ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม หมายถึง, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม คือ, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม ความหมาย, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม

          เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ” เนื่องในมงคลสมัยที่สมเด็จพระพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุ ๖ รอบ

          เรื่องการทรงกรมของพระบรมวงศานุวงศ์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงขอนำเสนอเรื่องดังกล่าวดังนี้

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเรื่องยศของเจ้านายในราชสกุลไว้ว่า “ยศเจ้านายในราชสกุลมี ๒ ประเภท สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้านายชั้นใดประเภทใด ๑ และ อิสสริยยศ คือยศที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาตั้งแต่งในทางราชการประเภท ๑”

          สกุลยศชั้นสูงของเจ้านายคือ “เจ้าฟ้า” สกุลยศรองลงมาคือ “พระองค์เจ้า” “หม่อมเจ้า” “หม่อมราชวงศ์” และ “หม่อมหลวง” ตามลำดับ

          ส่วนอิสริยยศ ซึ่งเป็นยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาเจ้านายให้มีศักดิ์สูงขึ้นนั้น นอกจากการสถาปนายกให้มีพระยศสูงขึ้นทางสกุลยศ คือยกหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า ยกพระองค์เจ้าเป็นเจ้าฟ้าแล้ว ยังมีการสถาปนาพระอิสริยยศอีกอย่างหนึ่ง คือสถาปนาเจ้านายในราชตระกูลตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปให้เป็นเจ้าต่างกรม คือมียศเป็นกรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ และ กรมพระยา นั้น ปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในสมัยอยุธยาแบ่งพระอิสริยยศเจ้านายต่างกรมเป็น ๔ ชั้น คือ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน และ กรมหมื่น

          ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเพิ่มพระอิสริยยศเจ้าต่างกรมขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า กรมสมเด็จพระ ซึ่งเป็นพระยศที่สูงกว่ากรมพระที่เคยมีมาแต่ก่อน และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระยศกรมพระยาขึ้นแทนพระยศกรมสมเด็จพระ

          การตั้งเจ้านายให้ “ทรงกรม” เป็น “เจ้าต่างกรม” นั้น เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นว่า เจ้านายบางพระองค์มีพระปรีชาสามารถในกิจการงาน อุทิศพระองค์ให้กับงานราชการ มีความซื่อสัตย์ สมควรที่จะมีผู้คนส่วนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่แบ่งเบาภาระในการปฏิบัติงานส่วนพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายพระองค์นั้นมีผู้คนรวบรวมขึ้นเป็นกรม โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้บังคับบัญชาหรือกรมมีชั้นยศที่แสดงให้เห็นว่า เป็นกรมที่มีผู้คนมากน้อยตามชั้นยศเจ้ากรมนั้น เช่น เจ้านายทรงกรมเป็น “กรมหลวง” เจ้ากรมมียศเป็นหลวง ปลัดกรมมียศเป็น “ขุน” และ สมุหบัญชีมียศเป็น “หมื่น”

          การออกพระนามเจ้านายที่เป็นเจ้าต่างกรมหรือทรงกรมนั้นต้องออกพระนามเจ้านายเสียก่อนแล้วจึงตามด้วยชื่อกรม ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้คนในบังคับบัญชา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเจ้านายพระองค์นั้นบังคับบัญชากรม เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ แต่ปัจจุบันชื่อกรมเหล่านั้นมีความหมายเป็นพระอิสริยยศและพระนามเจ้านายเท่านั้น มิได้มีผู้คนอยู่ในบังคับบัญชาเช่นสมัยก่อน

          นอกจากนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงตั้งพระนามทรงกรมของพระราชโอรสและพระราชธิดาตามชื่อจังหวัดหรือมณฑล เช่น กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กรมขุนลพบุรีราเมศร์ กรมขุนสงขลานครินทร์

          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ไม่มีการสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม คงมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ จนกระทั่งรัชกาลปัจจุบันได้มีการสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ๔ พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกฏ เป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคลเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ

          นับจาก พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นต้นมาไม่มีการสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรมอีก จนกระทั่งในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องจากมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีที่ทรงพระคุณานุคุณ และทรงเป็นที่เคารพนับถือแห่งพระบรมราชวงศ์ อีกทั้งทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยความจงรักภักดีและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติตลอดมา เพื่อเป็นการสนองพระกรุณาธิคุณ เชิดชูพระเกียรติตามราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ผู้เขียน : นางสาวกนกวลี  ชูชัยยะ
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๙, มิถุนายน ๒๕๓๘

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=647


การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม หมายถึง, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม คือ, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม ความหมาย, การสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu