ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

กะปิ, กะปิ หมายถึง, กะปิ คือ, กะปิ ความหมาย, กะปิ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
กะปิ

26 พฤษภาคม 2550

 

 

ท่ามกลางความตึงเครียดของความขัดแย้งแย่งชิง ป่าพรุแม่รำพึง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างชาวบ้านเจ้าถิ่นที่ต้องการให้คงสภาพเดิม กับอุตสาหกรรมเหล็กระดับชาติที่เตรียมถมพื้นที่ขยายโรงงานถลุงเหล็กใกล้ทะเล เชื่อหรือไม่ว่าเราพบความมหัศจรรย์จรรโลงใจบางอย่างปรากฏอยู่ตรงหน้า

 

..... น้ำพริกกะปิถ้วยเล็กๆ กับผักพื้นบ้านหลากชนิด.....

 

ผู้มาเยือนต่างก้มหน้าก้มตากิน ไม่พูดพร่ำทำเพลงกับใคร ไม่เว้นแม้แต่ทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จังหวัดเชียงใหม่ ที่ลงมาให้กำลังใจและร่วมกิจกรรมปักป้าย พื้นที่เสียงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้าน

 

นักข่าวบางคนคิดจะคว้ากล้องมาถ่ายวงอาหารที่ดูซีเรียสกว่าวงสัมมนาเก็บไว้ดูขำๆ ก็ยังเปลี่ยนใจ ... กินก่อนเว้ย เดี๋ยวหมด  !

 

น้ำพริกกะปิแสนธรรมดาในวันนั้นสร้างความประทับใจแก่แขกเหรื่อถ้วนทั่ว เพราะกะปิ ที่นี่หอมและกลมกล่อมกว่ากะปิแบบกระปุกที่เราซื้อในโลตัสเป็นไหนๆ  

 

นอกจากนี้ยังมีน้ำพริกน้ำปลารสชาติไม่คุ้นลิ้น มารู้ที่หลังว่านั่นไม่ใช่น้ำปลา แต่เป็น น้ำเคย

 

เคย เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายกุ้งแต่ตัวเล็กกว่ามาก จึงอาจจะพออนุโลมให้เรียกได้ว่า น้ำกุ้งไม่ใช่น้ำปลา ;-) นี่เป็นอาหารเฉพาะถิ่นที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้

 

ชาวบ้านที่นี่ทำกะปิกินกันเองแทบทุกหลังคาเรือน พวกเราจึงอ้อนวอนขอแบ่งซื้อกะปิแสนอร่อยนั้นกลับไปฝากบ้านกันคนละโล สองโล แถมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังไม่วายซื้อไปฝากสมัชชาคนจนที่ตอนนั้นยังชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภาอีกหลายโลด้วย

 

 เราเลือกชายหาดบ้านกรูดเป็นที่พัก มันอยู่ถัดไปนิดหน่อยจากพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปตั้งแคมป์ในป่าพรุเพื่อเฝ้ายาม 24 ชั่วโมง ไม่ให้บริษัทสหวิริยาเข้ามาแผ้วถางขยายโรงงานถลุงเหล็ก

 

หาดบ้านกรูดเคยเป็นพื้นที่ร้อนระอุที่ชาวบ้านกรูดร่วมกับชาวบ่อนอกต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรงเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ชัยชนะของชาวบ้านในวันนั้น ทำให้วันนี้หาดบ้านกรูดยังคงทอดตัวอย่างสงบและงดงาม มีนักท่องเที่ยวไปเยือนไม่มากนัก

 

บรรยากาศของที่นี่อาจจะแปลกหูแปลกตาผู้มาเยือนไปบ้าง เพราะเป็นทะเลที่เรายังสามารถเห็นภาพรีสอร์ท นักท่องเที่ยว และเรือประมงขนาดเล็กออกหากินได้ในเวลาเดียวกัน

 

ยามค่ำคืน พระจันทร์ดวงกลมโตสุกปลั่งสะท้อนแสงนวลลงบนพื้นน้ำระยับ นั่งมองเพลินๆ อาจนึกว่าตัวเองหลงไปในดินแดนเทพนิยายที่เคยหลงใหลสมัยครั้งยังเด็ก

 

บางเช้า หรือบางเย็น จะเห็นคนไสเครื่องมือบางอย่างตามชายฝั่ง เราเรียกอาการแบบนั้นว่า การรุนเคย หรือการจับเคย ชาวบ้านที่นั่นจะใช้ ละวะ หรือ กะวะในการรุนเคยเอามาทำกะปิ ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะทำไว้กินเอง หรือขายกันนิดๆ หน่อยๆ ทำให้กะปิรสเลิศของที่นี่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ ถามโอ่ง ตามไหของคนที่นั่น

 

 

การทำกะปินับเป็นวิถีชีวิตของที่นี่ เช่นเดียวกับการรุนเคยที่ต้องอาศัยประสบการณ์ของลูกทะเลอยู่ไม่น้อย เพราะสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วนี้ไม่ใช่สิ่งหาได้ง่าย ต้อง ลับเฉพาะคนรู้ใจ เท่านั้น

 

สมหวัง พิมสอ หรือ พี่เศวก ชาวประมงพื้นบ้านและชาวสวนมะพร้าวแถบดอนสำราญ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคนหนุ่มที่ต่อสู้ปกป้องป่าพรุ เล่าว่า เคย จะมีในบางช่วงบางฤดูเท่านั้น และในฤดูนั้นก็ต้องมีจังหวะที่ดี มีอากาศดี น้ำดี เคยถึงจะขึ้น กำหนดแน่นอนอะไรไม่ได้ แต่ชาวประมงจะรู้เองโดยสัญชาตญาณว่า อากาศแบบนี้แหละ น้ำแบบนี้แหละ เตรียมรอได้เลย...

 

เคยจะมีมากตั้งแต่เดือนตุลาคมซึ่งลมหัวว่าวจะเริ่มพัดมา ไล่ไปจนถึงเดือนเมษายน มันมักเข้าแต่เช้า บางทีตีห้าชาวบ้านก็ออกไปรุนเคยกันแล้ว โดยมันจะรวมตัวกันเป็นสาย ตรงหัวจะรวมกันเป็นก้อนใหญ่แล้วเป็นหางทอดยาวไป มันจะลอยอยู่ไม่ห่างจากฝั่งมากนัก  แต่ถ้าน้ำทะเลร้อนเกินไป หรืออากาศไม่เหมาะสมในวันนั้น ก็มีเหมือนกันที่ลูกทะเลต้องนั่งรอกันเก้อ !

 

คุณยาย แม่ของพี่เศวก เล่าว่า สมัยก่อนนี้ เคย เป็นสิ่งสามัญธรรมดา หาง่าย กลาดเกลื่อนชนิดที่เอามาทำกะปิกันบ้านละหลายตุ่ม แต่ตอนนี้มีน้อยลงไปทุกที

 

สมัยก่อนเดือนอ้ายเดือนยี่ขนกันทั้งวันวันละ 14-15 หาบ มากองกันที่ลานเป็นภูเขาเลย โอ่งน้ำที่ใส่กะปิทำกันเป็นสิบโอ่ง ตอนนั้นยายอายุ 20 เห็นจะได้ คุณยายวัย 80 ปีกล่าว

 

มลเทียน พิมสอ ภรรยาของพี่เศวกเสริมว่า การลดจำนวนลงของเคยแถบบ้านดอนสำราญ เห็นได้ชัดเมื่อมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ของสหวิริยา และแนวกันคลื่น เพราะบริเวณแนวกันคลื่นนั้นเองเป็นทางเดินของกุ้งเคย ทำให้ตอนนี้ชาวดอนสำราญต้องวิ่งไปรุนเคยกันที่อื่นที่ท้องทะเลยังเอื้ออำนวยมากกว่า

 

เราบุกไปถึงในครัวเพื่อสอบถามวิธีการเปลี่ยนเคยตัวจิ๋วให้กลายเป็นกะปิหอมหวน เจ้าของบ้านออกมาต้อนรับอย่างดี แม้ว่ามันออกจะเช้าเกินไปหน่อย และเป็นการติดตามทำความรู้จักกะปิอย่างไม่ลดละเกินไปนิด จนอาจจะทำให้เจ้าถิ่นสงสัยอยู่บ้างว่า พวกนี้ไม่เคยเห็นกะปิกันหรือไง  (วะ) !!

 

กระนั้น พี่มลเทียนก็ยังเล่าให้ฟังอย่างละเอียดถึงวิธีทำกะปิว่า เมื่อรุนเคยได้จากทะเล ก็เอามาล้างน้ำกันที่ชายหาด ที่ต้องล้างน้ำเค็มก็เพราะหากเอามาล้างน้ำจืดที่บ้าน--เวลาหมักจะเปลืองเกลือ

 

จากนั้นนำเคยมาเคล้าเกลือแล้วใส่เข่งหมักไว้วันกับคืนหนึ่งแล้วออกตากแดด เอามานวดให้นวล ไม่ต้องใส่อะไรนอกจากเกลือ สูตรแต่ละบ้านจะแตกต่างกันก็ตรงที่การกะประมาณเกลือนี่แหละ ขั้นตอนการตากแล้วเอามานวดให้นวล ต้องระวังนิดหน่อย เพราะถ้าตากจนแห้งเกินก็จะได้กะปิเนื้อแข็ง

 

เมื่อนวดแล้วก็เอามาใส่ไหอัดให้แน่น เอาใบตาลปิด เอาไม้ขัดทับ ประมาณ 2 คืนก็จะมีน้ำเอ่อขึ้นมา

 

มันน่าแปลกตรงที่เวลาน้ำทะเลลงน้ำในไหก็จะแห้งลง เวลาน้ำทะเลขึ้นน้ำมันก็จะขึ้นเต็มปากไห นี่เป็นสิ่งที่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเขาสังเกตกันมานานแล้ว พี่มนเทียนว่า

 

ส่วนน้ำเคยที่โฆษณาไว้แต่ต้นว่าอร่อยกว่าน้ำปลานั้น ชาวบ้านเรียกอีกอย่างว่า น้ำหักคอ จะออกตอนที่เราเอาใส่เข่งหมักไว้ ซึ่งจะมีไม้พาดแล้วมีอ่างเล็กๆ รองน้ำข้างล่าง ได้มาแล้วก็เอาไปเคี่ยว เคี่ยวจนได้ที่สิริรวมแล้วจะได้น้ำเคยประมาณ 2 ขวดน้ำปลา 

 

ใครชอบหอมๆ จะใส่กระเทียม ใส่สับปะรด ใส่อ้อยด้วย ถ้าไม่มีก็กินอย่างนั้นเลย ขี้เคยจะนอนก้นหม้อ เราเอาแต่น้ำใสๆ ไป แต่บางคนก็ชอบกินขี้เคยนี้แหละ นี่คืออาหารชั้นยอดที่เลี้ยงผู้คนริมฝั่งทะเลมายาวนาน

 

นอกจากรสชาติจะแตกต่างกันไปบ้างตามสูตรแต่ละบ้านแล้ว สีของกะปิก็ยังมีหลายเฉด ถ้าเป็นเนื้อค่อนข้างขาวแสดงว่าเป็นเคยสดที่ได้มาแล้วก็เคล้าเกลือเลย แต่ถ้าเป็นกะปิสีแดง แสดงว่าได้เช้าแล้วไปใส่เกลือเย็น ทำให้ได้สีแดงสวยงาม

 

พี่มลเทียนเสริมอีกว่า แต่ถ้าเป็นพวก เคยไร จะตัวฝอยมาก ตาเคยจะเยอะ เขาจึงเรียก เคยตาดำ ขยำแล้วสีจะออกคล้ำๆ ม่วงๆ  แต่ถ้าเป็น เคยข้าวสาร ส้มโอ จะตัวโตหน่อย เนื้อจะเยอะ กะปิที่ได้ก็จะสีขาวนวล แต่ถ้าตัวเล็กมากก็คือ เคยว่าว จะมีก่อนลมหัวว่าวเข้ามา

 

ที่นี่ขายกันโลละ 100 ซื้อกินกันเอง แต่ถ้าแม่ค้าจะซื้อไปขาย จะไม่มีขายให้เขากิน เรามีไม่มาก ไปทางชุมพรเขาไม่ขายกันเลย เก็บไว้กินเอง

 

ปีนี้ก็ได้มาแค่กินนิดหน่อย เพราะไม่มีเวลาไปรุน มัวแต่เฝ้าอยู่ที่ป่าพรุ ตีห้าออกไปรุน พอสองโมงเช้าต้องขึ้นมาช่วยเขาทำกิจกรรมในพรุ

 

เรื่องราวในพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างตึงเครียด ไม่มีใครรู้อนาคตว่าโรงงานถลุงเหล็กจะเกิดขึ้นหรือไม่  ไม่มีใครรู้ว่าดินแดนในเทพนิยายแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่มีใครรู้ว่าเรี่ยวแรงของคนเล็กๆ จะมีไปอีกนานแค่ไหน

 

สิ่งที่รู้คือชาวบ้านในจังหวัดที่มีชายทะเลยาวที่สุดในประเทศแห่งนี้ ต้องลุกขึ้นสู้กับการวางแผนพัฒนาของรัฐโดยไม่บอกกล่าวรอบแล้วรอบเล่าเพื่อปกป้องทรัพยากรและวิถีชีวิต

 

และสิ่งที่รู้แน่นอนที่สุดคือ กะปิเขาอร่อยจริงๆ พ่อแม่พี่น้อง !!

 ภาพและที่มา  www.prachatai.com


กะปิ, กะปิ หมายถึง, กะปิ คือ, กะปิ ความหมาย, กะปิ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu