จุลินทรีย์ประเภทแบคทีเรียและรา เมื่อเจริญในสภาวะที่เหมาะสม สามารถสร้างสารชีวภาพโมเลกุลใหญ่ หรือที่เรียกว่าโพลิเมอร์ ที่มีโพลิแซคคาไรด์ โปรตีน หรือไขมัน เป็นองค์ประกอบ โพลิเมอร์ในกลุ่มโพลิแซคคาไรด์ได้รับความสนใจในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น โพลิเมอร์ชีวภาพที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และลดน้ำตาลในเลือด บางชนิดใช้เป็นสารประกอบในการนำพายา หรือใช้ขึ้นรูปอาหารให้มีความคงตัวมากขึ้น
การศึกษาคุณสมบัติของโพลิเมอร์จากราในประเทศไทย
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ บีอาร์ที ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุน ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร นางสาว ศิริพร หมาดหล้า นักวิจัยไบโอเทค และ ดร. ภาวดี เมธะคานนท์ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศึกษาคุณสมบัติของโพลิเมอร์จากราในประเทศไทย และศักยภาพในการเป็นวัสดุปิดแผลโดยคัดเลือกราที่สร้างสารที่ทำให้อาหารเลี้ยงเชื้อมีความเหนียวเพิ่มขึ้น สารที่ราสร้างถูกทำให้บริสุทธิ์เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพและชีวภาพ รวมทั้งคุณสมบัติในการกระตุ้นกระบวนการหายของแผล เพื่อพัฒนาเป็นวัสดุปิดแผล
จากการศึกษาพบ ราแมลง 3 ชนิด ผลิตโพลิเมอร์ที่ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ทดสอบ และกระตุ้นให้เซลล์สร้างสารที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเร่งการหายของแผลได้ในระดับสูง จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่า โพลิเมอร์จากราแมลงทั้ง 3 สายพันธุ์มีน้ำตาลกลูโคสเป็นองค์ประกอบหลัก บ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นโพลิเมอร์ชนิดกลูแคน และมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบรองในระดับที่แตกต่างกัน โดยกรดอะมิโนชนิดที่พบมาก ได้แก่ เซรีน กรดกลูตามิก และกรดแอสปาร์ติก
จากผลการวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ราแมลงในประเทศไทย มีคุณสมบัติที่พัฒนาเป็นวัสดุปิดแผลได้ โดยในขั้นตอนการศึกษาวิจัยต่อไป ต้องนำโพลิเมอร์เหล่านี้ ไปทำให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับชนิดของแผล ทดสอบคุณสมบัติทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง รวมทั้งศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตโพลิเมอร์ของราทั้ง 3 สายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตโพลิเมอร์ ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)