ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ธงพระอิสริยยศ, ธงพระอิสริยยศ หมายถึง, ธงพระอิสริยยศ คือ, ธงพระอิสริยยศ ความหมาย, ธงพระอิสริยยศ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ธงพระอิสริยยศ

       ธงพระอิสริยยศ เป็นธงสำหรับใช้หมายพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ในทางราชการ
ประวัติ
      ธงพระอิสริยยศตามอย่างธรรมเนียมตะวันตกมีจุดเริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้สถาปนาธงประจำพระองค์ขึ้นอย่างหนึ่งตามอย่างธรรมเนียมยุโรป คือ ธงมหามงกุฎ หรือ ธงจอมเกล้า ใน พ.ศ. 2398 พร้อมกับกับการกำหนดให้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยาม มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและมีฉัตร 7 ชั้นขนาบสองข้าง ซึ่งจำลองจากตราพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎ อันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เพื่อใช้ชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่งเป็นที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้น นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาธงในพระบรมมหาราชวัง เพื่อระบุว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระนคร และให้ใช้เป็นธงประจำกองทหารเกียรติยศในเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินประทับในพระนครด้วย นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงอีกอย่างหนึ่งขึ้นประจำเสาธงในพระบรมมหาราชวัง คือ ธงไอยราพต เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์มิได้ประทับอยู่ในพระนคร ธงนี้เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นแดง มีรูปตามอย่างพระราชลัญจกรไอยราพต กล่าวคือ เป็นรูปช้างเอราวัณสามเศียรยืนหันหน้าเข้าเสาธง เทินบุษบกอุณาโลม ด้านซ้ายขวาล้อมด้วยเครื่องสูงเป็นฉัตร 7 ชั้นข้างละ 2 คัน
      ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 เพื่อจัดระเบียบการใช้ธงต่างๆ ในประเทศสยามขณะนั้นเป็นครั้งแรก ในส่วนของธงพระอิสริยยศนั้น ได้มีการกำหนดขึ้นจำนวน 3 ชนิด โดยเป็นธงสำหรับพระมหากษัตริย์ 2 ชนิด สำหรับราชตระกูล 1 ชนิด
      ธงประจำพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์นั้น อย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ ลักษณะคล้ายกับธงมหามงกุฎ แต่เปลี่ยนเครื่องหมายกลางธงจากรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและฉัตร 7 ชั้น เป็นรูปโล่อาร์มอย่างตะวันตก ลวดลายในโล่นั้นแบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างสามเศียรยืนแท่นหน้าตรงในพื้นสีเหลือง ช่องซ้ายล่างเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในพื้นสีแดง ช่องขวาล่างเป็นรูปกริชมลายู 2 เล่มไขว้กันบนพื้นสีแดง มีพระมหาพิชัยมงกุฏและตราจักรีคร่อมอยู่ด้านบน ขนาบด้วยฉัตร 7 ชั้นทั้งสองข้างแทน ตราดังกล่าวนี้นำมาจากตราแผ่นดินในเวลานั้น ธงอีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า "ธงจุฑาธิปไตย" มีลักษณะอย่างธงไอยราพต เว้นแต่ว่าในบุษบกนั้นเปลี่ยนจากรูปอุณาโลมเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ภายใต้พระเกี้ยว สำหรับชักขึ้นในพระนครเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
      ส่วนธงพระอิสริยยศสำหรับราชตระกูลนั้นกำหนดขึ้นชั้นเดียว เรียกว่า ธงเยาวราชธวัช ลักษณะเป็นธงพื้นแดงมีรูปโล่ตราแผ่นดินภายใต้เครื่องหมายจักรี ใช้สำหรับพระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศ์ที่ทรงกรม และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีราชอิสริยยศสมควรที่จะได้รับสลุตอย่างหลวง ราชตระกูลนอกจากนี้ถ้ามีราชการไปที่ใดต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นการพิเศษเสียก่อนจึงจะใช้ธงเยาวราชธวัชได้
      ถึงปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 เพื่อปรับปรุงระเบียบการใช้ธงใหม่ ในส่วนของธงพระอิสริยยศนั้นได้เปลี่ยนชื่อ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น ธงมหาราช มีการกำหนดลักษณะสัดส่วนของธงและการใช้ธงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกเลิกธงจุฑาธิปไตยและฟื้นฟูการใช้ธงไอยราพตอีกครั้ง และยกเลิกธงเยาวราชธวัชพร้อมทั้งจำแนกธงพระอิสริยยศสำหรับราชตระกูลเสียใหม่ออกเป็น 4 ชั้น คือ ธงราชินี ธงเยาวราช ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช และธงราชวงศ์ เมื่อรวมธงมหาราชด้วยแล้วจะมีธงพระอิสริยยศทั้งหมด 5 ชั้น อนึ่ง ธงราชวงศ์ที่บัญญัติขึ้นในครั้งนั้นมีแต่เพียงธงราชวงศ์ฝ่ายหน้าเท่านั้น ภายหลังจึงได้เพิ่มธงราชวงศ์ฝ่ายในขึ้นอีกชั้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2442
     ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติแบบอย่างของธงพระอิสริยยศขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 โดยทรงจำแนกธงพระอิสริยยศเป็น 6 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช พระวรชายาในพระยุพราช พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ ตามลำดับ และทรงเปลี่ยนตราแผ่นดินในธงใหม่จากตราอาร์มเป็นตราพระครุฑพ่าห์ แบบธงที่บัญญัติขึ้นดังกล่าวนี้ยังคงได้ใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มธงพระอิสริยยศขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือ "ธงบรมราชวงศ์" ในปี พ.ศ. 2522 เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นราชประเพณีสืบไป
ธงพระอิสริยยศในปัจจุบัน
        ปัจจุบันธงพระอิสริยยศของไทยแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ดังนี้
ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์
        ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงมหาราช" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  1. ธงมหาราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง
  2. ธงมหาราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้าง ครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี
        ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชินี" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  1. ธงราชินีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วนพื้นธงสีเหลือง ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงมหาราชใหญ่ ตอนปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
  2. ธงราชินีน้อย มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชินีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี
        ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงบรมราชวงศ์" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  1. ธงบรมราชวงศ์ใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาวส่วน พื้นธงสีเหลือง ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบ มีขนาดกว้างยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบมีรูปมงกุฎขัตติยราชนารีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้นเหนือตั่ง และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว 5 ชั้น อยู่สองข้าง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองเข้ม
  2. ธงบรมราชวงศ์น้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีแดงแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช
        ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงเยาวราช" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  1. ธงเยาวราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงมีสองสี รอบนอกสีขาบ รอบในสีเหลืองกว้างยาวครึ่งหนึ่งของรอบนอกมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง
  2. ธงเยาวราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้าง ครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช
        ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงเยาวราชฝ่ายใน" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  1. ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
  2. ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอหรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล
       ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  1. ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาบ มีดวงกลมสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธงอยู่ตรงกลางของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง
  2. ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตรตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น8 เท่า ของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล
       ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชวงศ์ฝ่ายใน" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  1. ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
  2. ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ธงพระอิสริยยศในประเทศไทย

ธงพระอิสริยยศ, ธงพระอิสริยยศ หมายถึง, ธงพระอิสริยยศ คือ, ธงพระอิสริยยศ ความหมาย, ธงพระอิสริยยศ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu