ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หมายถึง, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คือ, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ความหมาย, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 17
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          โรคความดันน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ฝรั่งเรียกว่า โรคมีเนีย (Meneire"s disease) คำว่า มีเนีย เป็นชื่อของศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส ที่ได้รายงานสถานการณ์ของผู้ป่วยเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1861 ระยะแรกไม่ค่อยมีใครเชื่อถือนัก แต่หลังจากนั้นอีกประมาณ 100 ปีคนจึงเริ่มรู้จักกลุ่มอาการป่วยชนิดนี้มากขึ้น

          น้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากความดันน้ำในหูชั้นในที่เรียกว่า Endolymph มากผิดปกติ ทำให้หูชั้นใน ซึ่งทำหน้าที่รับเสียง และรับการทรง ตัวไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดย Endolymph มีเกลือแร่สำคัญ คือ โปรแตสเซียม ถ้าไปปนกับน้ำส่วนอื่น ๆ หูจะทำงานไม่ได้ เยื่อต่าง ๆ ในหูชั้นในแตก พบมากในวัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้ชายและผู้หญิงเป็นพอ ๆ กัน แต่ดูเหมือนว่า ผู้หญิงจะเป็นมากกว่านิดหน่อย

ข้อมูลจาก เดลินิวส์ และ bangkokhealth.com
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต



สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          เนื่องจากหูคนเราประกอบด้วยหูชั้นนอก, หูชั้นกลางและหูชั้นใน หูชั้นในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนมีลักษณะคล้ายก้นหอยทำหน้าที่รับเสียง กับส่วนที่เป็นอวัยวะรูปเกือกม้า 3 อันมารวมกันทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว หูชั้นในนอกจากจะแบ่งตามหน้าที่แล้วยังแบ่งตามโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระดูก กับส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ส่วนที่เป็นกระดูกจะห่อหุ้มส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ภายในส่วนเยื่อหุ้มภายในจะมีของเหลวอยู่ เมื่อเกิดพยาธิสภาพของโรคมีเนีย ของเหลวที่อยู่ภายในจะคั่งมาก ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหูชั้นในจะขัดขวางการทำงานของกระแสประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ทำให้สูญเสียการได้ยินและสมดุลย์เกิดอาการเวียนศีรษะเมื่อแรงดันมากขึ้นผู้ป่วยจะรู้สึกตึง ๆ ในหูข้างที่ผิดปกติ

          สำหรับสาเหตุที่แน่ชัดของโรคยังไม่ทราบ แต่มีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินโรค และการดูแลรักษา เช่น การติดเชื้อไวรัส ซิฟิลิส เป็นหัดเยอรมัน คางทูม และยังพบว่าอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง คือ อาหารที่มีรสเค็ม สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่นเดียวกับ ความเครียดต่อร่างกาย และจิตใจ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา



การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันอยู่ที่ระยะของโรค
          ระยะแรก สามารถที่จะหายได้เป็นปกติ โดยการดูแลร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ 
          ระยะที่ 2 หูเริ่มเสื่อม มีเสียงในหู เวียนศีรษะ เป็น ๆ หาย ๆ แต่จะเป็นไม่มาก ระยะนี้อาจต้องรับประทานยาเป็นประจำต่อเนื่อง 
          ระยะที่ 3 และ 4 ใช้ยาฉีด หรือ ผ่าตัด โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าไปที่หูข้างในโดยตรง เพื่อทำลายเซลส์ที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ถ้าเซลส์ตายอาการ ดังกล่าวหายไป ก็ไม่ต้องผ่าตัด

การรักษาทางยา
          - ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดสภาวะอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน 
          - ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ควรใช้ในขณะที่มีอาการเท่านั้น 
          - ยากล่อมประสาท และยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับได้เป็นปกติ 
          - ยาขยายหลอดเลือด ช่วยลดอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน


อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          1. อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นอาการที่พบบ่อยมักพบร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกเกิดขึ้นในทันทีทันใด ระยะเวลาอาจจะอยู่นานกว่า 20 นาทีถึง 2-3 ชั่วโมง อาการดังกล่าวมักเป็นรุนแรงแต่ไม่ทำให้หมดสติหรือเป็นอัมพาตเมื่อหายเวียนศีรษะผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนเป็นปกติ

          2. หูอื้อ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวร ถ้าเป็นระยะแรกการสูญเสียการได้ยินจะเป็นแค่ชั่วคราวหลังจากหายเวียนศีรษะ แล้วการได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการเวียนบ่อย ๆ หรือเป็นมานานอาการหูอื้อมักจะถาวรบางทีหูหนวกไปเลยก็ได้

          3. เสียงดังในหู ผู้ป่วยจะมีเสียงดังในหูข้างที่ผิดปกติร่วมด้วย ผู้ป่วยบางคนจะบอกว่ามีเสียงเหมือนจั๊กจั่นหรือจิ้งหรีดร้อง บางคนก็บอกว่าเหมือนเสียงคำรามอยู่ในหูตลอดเวลา เสียงดังในหูอาจเป็นตลอดเวลา หรือเป็นขณะเวียนศีรษะ

          4. อาการตึง ๆ ภายในหูคล้ายกับมีแรงดัน เกิดจากแรงดันของน้ำในหูชั้นในที่ผิดปกติ

          ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ อาการจะเป็นมากขึ้น อาจต้องหยุดงาน เนื่องจากอาการเวียนศีรษะที่รุนแรง หรือสูญเสียการได้ยินแบบถาวร และอาจลุกลามไปยังหูอีกข้างหนึ่งได้



การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย

การปฏิบัติตัวเพื่อให้ผู้ป่วยลดภาวะอาการของโรคเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน 

  1. ลดภาวะเครียด ควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส และลดงานบางอย่างที่มากจนเกินไป
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการนอนหลับ ถ้ามีเสียงรบกวนในหูมากจนทำให้นอนไม่หลับ ข้อแนะนำที่ดีคือเปิดเพลงเบา ๆ ขณะนอนเพื่อกลบเสียงที่รบกวนในหูให้หมดไป
  4. หลีกเลี่ยงสิ่งต่อไปนี้ คือ ชา กาแฟ เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการแย่ลง
  5. การบริหารระบบการทรงตัว เป็นการบริหารศีรษะและการทรงตัวทำให้สมองสามารถปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น
  6. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ในที่มีเสียงดัง แสงแดดจ้าหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น
  7. จัดสถานที่ที่บ้าน และที่ทำงานให้ปลอดภัย ทางเดินที่เดินเป็นประจำจะต้องปราศจากของมีคม และตกแตกง่าย
  8. การควบคุมอาหาร โดยลดอาหารที่มีรสเค็มโดยจำกัดเกลือ แนะนำให้เติมเกลือลงในอาหารวันละไม่เกิน 2 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) 

    อาหารเค็มที่ผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน และผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ควรหลีกเลี่ยงและบริโภคอย่างระมัดระวัง ประกอบด้วย
    • อาหารที่ปรุงด้วยน้ำปลา ซอสถั่วเหลือง เกลือ เต้าเจี้ยว และน้ำหมักต่าง ๆ
    • อาหารที่ลงท้ายว่าเค็ม เช่น ปลาเค็ม ปูเค็ม ไข่เค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม บ๊วยเค็ม
    • อาหารที่ต้องจิ้ม น้ำซอส จิ้มเกลือ โรยเกลือ เช่น อาหารประเภทโต๊ะจีน ผลไม้จิ้มเกลือ มันทอด ถั่วทอดโรยเกลือ
    • อาหารหมัก ดอง มักมีส่วนผสมของเกลือในรูปต่าง ๆ เช่น ผักกาดดอง หัวไชเท้าดอง ขิงดอง
    • อาหารกระป๋องมักมีสารกันบูด ซึ่งเป็นเกลือรูปแบบหนึ่ง หรือแช่น้ำเกลือ เช่น ปลาซาดีนในน้ำเกลือ
    • อาหารแห้ง หรืออาหารรมควัน ก็มักจะหมักเกลือก่อนนำไปตาก รมควัน หรือในตัวของอาหารเองก็มีปริมาณเกลืออยู่แล้ว เช่น อาหารทะเล กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง
    • อาหารต่างประเทศบางชนิดจะระบุบนฉลากว่ามีเกลือปนหรือไม่ ปริมาณเท่าใด เช่น เนย เนยแข็ง จึงควรบริโภคตามที่ระบุไว้บนฉลาก อย่างเคร่งครัด
    • ผงชูรส ก็เป็นเกลือชนิดหนึ่ง มีสูตรทางเคมีว่า โมโนโซเดียม กลูตาเมต ซึ่งนอกจากจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะแล้ว ยังอาจทำให้มีความผิดปกติทางระบบประสาทด้วย ทั่วไปจะใช้ในการปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารจีน จึงมีชื่อเรียกกัน
      เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวว่าเป็น Chinese Restaurant Syndrome
    • ผู้ป่วยที่มิได้ประกอบอาหารเอง แม้ว่าไม่ได้เพิ่มเติมสิ่งที่เค็มลงไป ก็ให้ถือว่าได้รับเกลือมากกว่าที่กำหนด เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เหงื่อจะออกง่าย คนไทยจึงติดนิสัยรับประทานอาหารเค็มมาตั้งแต่เล็ก โดยเลียนแบบผู้ใหญ่ และ
    • ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ด มักจะคู่กับเค็ม ส่วนรสเปรี้ยวจะคู่กับรสหวาน เช่นนี้ให้ถือว่าได้รับปริมาณเกลือมากกว่าที่กำหนดเช่นกัน

    โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หมายถึง, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คือ, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ความหมาย, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คืออะไร

    ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

    คำยอดฮิต

    Sanook.commenu