ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

บั้งไฟพญานาค, บั้งไฟพญานาค หมายถึง, บั้งไฟพญานาค คือ, บั้งไฟพญานาค ความหมาย, บั้งไฟพญานาค คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
บั้งไฟพญานาค

“บั้งไฟพญานาค” เป็นปรากฎการณ์ของการเกิดลูกไฟสีชมพูพวยพุ่งขึ้นจากกลางลำน้ำโขงสู่อากาศ โดยลูกไฟนั้นไม่มีควัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง พุ่งสูงประมาณ 20-30 เมตร แล้วหายไปโดยไม่มีการโค้งลงมา เช่น บั้งไฟทั่วไป ขนาดของลูกไฟมีตั้งแต่ขนาดเท่าหัวแม่มือ กระทั่งขนาดเท่าฟองไข่ไก่ เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่แน่นอน ตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 2-3 ทุ่ม สถานที่เกิดมักเป็นลำน้ำโขง ในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอปากคาด อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และบริเวณอื่นๆ บ้าง เช่น ตามห้วยหนองที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขง

วันเวลาที่เกิด “บั้งไฟพญานาค” จะเป็นปรากฏการณ์ที่แน่นอน คือตรงกับ วันออกพรรษา วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาของลาว (พนิดา 2538 : 77)

ความเชื่อและตำนาน

ลำน้ำโขง

คนไทยทางภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงและคนลาวแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีความเชื่อกันมานานแล้วว่า แม่น้ำโขง เกิดจากการเดินทางของนาคตนหนึ่งชื่อว่า ปู่เจ้าศรีสุทโธ นาคตนนี้เมื่อเลื้อยไปเจอภูผาหรือก้อนหินก็เลี้ยวหลบ ผิดกับนาคตนอื่นๆ ที่จะเลื้อยผ่าตรงไปเลย เส้นทางการเดินของเจ้าศรีสุทโธจึงมีลักษณะคดเคี้ยวไปมา เรียกกันว่า ลำน้ำคดหรือลำน้ำโค้ง แล้วต่อมาเพี้ยนเป็น ลำน้ำโขง (สกู๊ปพิเศษ 2544 : หน้าปกใน)

ตำนานการเกิดบั้งไฟพญานาค

ครั้งเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พญาคันคาก ได้จุติอยู่ในครรภ์ของพระนางสีดา เมื่อเติบใหญ่ได้บำเพ็ญเพียรภาวนา จนพระอินทร์ชุบร่างให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พระอินทร์ได้ประธานนางอุดรกุรุตทวีปเป็นคู่ครอง พญาคันคากและนางอุดรกุรุตทวีป ได้ศึกษาธรรม และเทศนาสอนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายครั้นได้ฟังธรรมจากพระโพธิสัตว์คันคากก็เกิดความเลื่อมใสจนลืม ถวายเครื่องบัดพลี พญาแถน ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ก่อกำเนิดเผ่าพันธุ์และบันดาลน้ำฝนแก่โลกมนุษย์

พญาแถนครั้นไม่ได้รับเครื่องบัดพลีจากมนุษย์และสรรพสัตว์ รวมทั้งเทวดาที่เคยเข้าเฝ้าเป็นประจำ ไปฟังธรรมกับพญาคันคากจนหมดสิ้น จึงบังเกิดความโกรธแค้นยิ่งนัก

พญาแถนโกรธแค้นที่เหล่ามนุษย์และสรรพสัตว์หันไปบูชาพญาคันคาก จึงสาปแช่งเหล่ามวลมนุษย์ไม่ให้มีฝนตกเป็นเวลาเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน ทำให้เกิดความแห้งแล้งไปทุกหย่อมหญ้า เหล่ามวลมนุษย์จึงได้เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์ทูลถามและขอความช่วยเหลือ

พญาคันคากรู้ด้วยญาณจึงบอกมนุษย์ว่า เพราะพวกเจ้าไม่บูชาพญาแถน ท่านจึงพิโรธ จึงบันดาลมิให้มีฝนตกลงมา ความแห้งแล้งมีมาเจ็ดปี พญานาคีผู้เป็นใหญ่ในเมืองบาดาลที่เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์คันคากอยู่ขณะนั้นได้รับฟังจึงยกทัพบุกสวรรค์โดยไม่ฟังคำทัดทานของพระโพธิสัตว์คันคาก

แต่พญานาคีพ่ายแพ้กลับมาและบาดเจ็บสาหัสด้วยต้องอาวุธของพญาแถน พระโพธิสัตว์คันคากเกิดความสงสารด้วยเห็นว่าพญานาคีทำไปด้วยต้องการขจัดความทุกข์ให้เหล่ามวลมนุษย์ จึงได้ให้พรแก่พญานาคีและเหล่าบริวาร

“ขอให้บาดแผลเจ้าทั้งกายให้หายขาด กลายเป็นลวดลายงามดั่งเกล็ดมณีแก้ว หงอนจงใสเพริศแพร้วเป็นสีเงินยวง ความเจ็บปวดทั้งปวงจงเหือดหายไปจากเจ้า อันว่าตัวเจ้านั้นต่อแต่นี้ให้ศรีชื่น เป็นตัวแทนความเย็นในเวินแก้ว…แท้นอ” (คัดลอกจากบทการแสดง ปรับบางคำให้เป็นภาษากลาง)

นับจากนั้นเป็นต้นมาพระพญานาคีได้ปวารณาตนเป็นข้าช่วงใช้พระโพธิสัตว์ไปทุกๆ ชาติ แต่ความแห้งแล้งยังคงอยู่กับเหล่ามวลมนุษย์ พระโพธิสัตว์คันคากจึงได้วางแผนบุกสวรรค์ โดยให้พญาปลวกก่อจอมปลวกสู่เมืองสวรรค์ พญาแมงงอด แมงเงาเจ้าแห่งพิษ (แมงป่องช้าง) ให้จำแลงเกาะติดเสื้อผ้าพญาแถน พญานาคีให้จำแลงเป็นตะขาบน้อยซ่อนอยู่ในเกือกพญาแถน เมื่อองค์พระโพธิสัตว์คันคากให้สัญญาณจึงได้กัดต่อยปล่อยพิษ

พญาแถนพ่าย…ร้องบอกให้พระโพธิสัตว์คันคากปล่อยตนเสีย แต่พระโพธิสัตว์คันคากกลับบอกว่าขอเพียงพญาแถนผู้เป็นใหญ่ให้พรสามประการ ก็จะมิทำประการใด

  1. หนึ่ง…ให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาล เหล่ามวลมนุษย์จะจุดบั้งไฟบวงสรวงพญาแถน
  2. สอง…แม้ว่าฝนตกลงมาดั่งใจมาดแล้ว ให้ในทุ่งนามีเสียงกบเขียดร้อง
  3. สาม…เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งข้าว) ตัวข้าพญาคันคากจะส่งเสียงว่าวสนูให้พ่อฟังเป็นสัญญาณว่า ปีนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์

พญาแถนได้ฟังคำขอพรสามประการ(ความจริงแล้วสำหรับความคิดผมเองเป็นการขอประการเดียว และมีการบวงสรวงบูชา พญาแถนคงเห็นว่าคุ้ม) จึงได้ให้พรตามปรารถนา นับเนื่องจากนั้นมากลางเดือนหกของทุกๆ ปี ชาวอีสานจะร่วมกันทำบั้งไฟแห่ไปรอบๆ หมู่บ้านแล้วจุดบูชาพญาแถน

ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จเผยแพร่ศาสนาไปทั่วชมพูทวีป พญานาคีผู้เฝ้าติดตามเรื่องราวพระองค์ บังเกิดความเลื่อมใสและศรัทธายิ่งนัก รู้ด้วยญาณว่าพระองค์คือพญาคันคากมาจุติ จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นสาวก ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์

ค่ำคืนหนึ่งพญานาคีเผลอหลับไหลคืนร่างเดิม ทำให้เหล่าภิกษุที่ร่วมบำเพ็ญเพียรทั้งหลายตื่นตระหนก ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงขอให้พญานาคีลาสิกขา เนื่องจากนาคเป็นเดรัจฉานจะบวชเป็นภิกษุมิได้

พญานาคียอมตามคำขอพระพุทธองค์ แต่ขอว่ากุลบุตรทั้งหลายทั้งปวงที่จะบวชในพระพุทธศาสนาให้เรียกขานว่า “นาคี” เพื่อเป็นศักดิ์ศรีของพญานาคก่อนแล้วค่อยเข้าโบสถ์ จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เรียกขานกุลบุตรทั้งหลายที่จะบวชว่า “พ่อนาค”

ต่อมาเมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมและจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาและเหล่าเทวดา กระทั่งครบกำหนดวันออกพรรษา พญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจัดทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟถวาย ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

นับเนื่องจากนั้น ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จึงได้มีปรากฏการณ์ประหลาดลูกไฟสีแดงพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงสู่ท้องฟ้า ปรากฏมาให้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้ ทุกคนเรียกขานว่า “บั้งไฟพญานาค” (เขมชาติ 2544 : 256-258)

บั้งไฟพญานาคทางด้านวิทยาศาสตร์

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อถึงช่วงค่ำในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มักจะมีปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดความน่าอัศจรรย์ใจจนเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วประเทศ หรือทั่วโลกเลยก็ว่าได้ กับปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค ที่เกิดขึ้น ณ รอยต่อใจจังหวัดหนองคายและเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนถึงตอนนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่นั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อถึงวันออกพรรษา นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศต่างแห่แหนกันไปชมปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์นี้ที่จังหวัดหนองคายเป็นจำนวนมาก ในบางปีก็มีการเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นซ้อนกัน 2 วันติด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศหลายๆ สำนัก ต่างก็พยายามจะพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ จากข้อมูลระบุว่า ณ จังหวัดหนองคาย มีการเกิดปรากฏการณ์ลูกไฟประหลาดสีชมพูพุ่งขึ้นสูงเหนือลำน้ำโขงในระดับ 1 - 30 เมตร แล้วพุ่งขึ้นไปในอากาศที่ระดับความสูง 50 - 100 เมตร แค่เพียง 5 - 10 วินาที ไร้ซึ่งกลิ่น ควัน และเสียง ชาวบ้านละแวกนั้นมักเรียกกันว่า บั้งไฟผี หรือ บั้งไฟพญานาค ส่วนใหญ่จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไทยหลายฉบับให้ความเห็นและสรุปได้ว่า บั้งไฟพญานาค คือ ก๊าซมีเทน - ไนโตรเจน ที่เกิดจากการอาศัยอยู่รวมกันระหว่างแบคทีเรียที่สามารถทนทานต่อออกซิเจนได้ ณ ความลึกของแม่น้ำโขงและแหล่งน้ำข้างเคียงในระดับความลึก 4.55 - 13.40 เมตร ในตำแหน่งที่มีสารอินทรีย์พอเหมาะใต้ผิวโคลน หรือบริเวณผืนทรายท้องแม่น้ำโขง ประมาณกันว่าในระดับน้ำขนาดนี้จะมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส อีกทั้งมีปริมาณออกซิเจนน้อย ทั้งนี้ ในวันเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เป็นวันที่มีแสงแดดอ่อนๆ ส่องลงมาในช่วงเวลา 10 - 13 - 16 นาฬิกา มีอุณหภูมิสูงกว่า 26 องศาเซลเซียส ทำให้มีความร้อนมากพอที่ย่อยสลายอินทรีย์และเกิดการหมักจนได้ก๊าซมีเทนมากกว่าเป็นเวลา 3 - 4 ชั่วโมง ที่มากพอที่จะก่อให้เกิดความดันก๊าซในชั้นผิวทราย เกิดการควบแน่นจนหลุดออกมาและพุ่งขึ้นโผล่พ้นน้ำในที่สุด

เมื่อฟองก๊าซที่เกิดการหมักเป็นเวลานานอยู่ใต้น้ำพุ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ บางส่วน ก็จะฟุ้งกระจายออกไป มีแกนในของก๊าซมีขนาดเท่าหัวแม่มือพุ่งขึ้นสูงกระทบกับออกซิเจน เมื่อรวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงของคืนที่เกิดเหตุการณ์ทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้ ดังนั้น ดวงไฟหลากสีที่นักท่องเที่ยว หรือชาวบ้านพบเห็นกันจะเป็นสีแดงอำพัน (เหลือง) ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เกิดบั้งไฟพญานาคจะเป็นอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม กันยายน และตุลาคม เพราะโลกได้มีการโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้รังสีอัลตราไวโอเล็กมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นและเจาะทะลวงลงมายังพื้นโลกได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยนั้นตั้งอยู่ในแถบแนวเส้นศูนย์สูตรที่สามารถรับแสดงอาทิตย์ได้มากอีกด้วย และเนื่องจากโลกเรานั้นหมุนรอบตัวเองในแกนเอียงทำมุม 23.5 องศา กับดวงอาทิตย์ ทำให้ซีกโลกในเวลากลางคืนของประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 15 - 45 องศาเหนือและใต้อยู่ห่างจากแนวแรงรวมของแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ไม่เกิน 25 องศา จึงเป็นเหตุให้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนกันยายน ตุลาคม เมษายน และพฤษภาคม เกิดปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันในหลายประเทศ

เอกสารค้นคว้า

ความรู้เกี่ยวกับบั้งไฟพญานาคมีการศึกษาค้นคว้าและมีข้อเขียนมากพอควร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

หนังสือ

  • บั้งไฟพญานาค : มหัศจรรย์แม่น้ำโขง โรงพิมพิ์ คลังนานาวิทยา พ.ศ.2540 สิทธิพร ณ นครพนม ผู้เขียน 
  • บั้งไฟพญานาค : มิติวิทยาศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วารสาร (บอกเฉพาะชื่อ, พ.ศ. , หน้า)

  • กินรี ปีที่ 15 ฉบับที่ 9 กันยายน 2541 หน้า 62-66 
  • วิทยาจารย์ ปีที่ 100 ฉบับที่ 3 มิถุนายน 2544 หน้า 66-69 
  • ขวัญเรือน ปีที่ 33 ฉบับที่ 719 พฤศจิกายน 2544 หน้า 256-260 
  • ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2538 หน้า 76-93 
  • ชาวไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 32 27 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2539 หน้า 63-64 
  • บูรพาปาฏิหารย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ปักษ์แรก ตุลาคม 2544 หน้า หน้าหลังปก-9

หนังสืออ้างอิง

  • เขมชาติ (นามแฝง) “แสง สี เสียง อลังการ เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค จังหวัดหนองคาย”
  • ขวัญเรือนรายปักษ์. 33 : 719 (พฤศจิกายน 2544) หน้า 256-260
  • พนิดา (นามแฝง) “ไขปริศนาบั้งไฟพญานาค มหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำโขง”
  • ศิลปวัฒนธรรม. 16 : 4 (กุมภาพันธ์ 2538) หน้า 76-93
  • สกุ๊ปพิเศษ. “บั้งไฟพญานาค ความอัศจรรย์แห่งลำน้ำโขง”
  • บูรพาปาฏิหารย์. 1 : 4 (ตุลาคม 2544) หน้าปกหลัง-9

ขอบคุณข้อมูลจาก: mahamodo.com, thaifolk.commanager.co.th

บั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นที่ใดบ้าง

  • ในเขตอำเภอสังคม บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม, อ่างปลาบึก บ้านผาตั้ง อำเภอสังคม    
  • ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท 
  • ในเขตอำเภอเมือง บ้านหินโงม ตำบลหินโงม อำเภอเมือง, หน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ตำลบบ้านเดื่อ อำเภอ เมือง หนองคาย    
  • ในเขตอำเภอโพนพิสัย ปากห้วยหลวง ตำบลห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย, ในเขตเทศบาลตำบลจุมพล หน้าวัดไทย วัดจุมพล วัดจอมนาง ตำบลจุมพล
  • อำเภอโพนพิสัย หนองสรวง อำเภอโพนพิสัย, เวินพระสุก ท่าทรายรวมโชค ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย, บ้านหนองกุ้ง ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย  
  • ในเขตกิ่งอำเภอรัตนวาปี ปากห้วยเป บ้านน้ำเป ตำบลน้ำเป กิ่งอำเภอรัตนวาปี, วัดเปงจาเหนือ กิ่งอำเภอรัตนวาปี   
  • ในเขตอำเภอปากคาด บ้านปากคาดมวลชล ห้วยคาด อำเภอปากคาด    
  • ในเขตอำเภอบึงกาฬ วัดอาฮง ตำบลหอคำ อำเภอบึงกาฬ   
  • ที่อื่นๆ นอกจาก 14 แห่งนี้ที่อื่นก็อาจจะมีขึ้นบ้าง นอกจากในลำน้ำน้ำโขงแล้วตามห้วย หนองคลองบึง สระน้ำ กลางทุ่งนาที่มีน้ำขัง
  • แม้แต่บ่อบาดาลที่ชาวบ้านขุดเพื่อเอาน้ำมาใช้ ในเขตจังหวัดหนองคาย ก็มีบั้งไฟพญานาคขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์

* หมายเหตุ  ปี 2542 เกิดมากที่สุด ที่ชายตลิ่ง หน้าสถานี ตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ห่างจาก อ.เมือง หนองคาย เพียง 15กม.

การเดินทางไปชมบั้งไฟพญานาค

ปรากฏการณ์การเกิดบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นทุกปีและเกิดขึ้นมานานแล้วเดิมคนสนใจไม่มาก ปัจจุบันเรื่องบั้งไฟพญานาครู้จักกันอย่างแพร่หลาย ที่จังหวัดหนองคายผู้คนหลั่งไหลไปชมเป็นหมื่นเป็นแสนกระจายไปตามจุดที่มีบั้งไฟพญานาคขึ้นโดยเฉพาะอำเภอโพนพิสัย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอปากคาด

* ศึกษาเรื่องโดยละเอียดใน วารสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ 2538

สำหรับปี พ.ศ.2545 วันออกพรรษาของไทยจะตรงกับวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม แต่คาดว่าบั้งไฟพญานาคจะขึ้นมากคือ วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2545 เพราะตรงกับวันออกพรรษาของประเทศลาว

การเดินทางไปดูบั้งไฟพญานาค ถ้าจะไปรถโดยสาร ขึ้นรถโดยสาร กรุงเทพฯ – หนองคาย ที่สถานีขนส่งหมอชิดใหม่ ใช้เวลาเดินทาง 10 ชั่วโมงเศษ ราคาค่าโดยสารประมาณ 545 บาท เมื่อถึงจังหวัดหนองคายก็หารถสองแถวต่อไปยังอำเภอโพนพิสัย หรืออำเภออื่นๆ เช่นอำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอปากคาด อำเภอบึงกาฬ แต่ที่อำเภอโพนพิสัยบั้งไฟพญานาคจะขึ้นมากที่สุด รายละเอียดสถานที่ชม เมื่อไปถึงสามารถสอบถามได้สะดวก แล้วแต่จะเลือกไปชมที่ไหน

บั้งไฟพญานาค, บั้งไฟพญานาค หมายถึง, บั้งไฟพญานาค คือ, บั้งไฟพญานาค ความหมาย, บั้งไฟพญานาค คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu