สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เมื่อแรกประสูติทรงพระนามในสูติบัตรว่า May ตามที่โรงพยาบาลตั้งถวาย ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (คำว่า "วัฒนา" ในพระนาม ทรงตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา
ชีวิตสมรส
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงสมรสกับ พันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ มีพระธิดาหนึ่งคนจากการเสกสมรสกับพันเอกอร่าม คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯทรงเสกสมรสอีกครั้งกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธารดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และหม่อมระวี ไกยานนท์)
ในฐานะพระมารดาทรงเลี้ยงดูพระธิดาด้วยพระองค์เองโดยให้ความรักและดูแลเอาพระทัยใส่อย่างใกล้ชิด และเมื่อท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ได้สมรสกับ นายสินธู ศรสงคราม มีบุตร คือ ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม ในฐานะ “สมเด็จยาย” ของพระนัดดา พระองค์ก็ทรงให้ความรักและห่วงใยเสมอมา
พระพี่นางของ 2 พระมหากษัตริย์
ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ด้วยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้อัญเชิญพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์
ด้วยเหตุนี้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ” ในรัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี
และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2487 ท่ามกลางสถานการณ์ที่หนักหน่วงเกินกว่าพระหทัยดวงหนึ่งจะรับไหว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ทรงเป็นกำลังใจสำคัญเคียงข้างสมเด็จพระบรมราชชนนีและพระอนุชาพระองค์เล็ก ซึ่งต้องรับพระราชภาระแห่งบ้านเมืองในฐานะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในเป็นพระองค์แรกในรัชกาล ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
การศึกษา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่อนุบาลปาร์คสกูล( Park School) ระหว่างปี พ.ศ.2469-2471 ในช่วงที่ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการแพทย์ และรักษาพระองค์ที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในชั้นเรียนมีการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับพระองค์ท่าน นักเรียนพระองค์น้อยนี้จึงไม่รับสั่งอะไรเลยเป็นเวลานาน ครูผู้สอนมีจดหมายถึงสมเด็จพระบรมราชชนนีในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2471 ว่า ช่วงแรกทรงไม่เข้าพระทัยในสิ่งที่ครูและนักเรียนในชั้นพูดกัน แต่ทรงเรียนรู้ได้เร็ว และสามารถตรัสคำว่า “Yes” , “No” , “Good morning” และ “Good-bye” ได้ แต่ยังไม่สามารถที่จะรับสั่งเป็นประโยคยาว ๆ ได้ ทรงเล่นอย่างเงียบ ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีหิมะตก ทรงตื่นเต้นและรับสั่งคำว่า “ Snow” ออกมาเป็นคำแรก และตามด้วยอีกหลายประโยคในเวลาต่อมา จนรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษได้คล่องที่สุด และไม่ทรงลืมภาษาอังกฤษอีกเลย
เมื่อคราวตามเสด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีกลับมาประทับในเมืองไทย เมื่อช่วงพ.ศ.2471-2476 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนราชินี ซึ่งเคยรับสั่งเล่าถึงช่วงที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนราชินีว่า เสด็จไปเรียนเพียงครึ่งวัน เพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเห็นว่าเด็กยังต้องนอนพักผ่อน และในตอนบ่ายก็ทรงจัดให้ครูมาสอนภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะไม่ทรงลืม
ในช่วงแรกทรงเรียนตามเพื่อน ๆ ไม่ค่อยทัน แต่เมื่อปรับตัวได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทรงเรียนอยู่จนถึงชั้นประถมปีที่ 3 สอบได้ที่ 2 ได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระเป๋าผ้าน้ำมัน ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงส่งตามไปให้ภายหลัง เมื่อเสด็จประทับอยู่กับสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
หลังจากที่เสด็จจากประเทศไทยกลับมาประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้ว พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนาทรงศึกษาต่อในระดับเตรียมมัธยมที่โรงเรียนเมียร์มองต์ ( Miremont) ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมสตรีประจำเมืองเลซาน Ecole Superieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ซึ่งเป็นของรัฐบาล เมื่อพ.ศ.2478
ในปีพ.ศ.2485 ทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยโลซาน แม้จะถนัดด้านศิลปะศาสตร์ แต่ทำคะแนนทางวิทยาศาสตร์ได้ดีกว่า จึงเลือกสาขาวิชาเคมี และได้รับ diplome de chimiste et pedagogiques ไปพร้อมกัน อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา
ความผูกพันครอบครัว มหิดล
ในปี พ.ศ.2467 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จพร้อมกับครอบครัวเล็ก ๆ ไปยังประเทศเยอรมนี เพื่อรักษาพระองค์ และในวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2468 พระอนุชาพระองค์แรกได้ประสูติ ณ โรงพยาบาลเมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี และได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “หม่อมเจ้าอานันทมหิดล”
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้ตรัสถึงพระอนุชาซึ่งทรงเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวในหนังสือ “เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์” ว่า
“ข้าพเจ้าเองจำเหตุการณ์สำคัญนี้ไม่ได้เลย เพราะอายุเพียง 2 ขวบ 4 เดือน แต่คงยินดีอย่างมากที่ได้น้อง ซึ่งคงไม่เป็นเรื่องธรรมดานัก เพราะในหลายครอบครัวลูกคนโตมักจะอิจฉาน้องที่อ่อนกว่าไม่มากนัก เพราะพ่อแม่มักให้ความสำคัญแก่ลูกคนใหม่ แต่ทูลหม่อมฯแม่และแหนน (นางสาวเนื่อง จินตตุล พระพี่เลี้ยง ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวอินทรสุริยา”) คงได้อธิบายเรื่องน้องที่จะเกิดไว้อย่างดี ข้าพเจ้าจึงรู้สึกรักและอยากช่วยเลี้ยงน้อง”
ต่อมาในปี พ.ศ.2469 ครอบครัวราชสกุลมหิดลเสด็จยังสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาต่อจนได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระอนุชาพระองค์ที่สองได้ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ โรงพยาบาลเคมบริดจ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระนามว่า “ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช”
ทั้งสามพระองค์พี่น้องในราชสกุลมหิดล ต่างสนิมสนมรักใคร่ผูกพันทรงเติบโตขึ้นท่ามกลางความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงอบรมดูแลให้ทุกพระองค์ช่วยเหลือตนเอง มีระเบียบวินัย และเอื้อเฟื้อต่อผู้ด้อยโอกาสกว่า จนเป็นพื้นฐานสำคัญในพระอุปนิสัยของทุกพระองค์
ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472 สมเด็จพระบรมราชชนกประชวนและทรงจากครอบครัวไป
“ทูลหม่อมฯสิ้นพระชมน์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 ข้าพเจ้าจำวันนี้ได้ดี ข้าพเจ้ากำลังเล่นอยู่ที่หน้าตำหนัก โดยเดินอย่างดัง ๆ บนขอบถนน...ก็มีคนมาบอกให้เงียบ ๆ และให้ขึ้นไปหาแม่ที่ห้องแต่งตัวของแม่ แม่นั่งอยู่บนม้ายาวหน้าหน้าต่าง แม่ดึงตัวข้าพเจ้าไปกอด และพูดอะไรที่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ และร้องไห้ ข้าพเจ้าก็ร้องไห้ไปด้วย เพราะความตกใจที่เห็นแม่ร้องไห้มากกว่าอื่น”
พระปณิธาน
ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอด 84 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงมีพระกรณียกิจที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่วนรวมในหลายแขนง ตั้งแต่เสด็จกลับเมืองไทยในปี พ.ศ.2493 ทรงเริ่มต้นเป็นอาจารย์สอนนิสิตนักศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกหลายแห่ง
ภาพที่ประชาชนไทยต่างคุ้นเคยและอยู่ในความทรงจำมาจนทุกวันนี้ คือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังทรงเจริญพระชนชีพ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ พร้อมกับทรงนำแพทย์อาสาไปให้การรักษาผู้เจ็บป่วย โดยมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามเสด็จอยู่เคียงข้าง
แม้เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว นอกจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะทรงสืบพระปณิธานแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทรงอุปถัมภ์ บางองค์กรทรงก่อตั้งด้วยพระองค์เอง รวม 63 มูลนิธิ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงราษฎรไทยสืบไปทั้งสิ้น
ข้อมูลและภาพจาก : หนังสือ “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” หนังสือเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา
ที่มา https://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9500000153425