เมาหรือหมดสติ
- ไม่เจ็บป่วย เพราะการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพกรณีที่ไม่สบาย
- ไม่มีประจำเดือนหรือมีเลือดหลังจากการคลอดบุตร
หมายถึง ผู้ถือศีลอดคนใดคนหนึ่งได้กระทำในสิ่งดังต่อไปนี้ถือว่า ศีลอดของเขาเสียทันที่ และจะต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลังจากเดือนร่อมะฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่ทำให้ศีลอดเสียมี ๑๐ ประการดังต่อไปนี้
1. ตั้งใจกิน ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
2. ตั้งใจดื่ม ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
3. ร่วมประเวณี ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
4. ตามทัศนะของชีอะหฺ เจตนากล่าวเท็จที่พาดพิงไปยังอัลลอหฺ ท่านศาสดา บรรดาอิมามมะอฺศูม รวมถึงท่านหญิงฟาฏิมะหฺ (อ) และบรรดาศาสดาทั้งหลาย เช่นกล่าวว่า อัลลอหฺตรัสว่า..ซึ่งไม่มีอยู่ในอัลกุรอาน..หรือกล่าวว่า ท่านศาสดา หรือบรรดาอิมามมะอฺศูมสั่งให้ทำ...ซึ่งไม่มีอยู่จริงและไม่มีหลักฐานยืนยันคำพูดนั้น
5. ตั้งใจดำน้ำโดยให้ศีรษะทั้งหมดอยู่ใต้น้ำ
6. ตั้งใจให้ฝุ่นละออง หรือควัน หรือไอน้ำที่มีจำนวนมากเข้าไปในลำคอ
7.. ตั้งใจคงสภาพการมีญุนุบ (หมายถึงภายหลังจากได้ร่วมหลับนอนกับภรรยา หรือหลังจากที่อสุจิได้เคลื่อนออกมาแล้วยังไม่ได้อาบน้ำตามศาสนบัญญัติ) หรือแม้แต่จะไม่ตั้งใจคงสภาพดังกล่าวแต่เป็นเพราะหลงลืมถือว่าศีลอดเสียและต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลัง
8. การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่ว่าชายหรือหญิง
9. การสวนทวารด้วยของเหลวทุกชนิด
10. การตั้งใจอาเจียน
ข้อควรปฎิบัติต่างๆในการถือศีลอด
- การรีบในการละศีลอด หลังจากรู้แน่ชัดว่าดวงอาทิตย์ตกแล้ว เรื่องนี้มีอัลหะดีษกล่าวว่าผู้คนจะยังอยู่ในความดีงาม ตราบที่พวกเขารีบเร่งในการละศีลอด
- ละศีลอดด้วย อินผลัมสด หรืออินผลัมแห้ง หรือน้ำ โดยทั้งสามสิ่งมีคุณค่าลดหลั่นกันตามลำดับ
- กล่าวดุอาอ์ขณะละศีลอดว่า ذَهَبَ الظَّمَأُ وَابْتَلَّتْ الْعُرُوقُ وَثَبَتَ الْأَجْرُ إِنْ شَاءَ اللَّهُ
- กินอาหารสะหูร ซึ่งหมายถึงการกินและดื่มในช่วงท้ายของคืนเพื่อเตรียมถือศีลอด
- ล่าช้าในการกินอาหารสะหูร จนถึงตอนท้ายสุดของกลางคืน