ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ หมายถึง, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ คือ, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ ความหมาย, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ

ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ธงพื้นแดงนั้น ใช้ชักบนเรือสินค้าของราษฎรไทยทั่วไป ภายหลังเมื่อประกาศใช้ธงช้างเป็นธงชาติครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มักใช้ในเรือที่เดินทางค้าขายกับต่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีการชักขึ้นตามป้อม วังเจ้านาย บ้านเรือนข้าราชการและราษฎร ร้านค้า และสถานีราชการ ตลอดจนใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีต่างๆ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวแต่อย่างใด จนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีระเบียบเกี่ยวกับธงชาติออกประกาศใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๙ เรียกว่าระเบียบการชักธงชาติสยาม

 ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๑๗-๒๐ บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติและข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษท้ายพระราชบัญญัติในมาตรา ๒๑-๒๓ ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับมีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบาแล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ

 ต่อมาได้มีระเบียบการชัดธงชาติออกบังคับใช้ตามลำดับ คือ

๑.ระเบียบการชักธงชาติสยาม แก้ไขเพิ่มเติม (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ภาคที่ ๑ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ หน้า ๘๓๘)

๒.กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ หน้า ๑๑๙๓-๑๑๙๔)

๓.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการชักธงชาติสยาม ออกประกาศวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๔ ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๐ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ หน้า ๖๖๗)

๔.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๔ เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ออกประกาศวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖ ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๒ วันที่ ๙ กันยายน หน้า ๑๖๑๑) มีใจความโดยย่อว่า รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพจากชาวไทย ฉะนั้นเมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากยอดเสาตามสถานที่ราชการในเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้ทุกคนแสดงความเคารพตามระเบียบเครื่องแบบของตนหรือประเพณีนิยม เมื่อได้ยินเพลงชาติซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการ หรือบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรืออยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

๕.พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ตรา ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๔ ว่าด้วยข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติต่อธงชาติ ๖ ประการ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ แผนกฤษฎีกา ภาค ๒ วันที่ ๑๕ ตุลาคม หน้า ๕๐๘-๕๑๓)

๖.ระเบียบการชักธงชาติ ออกประกาศวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ศกเดียวกันเป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ พ.ศ. ๒๔๘๓ ภาค ๒ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๓๒๒๒-๓๒๒๘)

๗.พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕ ตรา ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙ พ.ศ. ๒๔๘๕ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑ ตอนที่ ๓๓ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม หน้า ๑๐๘๓-๑๐๘๕) มาตรา ๓,๔

๘.กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙ พ.ศ. ๒๔๘๕ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑ หน้า ๑๐๘๖-๑๐๘๘)

๙.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ ออกประกาศวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นไป ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ ออกประกาศวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ และฉบับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ กับบรรดาคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการชัดธงชาติและมีข้อความขัดกับประกาศฉบับนี้ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ พ.ศ. ๒๔๘๗ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑-๒ ตอน ๗๒ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๑๒๙๐-๑๒๙๓)

๑๐.คำแนะนำในการปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ พ.ศ. ๒๔๘๗ แผนกฤษฎีกา ตอนที่ ๗๙ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๑๒๙๔-๑๒๙๕)

๑๑.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑ ประกาศวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ยกเลิกข้อความในข้อ ๘ แห่งระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ และใช้ข้อความตามที่แก้ใหม่ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ที่ ๖๕ พ.ศ. ๒๔๙๑ แผนกฤษฎีกา ตอนที่ ๕๙ วันที่ ๕ ตุลาคม หน้า ๕๙๘-๕๙๙)

๑๒.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๓ ออกประกาศวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗ ภาค ๔พ.ศ. ๒๔๙๓ ตอนที่ ๖๗ วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ หน้า ๖๓๗๓-๖๓๗๔) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งแก้ไขข้อความในข้อ ๘ แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใหม่

๑๓.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ ออกประกาศวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘ ภาค ๒ เล่ม ๑ ตอนที่ ๔๔ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม หน้า ๒๘๐๙-๒๘๑๑) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขข้อความในข้อ ๘ แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ และแก้ไขข้อความใหม่

๑๔.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขการชักและประดับธงชาติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘ ภาค ๒ เล่ม ๓ ตอนที่ ๗๖ วันที่ ๑๘ ธันวาคม หน้า ๕๖๖๘)

๑๕.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๕ ออกประกาศวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๕๔ วันที่ ๙ กันยายน หน้า ๒๙๑๗-๒๙๑๙) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๔) แก้ไขข้อความใหม่

๑๖.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๑ ออกประกาศวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕ ภาค ๒ เล่ม๑ ตอนที่ ๕๗ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม หน้า ๒๑๒๙-๒๑๓๐) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๕) และแก้ไขข้อความใหม่

๑๗.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๓ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๕๑ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๑๕๖๖) ยกเลิกข้อความในข้อ ๘ ซ.

๑๘.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๐๓ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๘๓ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๒๑๔๐) แก้ไขข้อความในข้อ ๕ ข. ของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธง พ.ศ. ๒๔๘๘

๑๙.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ มีข้อความแก้ไขข้อความในข้อ ๕ กำหนดเวลาชักธงขาติขึ้นลงแห่งระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงแก้ไขกำหนดเวลาการชักธงชาติขึ้นลงและการเคารพธงชาติใหม่ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดความผูกพันทางจิตใจ และมีความตื่นตัวเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของบ้านเมืองยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วลงมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตึงดำเนินการแก้ไข และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกบังคับใช้ดังกล่าวมาแล้ว

ตามประกาศทั้งหลายดังกล่าว เป็นผลให้ประเทศไทยมีระเบียบว่าด้วยการชักธงชาติดังต่อไปนี้

 การชักธงชาติในเวลาปกติ

๑. สถานที่และยานพาหนะของราชการฝ่ายทหาร ให้ชักธงชาติตามระเบียบ และข้อบังคับของทหาร
๒. สถานที่ราชการพลเรือนให้ชักธงชาติทุกแห่ง ถ้าในบริเวณเดียวกันมีสถานที่ราชการหลายแห่ง จะสมควรชักธงชาติ ณ ที่ใดให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าผู้ปกครองสถานที่นั้น
๓. โรงเรียนทุกประเภท ให้ชักธงชาติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางไว้
๔. เรือเดินทะเล ให้ชักธงชาติไทยโดยปฏิบัติตามธรรมเนียมของชาวเรือที่นิยมกันอยู่ทั่วไป
๕. ที่สาธารณสถาน และสถานที่ของเอกชน ถ้าจะชักธงชาติ ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ด้วยอนุโลม
๖. ยานพาหนะอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้ข้างต้น ในเวลาปกติไม่ควรชักธงชาติ

 


กำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นลง

๑. ให้กำหนดเวลาชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา โดยใช้ชักธงขึ้นตามเสียงเพลงชาติที่บรรเลงต่อจากการเทียบเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
๒. สำหรับโรงเรียนทั้งของรัฐและโรงเรียนราษฎร์นั้นให้เลือกชักธงชาติได้ทั้งเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา หรือเวลาที่โรงเรียนเข้า ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่เลยจากเวลา ๘.๐๐ นาฬิกาไปแล้ว ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือทบวงมหาวิทยาลัย
๓. ให้กำหนดเวลาเชิญธงชาติลงจากเสาเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา โดยฟังเสียงเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกาตรง ตามเวลาของสถานที่นั้น ๆ ในกรณีที่ไม่มีเสียงวิทยุ สำหรับโรงเรียนให้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
๔. ให้สถานที่ราชการทุกแห่งเปิดวิทยุรับฟังเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา และเชิญชวนให้ข้าราชการหยุดยืนเคารพธงชาติในเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ ให้สถานที่ราชการทุกแห่งมีและใช้ธงชาติที่มีสภาพดีและเรียบร้อย โดยไม่ปล่อยให้ธงชาติที่ใช้อยู่ในสภาพที่ขาดวิ่น หรือสีสันซีดจนมองไม่ออกว่าเป็นธงชาติไทย

 การทำความเคารพในขณะชักธงชาติ

๑. ทหาร ให้ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของทหาร
๒. ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการวางไว้ ดังนี้

(๑) การชักธงชาติขึ้นสู่เสาของสถานศึกษา ให้เชิญธงชาติขึ้นสู่เสาเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา หรือเวลาเข้าเรียนในตอนเช้า ตามความเหมาะสม ส่วนการลดธงลงในตอนเย็น ให้ลดธงลงในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
(๒) ให้นักเรียนร้องเพลงชาติในขณะชักธงชาติขึ้นสู่เสาด้วยตนเอง ห้ามใช้วิทยุหรือแผ่นเสียง แต่ถ้าสถานศึกษาจะใช้แตรวงบรรเลงประกอบการร้องของนักเรียนด้วยก็ให้กระทำได้
(๓) สำหรับการลดธงลงในตอนเย็นให้ฟังเสียงเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และให้จัดครูเวรสองคนแต่งกายแบบสุภาพเป็นผู้ลดธงลง
(๔) สำหรับการเชิญธงชาติขึ้นสู่เสาเฉพาะภายในกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการชักธงชาติเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา โยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะจัดเวรข้าราชการรับผิดชอบการชักธงเป็นประจำ ข้าราชการดังกล่าวขอให้แต่งกายสุภาพ และข้าราชการที่ได้ยินเสียงร้องเพลงชาติ หรือได้เห็นการชักธงชาติจะต้องหยุดทำความเคารพด้วย แม้กำลังนั่งอยู่ในรถก็ตาม การชักธงลงในตอนเย็นใช้เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
สำหรับกรมพละศึกษาและกรมศิลปากร ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน(1)

๓. บุคคลนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ และ ๒ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่ชักธง หรือเห็นหรือได้ยินสัญญาณการชักธง ให้แสดงความเคารพตามระเบียบการเคารพประเพณีนิยม จนเสร็จการชักธงชาติ

 

การลดธงชาติครึ่งเสา

กรณีที่จะชักธงชาติครึ่งเสาเป็นเวลานานเท่าไร ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป

วันพิธีที่ทำการชักธงและประดับธงชาติ

๑. วันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม และวันที่ ๑,๒ มกราคม ๓ วัน
๒. วันมาฆบูชา ๒ วัน
๓. วันจักรี วันที่ ๖ เมษายน ๑ วัน
๔. วันสงกรานต์ วันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน ๓ วัน
๕. วันฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๑ วัน
๖. วันพืชมงคล ๑ วัน
๗. วันวิสาขบูชา ๑ วัน
๘. วันอาสาฬหบูชา ๑ วัน
๙. วันเข้าพรรษา ๑ วัน
๑๐. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๑ วัน
๑๑. วันสหประชาชาติ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๑วัน
๑๒. วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕, ๖, ๗ ธันวาคม ๓ วัน
๑๓. วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ ๙, ๑๐, ๑๑ ธันวาคม ๓ วัน

นอกจากนี้สุดแต่ทางราชการจะประกาศให้ทราบ ส่วนงานพิธีอื่นๆ ตามประเพณีนิยม หากจะชักธงและประดับธงชาติก็ทำได้ แต่ต้องการกระทำไปด้วยความสุภาพ

 ข้อแนะนำในการชักธงชาติ

๑.ขนาดธงชาติควรมี ๒ ขนาด ขนาดหนึ่งเป็นขนาดเล็กไว้ใช้ในวันปกติ และอักขนาดหนึ่งเป็นขนาดใหญ่ใช้ในวันพิธี
๒.เสาธงชาติ จะมีขนาดสูงต่ำใหญ่เล็กเพียงไร และควรจะอยู่ ณ ที่ใดให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ปกครองสถานที่จะพึงพิจารณาให้เหมาะสม เป็นสง่างามแก่อาคารสถานที่นั้นๆ
๓.การเก็บรักษาและเชิญธงชาติ เนื่องจากธงชาติเป็นสิ่งสำคัญแสดงถึงความเป็นเอกราชของประเทศ การเก็บรักษาหรือเชิญไปมา จำเป็นต้องกระทำด้วยอาการเคารพ คือต้องเก็บหรือวางธงชาติบนพาน มิใช่ถือไปมาด้วยมือ ผู้เชิญธงชาติต้องแต่งกายสุภาพ หรือถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้อง(2)
๔. วิธีชักธงชาติ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

๔.๑ ก่อนถึงกำหนดเวลาชักธงชาติขึ้น ให้เตรียมธงชาติผูกติดกับเส้นเชือกให้เรียบร้อย
๔.๒ เมื่อถึงกำหนดเวลา ให้คลี่ธงออกเต็มผืน แล้วค่อยๆ ดึงเชือกให้ธงขึ้นช้าๆ ด้วยความสม่ำเสมอและเส้นเชือกตึงจนถึงจุดยอดเสาธง แล้วผูกเชือกไว้ให้ตึงไม่ให้ธงลดต่ำลงมาจากเดิม
๔.๓ เมื่อชักธงลง ให้ค่อยๆ ดึงเชือกให้ลงช้าๆ ด้วยความสม่ำเสมอและเส้นเชือกตึงถึงระดับเดิมเมื่อชักขึ้น
๔.๔ ในกรณีที่มีเพลงบรรเลง หรือมีสัญญาณในการชักธงขึ้นหรือลง จะต้องชักธงขึ้นหรือลงให้ถึงจุดที่สุดพร้อมกับจบเพลงหรือสัญญาณนั้นๆ

๕.การชักธงชาติครึ่งเสา ในกรณีที่ทางราชการประกาศใช้ชักธงชาติครึ่งเสา ให้ปฏิบัติการในการชักธงขึ้นเช่นเดียวกับในข้อ ๔.๒ เมื่อธงถึงยอดเสาแล้วจึงลดมาโดยเร็วให้อยู่ในระดับความสูง ๒ ใน ๓ ส่วน และเมื่อจะลดธงลง ให้ชักขึ้นโดยเร็วจนถึงยอดเสาก่อน แล้วจึงลดลงตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๔.๓

 

ข้อบังคับเกี่ยวกับธงชาติ

ภายในประเทศไทยใช้ชักได้แต่ธงชาติไทย ธงชาติของต่างประเทศชักได้ในกรณีต่อไปนี้
๑. ชักสถานทูต หรือสถานกงสุลตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๒. ชักธงบนเรือต่างประเทศ หรืออากาศยานต่างประเทศตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๓. ชักธงในโอกาสที่ประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนเดินทางมาเยือนประเทศไทย
๔. ชักในโอกาสที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง หรือในโอกาสที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พระราชบัญญัติธง ประกาศให้ชักได้ หรือในโอกาสที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
๕. การชักธงชาติในข้อ ๓,๔ ต้องชักตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง คือ

๕.๑ ต้องชักธงชาติไทยไว้กับธงต่างประเทศนั้นด้วย
๕.๒ ถ้าชักธงต่างประเทศ ประเทศเดียว ต้องให้ธงชาติไทยเคียงคู่อยู่ข้างขวาของธงชาติต่างประเทศ ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
๕.๓ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคี่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลาง
๕.๔ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคู่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลางข้างขวา ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
๕.๕ ธงชาติไทยที่ชักอยู่กับธงต่างประเทศนั้น ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าธงต่างประเทศและต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าธงชาติต่างประเทศที่ชักขึ้น ทั้งต้องมีลักษณะบริบูรณ์ ไม่ขาดวิ่นเลอะเลือน

๖. ข้อบังคับซึ่งกล่าวมานี้ ห้ามมิให้ใช้บังคับภายในห้องของบ้านหรือโรงเรียน
๗. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการต่อไปนี้

๗.๑ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ นอกจากที่อนุญาตไว้ใน พระราชบัญญัติธง หรือกฎหมายอื่น ลงบนธงชาติ
๗.๒ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ ลงในแถบสีธงชาติโดยไม่ควร
๗.๓ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติที่ได้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ อันต้องห้ามในข้อ ๗.๑ และ ๗.๒ ลงไว้ แม้ว่าจะเป็นรูปหรือเครื่องหมายที่ปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง
๗.๔ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติไว้ ณ สถานที่อันไม่สมควร หรือวิตถารวิธี
๗.๕ แสดงกิริยา วาจา หรืออาการอย่างหนึ่งอย่างใด หยาบคายต่อธงชาติหรือแถบสีธงชาติ
๗.๖ ประดิษฐ์สีธงชาติ หรือแถบสีธงชาติลง ณ สถานที่หรือสิ่งของใด ๆ โดยไม่สมควร หรือแสดงหรือใช้สถานที่หรือสิ่งของอันยังมีรูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติ ซึ่งประดิษฐ์ลงไว้โดยไม่สมควรนั้น แม้ว่ารูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติเช่นว่านั้นจะปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันใช้ พระราชบัญญัติธง

 บทกำหนดโทษ
๑.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในข้อบังคับ ๑-๕ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๒.ผู้ใดชักธงชาติหรือแสดงธงอย่างในอย่างหนึ่งในพระราชบัญญัติ โดยไม่มีสิทธิ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๒ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๓.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งข้อ ๗ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

 


-----------------------------
เชิงอรรถ
1) บันทึกที่ ศธ. ๐๒๐๑/๒๒๕๒๕ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เรื่องการชักธงชาติไทย
2) มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จากสำเนารายงานการประชุมอธิบดีเกี่ยวกับการชักธงชาติ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ กระทรวงศึกษาธิการ
 
ที่มา  www.bloggang.com


ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ หมายถึง, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ คือ, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ ความหมาย, ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu