ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โรคบ้านหมุน, โรคบ้านหมุน หมายถึง, โรคบ้านหมุน คือ, โรคบ้านหมุน ความหมาย, โรคบ้านหมุน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
โรคบ้านหมุน

โรคบ้านหมุน (Vertigo) 

          โรคบ้านหมุนเป็นโรคใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุทุกคน บางคนจะมีอาการเวียนศีรษะ, โคลงเคลง, ลุกไม่ไหว ซึ่งบางครั้งก็เป็นมากจนต้องนำส่งโรงพยาบาลเลยทีเดียว โดยคำวินิจฉัยส่วนใหญ่ของแพทย์มักระบุว่า เกิดจากอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ มีตะกอนในหูชั้นใน ทำให้มีคำถามตามมาอีกว่า อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร มีผลกระทบร้ายแรงหรือไม่ และสามารถจะหายขาดได้หรือไม่



ถ้าเป็นบ้านหมุนแล้วเกิดจากอะไรได้บ้าง

          อาการบ้านหมุนส่วนใหญ่ มักเกิดจากปัญหาที่ หูชั้นใน ได้แก่ มีตะกอนในหูชั้นใน น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือติดเชื้อไวรัส เป็นต้น ส่วนน้อยพบว่า มีปัญหาจากก้านสมอง ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ลิ้นแข็ง แขนขาอ่อนแรง เห็นภาพซ้อน ถ้าเป็นทันทีให้คิดถึงอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงในเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน และสูบบุหรี่จัด (ถ้ามีอาการบ้านหมุนร่วมกับอาการทางระบบประสาท ควรมาพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากเกิดจากสมองขาดเลือด อาการอาจเป็นมากขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง)

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นอาการบ้านหมุน

           ถ้าอาการเพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะแยกไม่ออก ให้ลองสังเกตดูว่า อาการที่เกิดขึ้นมีลักษณะบ้านหมุน (Vertigo) โคลงเคลง เซหรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่ามีปัญหาที่ระบบควบคุมการทรงตัว ได้แก่ หูชั้นใน และระบบประสาทส่วนกลางบริเวณก้านสมอง ส่วนอาการมึน ๆ (Dizziness) คล้ายนอนไม่พอ มีสาเหตุมากมายด้วยกัน ตั้งแต่เครียด พักผ่อนไม่พอ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาการสุดท้ายที่ต้องแยกคือ อาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม (Pre-syncope) สาเหตุจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ พบมากในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตต่ำ ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร สรุปว่าในขั้นแรกต้องใจเย็นๆ ตรวจเช็คอาการให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นอาการบ้านหมุน หน้ามืด หรือ แค่มึนๆ เพราะสาเหตุต่างๆ ดังกล่าว

 



โรคที่กล่าวมา มีอาการแตกต่างกันอย่างไร

          (1.) โรคตะกอนในหูชั้นใน โรคตะกอนในหูชั้นใน ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะในท่าต่างๆ เช่น บ้านหมุนจะเป็นขึ้นทันทีเวลาจะนอน เงยหน้า หยิบของบนชั้น หรือสระผมที่ร้านเสริมสวย ในขณะที่เป็นจะรู้สึกรอบๆ ตัวหมุนไปหมด คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ต้องนอนนิ่งๆ ซักพักถึงจะดีขึ้น แต่ถ้าขยับศีรษะก็จะมีอาการบ้านหมุนขึ้นมาใหม่ เป็นๆหายๆ เป็นวันหรือสัปดาห์ ศัพท์แพทย์ที่ใช้ตามลักษณะของโรคโดยตรง คือ Benign Paroxysmal Positional Vertigo (BPPV) โรคเวียนศีรษะเวลาเปลี่ยนท่า

          สำหรับสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดแต่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะมาก่อน เคยติดเชื้อในหูชั้นใน และที่สำคัญ คือมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

          ในหูชั้นในประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ
1. อวัยวะรูปก้นหอย (cochlea) มีหน้าที่รับการได้ยิน
2. อวัยวะรูปครึ่งวงกลม (semicircular canal) เชื่อมต่อกันสามชิ้น มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว 

          ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการตกตะกอนของสารที่อยู่ข้างใน หรือมีหินปูนหลุดจากอวัยวะข้างเคียงเข้ามาอยู่ในส่วนครึ่งวงกลมดังกล่าว ทำให้เวลาที่ผู้ป่วยขยับศีรษะเกิดการสั่นของตะกอนในหูข้างที่มีปัญหา สัญญาณที่ส่งจากหูทั้งสองข้างไปยังสมองส่วนกลางจึงไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความรู้สึกบ้านหมุนขึ้นมา โดยทั่วไปอาการเวียนศีรษะในครั้งแรกจะรุนแรง ต่อมาจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง อาการบ้านหมุนสามารถเป็นได้หลายๆ ครั้งต่อวัน จากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นอาจจะนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ในบางรายอาการจะกลับเป็นซ้ำได้อีกในเวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี แต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อไม่มีเสียงผิดปกติหรือหูไม่ได้ยิน และไม่พบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลา ไม่มีอาการหมดสติ

การรักษา 
          การทำกายภาพบำบัด (Vestibular exercise) ในปัจจุบันเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและได้ผลดีมาก แบ่งได้ 2 วิธี 

          วิธีแรก ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเวียนศีรษะเท่านั้น ซึ่งจะต้องประเมินก่อนว่า ผู้ป่วยมีข้อห้ามในการทำด้วยวิธีดังกล่าวหรือไม่ เช่น มีหมอนรองกระดูกคอเสื่อม เส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ (Carotidartery Stenosis) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดไม่คงที่ (Unstable Angina) โดยแพทย์จะหมุนศีรษะผู้ป่วย เพื่อให้ตะกอนเคลื่อนที่ออกมาจากอวัยวะรูปครึ่งวงกลมที่คุมเรื่องการทรงตัว วิธีนี้ ได้ผลประมาณ 50-70% หลังจากทำครั้งแรก หากทำซ้ำอีกจะได้ผลถึง 90% ทีเดียว 

          วิธีที่สอง ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำที่บ้านเองได้ ด้วยการทำซ้ำๆ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น โดยให้ผู้ป่วยนั่งข้างเตียง แล้วล้มตัวด้านข้างจนหูแนบที่นอนอ ถ้ามีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นให้ค้างในท่านั้นจนกว่าจะดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 3-5 นาที แล้วลุกนั่งเพื่อล้มไปยังด้านตรงข้างใหม่ ควรทำซ้ำๆ อย่างน้อย 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น อาการจะดีขึ้นในหนึ่งสัปดาห์ นอกจากนี้ ในช่วงแรกที่อาการเป็นมาก สามารถให้ยาแก้เวียนศีรษะทานได้ แต่ไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราจะทำให้อาการบ้านหมุนหายช้าลง ไม่เกิดการปรับตัวตามธรรมชาติของสมอง             (2.) โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) 
          เป็นโรคที่คิดว่าทุกคนคงเคยได้ยินชื่อมาก่อน บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากมีน้ำเข้าไปในหู ซึ่งในหูชั้นในของเราประกอบด้วยท่อครึ่งวงกลมเชื่อมต่อกับส่วนที่รับฟังรูปก้นหอย ดังที่อธิบายมาข้างต้นแล้ว และในท่อดังกล่าวมีของเหลวบรรจุอยู่ภายใน สาเหตุของโรคนี้จริงๆ แล้วยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากความดันของของเหลวดังกล่าวเพิ่มขึ้น (Endolymphatic hydrops) เป็นครั้งคราว ส่งผลให้สัญญาณจากหูทั้งสองข้างไม่เท่ากันจึงมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้น ประเด็นที่ผู้ป่วยมักจะสงสัยกันบ่อย ได้แก่ • อาการแบบไหนถึงจะเป็นอาการจากน้ำในหูไม่เท่ากัน และต่างจากภาวะตะกอนในหูอย่างไร?
อาการเริ่มต้นมักจะมีหูอื้อหรือมีเสียงวิ้งๆ ในหูนำมาก่อน เป็นที่หูข้างหนึ่งหรือสองข้างพร้อมกันก็ได้ จากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุน ซึ่งจะรุนแรงและนานเป็นชั่วโมงหรืออาจเป็นวันได้ โดยต่างจากภาวะตะกอนในหูที่จะเป็นช่วงสั้นๆ คล้ายเดินอยู่บนเรือโคลงเคลงตลอดเวลา อาเจียน คลื่นไส้ หลังจากอาการดีขึ้น จะเพลียมากต้องนอนพักเป็นวัน • พบบ่อยแค่ไหน ทำไม่เวลาบ้านหมุนทีไร หมอก็บอกว่าเป็นโรคนี้ทุกครั้ง?
จริงๆ แล้วโรคนี้พบได้ไม่บ่อยเท่ากับโรคตะกอนในหู และพบในผู้ป่วยที่อายุเริ่มเป็นน้อยกว่า รวมถึงมักจะมีประวัติครอบครัวร่วมด้วย • วินิจฉัยได้อย่างไร?
ดูจากประวัติและอาการเป็นหลัก ถ้าสงสัยมีภาวะอื่นร่วมด้วย หรือมีอาการทางระบบประสาท จำเป็นจะต้องตรวจเอกซเรย์สมองเพิ่มเติม ในรายที่เป็นมานานหรือมาตรวจขณะที่กำลังมีอาการ การตรวจการได้ยินแบบละเอียด (Audiogram) หากพบว่ามีการได้ยินเสียงในความถี่ต่ำลดลงก็จะช่วยในการวินิจฉัยได้มากขึ้น • ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างเวลามีอาการ?
ขณะมีอาการบ้านหมุนรุนแรง ควรนอนพักให้ศีรษะอยู่นิ่งๆ ให้นานที่สุด เพราะการขยับศีรษะจะทำให้อาการเป็นมากขึ้นได้ การทานยาแก้อาเจียนหรือยาลดอาการเวียนศีรษะก็ช่วยได้มากเช่นกัน • จะมีทางรักษาให้หายขาดหรือไม่ และต้องดูแลตัวเองอย่างไร?
ลักษณะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จะเป็นๆหายๆ บางราย 2-3 ปี มีอาการหรือบางคนเป็นเกือบทุกเดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความดันที่เพิ่มในท่อครึ่งวงกลม และปัจจัยกระตุ้นต่างๆ คำแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน 
          1. สูตรอาหารเฉพาะสำหรับน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากเลือดและของเหลวตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเชื่อมต่อและมีการแลกเปลี่ยนกัน อาหารและปริมาณเกลือแร่ที่เราจึงมีผลกับความดันของน้ำในช่องหู อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง อาหารที่รับประทานได้ อาหารที่มีปริมาณเกลือและน้ำตาลมาก เช่น อาหารที่ผ่านการหมัก,ดอง, อาหารกระป๋อง ผัก ผลไม้สด อาหารที่ปรุงเอง อาหารที่มีผงชูรส หรือสารปรุงแต่งมาก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป   อาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม เช่น กาแฟ ชา ชาเขียว น้ำอัดลม   กลุ่มแอลกอฮอล์             2. การใช้ยาในกลุ่มแก้เวียนศีรษะ เช่น ยาแก้เมารถ หรือยาในกลุ่มใหม่ที่ไม่ค่อยมีผลข้างเคียงหรือง่วงซึม ทานช่วงที่มีอาการในสัปดาห์แรกจะได้ผลดี
3. ในรายที่เป็นเรื้อรังและไม่ได้ผลจากการคุมอาหารหรือใช้ยา และกลุ่มที่มีอาการได้ยินมีปัญหา การผ่าตัดเพื่อเอาครึ่งวงกลมในส่วนที่มีปัญหาออก (Endolymphaticsac Surgery) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง           (3.) สมองในส่วนการทรงตัวขาดเลือดเป็น ๆ หาย ๆ (Vertebro-basilar Insufficience) 
          อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หูชั้นในส่วนที่เป็นครึ่งวงกลมทำหน้าที่รับการทรงตัว จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปยังก้านสมอง (Brainstem) และสมองน้อยด้านหลัง (Cerebellum) ดังนั้นพยาธิสภาพอะไรก็ตาม เช่น สมองขาดเลือด สมองอักเสบบริเวณดังกล่าวก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกหมุน โคลงเคลงได้ สำหรับผู้ป่วยรายใดก็ตาม ถ้ามีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ตาเห็นภาพซ้อนเห็นคนเป็นสองหัว พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง แขนขาอ่อนแรงข้างเดียว หรือสองข้างมีอาการเดินเซจะล้มโดยที่ขายังมีแรงดี บ่งบอกว่าอาการบ้านหมุนจะต้องมาจากรอยโรคในระบบประสาทแน่นอน ส่วนใหญ่อาการจะเกิดเป็นนาทีแล้วก็จะดีขึ้น • ผู้ป่วยมักจะมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดมาก่อน ได้แก่ เบาหวาน, ความดัน, โลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, สูบบุหรี่จัด และอายุมาก

• ทำไมต้องแยกว่าสาเหตุอยู่ที่หูหรือสมอง?
เพราะการรักษารวมไปถึงการพยากรณ์โรคต่างกันอย่างสิ้นเชิง โรคของหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องได้ยาป้องกันไม่ให้เส้นเลือดตีบหรืออุดตัน โดยใช้ยาในกลุ่มยาต้านเกร็ดเลือดหรือต้านการแข็งตัวของเลือด ควบคู่ไปกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือด มิฉะนั้นหากปล่อยทิ้งไว้ ผู้ป่วยอาจเกิดอัมพาต


ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท  

โรคบ้านหมุน, โรคบ้านหมุน หมายถึง, โรคบ้านหมุน คือ, โรคบ้านหมุน ความหมาย, โรคบ้านหมุน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu