ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล), เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) หมายถึง, เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) คือ, เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) ความหมาย, เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล)

           เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต มหิศรมหาสวามิภักดิ์ สุรินทรศักดิประพัทธพงศ์ จตุรงคเสนาบดี ยุทธวิธีสุขุมวินิต ธรรมสุจริตศิริสวัสดิ์ พุทธาธิรัตนสรณธาดา อุดมอาชวาธยาศัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ มีนยามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์อรุณ เป็นบุตรหม่อมเจ้านิล ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระองค์ซึ่งเป็นต้นสกุล ฉัตรกุล ณ กรุงเทพ มารดาชื่อหม่อมราชวงศ์สุ่น ปาลกวงศ์ ณ กรุงเทพ เป็นนัดดากรมหมื่นนราเทเวศร์ ในกรมพระราชวังหลัง

             เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เกิดที่บ้านบิดาเมื่อยังอยู่วังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ อันตั้งอยู่ ณ ตำบลท่าเตียนในจังหวัดพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นรัฐบาลต้องการที่จะสร้างศาลต่างประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม จึงให้หม่อมเจ้านิลและหม่อมเจ้าองค์อื่นในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ย้ายข้ามฟากไปอยู่ที่สวนริมวัดบุปผาราม (หมู่บ้านที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตอยู่เมื่อถึงแก่อสัญกรรมนั้น) อันใกล้กับจวนของท่าน

           ตรงนี้จะต้องอธิบายความย้อนถอยหลังไปถึงเรื่องประวัติกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ จึงจะเข้าใจว่าเหตุใดสมเด็จเจ้าพระยาฯจึงเอาเป็นธุระแก่หม่อมเจ้าในกรมนั้น กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าฉัตร เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าจอมมารดาชื่อตานี เป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) แต่เกิดด้วยภรรยาเดิม เมื่อสิ้นภรรยาคนนั้นแล้ว เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) จึงมาได้เจ้าคุณพระราชพันธ์นวลเป็นภรรยา เจ้าจอมมารดาตานีเป็นพี่สมเด็จเจาพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นแต่ต่างมารดากัน เพราะฉะนั้นหม่อมเจ้าในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์จึงนับได้ว่าเป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

         อนึ่งวังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ที่ท่าเตียนนั้น ได้ทราบว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้สร้างวังแต่ท้ายเขตตำหนักแพลงไปจนท่าเตียน ๒ วัง วังเหนือพระราชทานเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี วังใต้พระราชทานเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ อันเป็นพระโอรสสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย ถึงรัชกาลที่ ๒ ไฟไหม้วังเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี และเวลานั้นพระราชวังเดิมที่ใต้วัดอรุณฯ ว่างอยู่ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดฯให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ที่วังที่ไฟไหม้นั้นโปรดฯ ให้สร้างเป็นโรงวิเสทกับคลังสินค้า ยังคงอยู่แต่วังใต้ซึ่งเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เสด็จประทับอยู่ วังที่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ประทับอยู่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ นั้น จะอยู่ที่ใดสืบยังไม่ได้ความ ต่อในรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เสด็จย้ายข้ามฟากไปอยู่ (กล่าวกันว่าโดยซื้อ) วังเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศที่ใต้พระราชวังหลัง พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังเดิมของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ที่ท่าเตียนให้เป็นที่ประทับของกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เพราะทรงสนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย ไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ และกรมหมื่นสุรินทรรักษ์นั้น ได้ทรงกำกับราชการกรมเมืองมาแต่รัชกาลที่ ๒ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดให้กำกับราชการกรมมหาดไทยและกรมท่าด้วย

         ตามความที่ปรากฏในจดหมายเหตุเก่า แม้ที่ชาวต่างประเทศแต่ง สรรเสริญกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ว่าทรงพระปรีชาสามรถมาก เมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถัดกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ถึงกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ที่ยกย่องว่าเป็นหลักในราชการ ข้อนี้ปรากฏอยู่ในครั้งเมืองเวียงจันทน์กบฏ กองทัพใหญ่ที่ยกไปปราบปรามข้าศึก โปรดฯ ให้กรมพะระราชวังบวรฯ เสด็จเป็นจอมพลทัพ ๑ ให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์เสด็จเป็นจอมพลทัพ ๑ มีอำนาจเหนือเจ้านายและเสนาบดีที่ไปในกองทัพทั้งนั้น แต่กองทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ต้องเรียกกลับมารักษาทางปากน้ำ ด้วยครั้งนั้นระแวงจะมีกองทัพอังกฤษยกมาอีกทาง ๑ เพราะเกิดวิวาทขึ้นกับไทยด้วยเรื่องเมืองไทรในเวลาร่วมกับศึกเวียงจันทน์ คนที่ทันรับราชการในสมัยนั้นมักกล่าวกันว่า ถ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ยังทรงพระชนม์อยู่ภายหลังกรมพระราชวังบวรฯ พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นจะโปรดฯ ให้เป็นพระมหาอุปราช แต่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓ มีพระชันษาเพียง ๔๐ ปี แต่เจ้าจอมมรดาตานียังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกช้านาน คนทั้งหลายเรียกกันว่าเจ้าคุณวัง เพราะท่านเป็นพี่เจ้าคุณราชินิกุลที่เป็นธิดาของเจ้าคุณพระราชพันธ์นวลคือเจ้าคุณนุ่น ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณวังหลวง และเจ้าคุณคุ้ม ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณวังหน้า เป็นต้น เจ้าคุณวังออกมาอยู่ที่วังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์จนถึงอสัญกรรม หม่อมเจ้าในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์จึงอยู่ที่วังนั้นต่อมาจนย้ายไปอยู่ฟากข้างโน้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔

          เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตยังเด็ก ได้เล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักหม่อมเจ้าสุบรรณซึ่งเป็นอา และครูอื่นๆ อีก แต่การเล่าเรียนในสมัยนั้นยังสอนแต่เพียงให้อ่านหนังสือออกกับเขียนหนังสือได้ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้เรียนเพียงเท่านั้น ไท้ได้รับประโยชน์ในการศึกษาภาษาต่างประเทศ ฤๅแม้วิชาชั้นสูงในภาษาไทยเหมือนเช่นคนที่เกิดในชั้นหลัง ข้อนี้เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามเรื่องประวัติของท่านที่ปรากฏความสามารถในราชการ และกิจการอย่างอื่นเมื่อชั้นหลัง คิดดูก็เห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยอาศัยแต่ลำพังคุณความดีที่เป็นอุปนิสัยของท่านชักจูงเป็นข้อสำคัญอย่างเดียว

          ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้นนั้น ทรงพระราชดำริว่าหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์อันเป็นเชื้อสายในราชตระกูล เที่ยวกระจัดกระจายอยู่ตามอำเภอใจโดยมาก ถ้าไปประพฤติชั่วร้ายก็เสื่อมเสียพระเกียรติยศขึ้นชื่อมาถึงราชตระกูล ควรจะรวบรวมมาฝึกหัดให้ได้โอกาสหาคุณความดี ฤๅแม้อย่างต่ำก็พอป้องกันอย่าให้ไปประพฤติเสื่อมเสีย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ในต่างกรมที่รุ่นหนุ่ม มาฝึกหัดในกรมทหารมหาดเล็ก ในเวลานั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตอายุได้ ๑๖ ปี จึงอยู่ในหม่อมราชวงศ์ซึ่งเข้ามาเป็นทหารมหาดเล็ก ในชั้นแรกเป็นพลทหารอยู่ในกองร้อยที่ ๖

            การที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้เข้ามาเป็นทหารมหาดเล็กครั้งนั้น เมื่อคิดดูในเวลานี้ดูเป็นการประสบโชคสำคัญ เหมือนหนึ่งว่ากุศลหนหลังชักนำท่านเข้าสู่ทางที่จะถึงวิเศษ ซึ่งเหมาะแก่อุปนิสัยของท่าน รับราชการอยู่ไม่ช้าก็ปรากฏความสามารถ ได้เป็นนายสิบตรีมหารมหาดเล็กกองร้อยที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ต่อมาอีกปีหนึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นนายสิบโทในกองร้อยที่ ๕ นั้น

             ถึง พ.ศ. ๒๔๒๑ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ซึ่งได้ไปเล่าเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ในประเทศอังกฤษ จนเป็นนายร้อยทหารอังกฤษแล้ว กลับเข้ามารับราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระอมรวิสัยสรเดช ตำแหน่งนายพันตรีผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ญวน ซึ่งได้จัดตั้งตามแบบเก่ามาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์จะจัดการกรมทหารปืนใหญ่ให้เข้าระเบียบแบบแผนอย่างใหม่ ไม่มีตัวนายร้อยพอจะรับราชการในกรมทหารปืนใหญ่ จึงกราบบังคมทูลฯ ขอนายสิบทหารในกรมทหารมหาดเล็กไปเป็นทหารปืนใหญ่ ด้วยพวกผู้ดีมีสกุลรับราชการเป็นทหารมหาดเล็กอยู่โดยมาก เจ้าพระยาบดินเดชานุชิตเมื่อยังเป็นนายสิบโทอยู่ในผู้หนึ่ง ซึ่งได้รับเลือกไปรับราชการเป็นตำแหน่งนายทหารปืนใหญ่ จึงออกจากกรมทหารมหาดเล็กย้ายไปรับราชการเป็นตำแหน่งนายร้อยโทมาแต่นั้น ในระหว่างเวลาที่รับราชการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้มีโอกาสไปราชการทัพกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ครั้งปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้ขึ้นไปถึงทุ่งเชียงคำในแขวงเมืองพวน แต่หาได้มีโอกาสรบพุ่งไม่ เพราะพวกฮ่อทิ้งค่ายหนีไปเสียก่อนกองทัพขึ้นไปถึง

           ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมยุทธนาธิการบัญชากรมทหารบกทหารเรือรวมกัน กรมยุทธนาธิการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ เวลานั้นเป็นนายพลตรี พระยาสีหราชเดโชชัย ย้ายจากกรมทหารปืนใหญ่มาเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเวลานั้นเป็นนายร้อยเอก ก็ได้ย้ายมาเป็นปลัดกองโรงเรียนนายร้อยด้วย ต่อมาได้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนเลื่อนยศเป็นนายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิเศษเดชาวุธ และเป็นราชองครักษ์เวร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แล้วเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระสรวิเศษเดชาวุธ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑

          ถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ เริ่มจัดการทหารบกประจำเป็นมณฑล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้ย้ายจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพฯ เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันโท

           ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งยกบัตรทัพบก ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา รับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ย้ายไปเป็นปลัดทัพบก และได้เป็นตำแหน่งองคมนตรี ต่อมาอีก ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันเอก ตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และเลื่อนขึ้นเป็นนายพลตรี รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาสีหราชเดโชชัย และได้รับพระราชทานพานทองด้วย

            ในระยะนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสด็จออกไปราชการ ณ ประเทศยุโรป ทางนี้เกิดเหตุพวกเงี้ยวก่อการจลาจลขึ้นในมณฑลภาคพายัพ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เป็นผู้รั้งราชการกรมยุทธนาธิการ ต้องรับหน้าที่จัดกองทหารส่งขึ้นไปปราบพวกผู้ร้ายเงี้ยว เป็นการปัจจุบันในชั้นต้น จักการได้รวดเร็วเรียบร้อยทันราชการเกินกว่าที่คนคาดหมายกันโดยมาก เมื่อเสร็จราชการครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นนายพลโท คนทั้งหลายอันอยู่นอกกรมทหารก็เห็นพร้อมยอมกันในคราวนี้ ว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเป็นผู้มีความสามารถในข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คน ๑ ไม่มีเสียงสอดแคล้วคัดค้านในเวลาที่ท่านได้มีตำแหน่งสำคัญยิ่งขึ้นในชั้นต่อมา

              นอกจากหน้าที่ต่างๆ ที่ได้กล่าวมา เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้รับราชการในหน้าที่พิเศษเมื่อรัชกาลที่ ๕ อีกหลายครั้ง คือได้เป็นแม่ทัพพิเศษในการรวมพลสวนสนาม รับเสด็จพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป ทั้งคราว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และคราวหลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ และเป็นแม่ทัพพิเศษคราวตรวจพลสวนสนามเป็นการพิเศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ อีกคราว ๑ ได้เป็นข้าหลวงทหารไปตรวจราชการมณฑลบูรพา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ คราว ๑ ไปตรวจราชการมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ คราว ๑ ไปปราบจีนอั้งยี่ที่ตำบลดอนกระเบื้องแขวงจังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ คราว ๑ ได้บังคับการทหารรักษาพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ คราว ๑

             ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๖) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช เป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เมื่อยังเป็นพระยาสีหราชเดโชชัย เป็นตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการกระทรวงกลาโหม แล้วเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลเอก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมพระคชบาลว่าง โปรดฯ ให้รั้งตำแหน่งนั้นอยู่คราว ๑

              ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อยู่จน พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีเต็มตำแหน่ง ต่อมาในปีนั้นถึงงานพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต มีราชทินนามตามที่ปรากฏอยู่ข้างต้นประวัติ และเลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพล

             ในรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศพิเศษในตำแหน่งทหารแก่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตหลายอย่าง คือเป็นราชองครักษ์พิเศษอย่าง ๑ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารรักษาวังอย่าง ๑ เป็นนายทหารพิเศษประจำโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมอย่าง ๑

        เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ โดยลำดับดังนี้
ในรัชกาลที่ ๕
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๐ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ จัตุรถาภรณ์มงกุฎสยาม
วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ประถมาภรณ์มงกุฎสยาม

ในปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๖)
วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ปถมาภรณ์ช้างเผือก
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ปฐมจุลจอมเกล้า
วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รัตนวราภรณ์
วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มหาปรมาภรณ์
วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ มหาโยธินแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดี
วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นพรัตนราชวราภรณ์

เหรียญต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๕
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา
วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เหรียญจักรมาลา
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ เหรียญประพาสมาลา
วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๑ เหรียญปราบฮ่อ
วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ เหรียญทวีธาภิเศก (ทอง)
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ เหรียญรัชมงคล (ทอง)
วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ เหรียญรัชมังคลาภิเศก (ทอง)

เหรียญต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๖)
วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน ชั้นที่ ๓
วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ เหรียญรัตนภรณ์รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๓
วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เหรียญบรมราชาภิเศก (ทอง)
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน ชั้นที่ ๒
วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน

เข็มต่างๆ ที่ได้รับพระราชทาน
วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ เข็มอักษรเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป รักษาพระนครคราวหลัง (เข็มเงิน)
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๒ เข็มพระชนมายุศมงคล ชั้น ๒ (ทองคำ)
วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เข็มข้าหลวงเดิม

           ในเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้รับพระราชทานนั้น เป็นแปลกพิเศษอยู่อย่าง ๑ ที่ได้รับพระราชทานนพรัตน์ราชวราภรณ์ อันเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ แม้ในเจ้านายจะได้รับพระราชทานก็แต่เจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าต่างกรมชั้นผู้ใหญ่แต่บางพระองค์ ส่วนขุนนางนั้นที่ได้รับพระราชทานมีปรากฏแต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ที่สมุหพระกลาโหม ได้พระราชทานในรัชกาลที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้(รัชกาลที่ ๖)มีแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตผู้เดียว ในข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์ ยังหามีผู้อื่นได้พระราชทานไม่ อนึ่ง ตั้งแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตมีอายุครบ ๖๐ ทัศ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรดน้ำเวลาปีใหม่ทุกปีมามิได้ขาด โดยทรงยกย่องว่าเป็นผู้ที่ทรงเคารพผู้หนึ่ง ซึ่งน้อยตัวที่จะได้พระราชทาน

           เมื่อคิดดูตามความที่ปรากฏมาข้างต้นประวัติ คือว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตก็มิได้มีโอกาสศึกษาวิชาความรู้ลึกซึ้งอย่างคนชั้นหลัง และไม่รู้ภาษาต่างประเทศ ฤๅได้เคยไปดูแบบธรรมเนียมในนานาประเทศ เหตุใดจึงสามารถรับราชการทหารได้ดีทุกหน้าที่ตลอดมา จนได้เป็นถึงจอมพล และเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และที่สุดได้รับพระราชทานถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ อันเป็นเกียรติยศสูงพิเศษควรนับว่าเป็นยอดประวัติของท่าน ข้าพเจ้าสันนิษฐานโดยได้เป็นมิตรคุ้นเคยกับเจ้าพระยาบดินทรชานุชิตมาช้านาน เห็นว่าเป็นเพราะท่านทรงคุณสมบัติอันเกิดแต่อุปนิสัย ๓ อย่างเป็นเครื่องประกอบกับสติปัญญาของท่าน คือ ความซื่ออย่าง ๑
ความสัตย์อย่าง ๑ และความเพียรอย่าง ๑ คุณสมบัติทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นสำคัญในอัธยาศัยของเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ความซื่อนั้นเป็นบรรทัดทางปฏิบัติของท่านทั้งในหน้าที่ราชการ และการที่ประพฤติต่อมิตรสหาย ความสัตย์นั้นเป็นอย่างนิจสินของท่าน มิได้ปล่อยให้โลกธรรมครอบงำให้ผันแปรไปด้วยประการใดๆ และความเพียรนั้นเป็นเกียรติคุณของท่านที่ประกอบกิจการทั้งปวงไม่ว่าการยากง่ายใหญ่น้อยอย่างใด ลงได้ทำแล้วคงพยายามให้การสำเร็จตามประสงค์ ฤๅตามคำสั่งของผู้ใหญ่ในเวลาเมื่อท่านเป็นผู้น้อย นอกจากคุณสมบัติทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมา เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตยังทรงคุณความดีอีกหลายอย่าง คือที่มีไมตรีจิตต่อผู้อื่นทั่วไปเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่เคารพรักใคร่ไว้วางใจของผู้อื่น ทั้งญาติและมิตรและผู้ที่ร่วมราชการตั้งแต่ผู้ใหญ่ลงมาจนผู้น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้การงานทั้งปวงที่ท่านทำ คือราชการในหน้าที่เป็นต้น ก็ย่อมจะเป็นศุภผล เป็นเหตุให้ท่านได้รับความเจริญรุ่งเรืองมาจนตลอดอายุของท่าน

          เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ คำนวณอายุได้ ๖๖ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปทรงรดน้ำศพ พระราชทานโกศมณฑป และเครื่องประโคมกลองชนะ มีจ่าปี่จ่ากลองและแตรงอนแตรฝรั่งตามบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาเสนาบดีชั้นสูง ครั้นต่อมาเมื่อสร้างพระเมรุท้องสนามหลวงถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสแล้ว ทรงพระราชดำริว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตก็เป็นเสนาบดีมีเกียรติยศเนื่องในราชตระกูล ทั้งได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมีความชอบความดีมาเป็นอันมาก สมควรจะพระราชทานเพลิงศพที่พระเมรุกลางเมืองได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการแห่ศพเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ด้วยกระบวนทหารตามเกียรติยศจอมพลมายังพระเมรุ และพระราชทานเพลิงศพเมื่อ ณ วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ สิ้นเรื่องประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเพียงนี้.



(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕

คัดจาก
คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

 ภาพและที่มา  www.bloggang.com


เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล), เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) หมายถึง, เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) คือ, เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) ความหมาย, เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu