ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์), เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) หมายถึง, เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) คือ, เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) ความหมาย, เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์)

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร นามเดิม คลี่ เป็นหม่อมราชวงศ์ บุตรหม่อมเจ้าจินดา ในกรมหมื่นไกรสรวิชิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอรัชกาลที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๔ เป็นมหาดเล็ก รับราชการในกรมธรรมการ ครั้นมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ โปรดฯให้เป็นพระวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ จางวางกรมพระธรรมการ ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดฯเลื่อนเป็นพระยาในนามเดิม ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๗ โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน มีสำเนาที่ประกาศตั้งดังนี้


ทรงพระราชดำริว่า พระยาวุฒิการบดีได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ภายหลังได้รับราชการเป็นผู้ช่วยในกรมสังฆการี ครั้นรัชกาลปัตยุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นอธิบดีกรมสังฆการีและธรรมการสืบมา จนได้เป็นปลัดทูลฉลองเมื่อตั้งเป็นกระทรวง จนได้เป็นเสนาบดี รอบรู้ราชการในหน้าที่เก่าใหม่เป็นอันมาก อีกส่วนหนึ่งนั้นได้รับราชการเป็นอุปนายกในรัฐมนตรี จนเป็นผู้รั้งตำแหน่งสภานายก เป็นองคมนตรี ได้รับหน้าที่เป็นกรรมการศาลฎีกาอยู่ช้านาน เจริยวัยวุฒิปรีชาสามารอบรู้ในราชกิจใหญ่น้อย และมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมควรจะได้รับสุพรรณบัฏเป็นเจ้าพระยาผู้หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระยาวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในสุพรรณบัฏว่า เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ศุภนัยนิติธารี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ สุขุมศักดิสมบูรณ์ สุนทรพจน์พิจิตร ราชกิจจานุกิจโกศล พหลกัลยาณวัตร ศรีรัตนสรณาภรณ์ สถาวรเมตตาธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ คชนาม ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข สิรริสวัสดิพิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการ เทอญฯ


บุตรของท่าน คือ พระพุฒิพงศ์พัฒนากร(เจริญ สุทัศน์) หลวงวินิจวิทยาการ(วัฒนา สุทัศน์) เป็นต้น
เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร(ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ อายุ ๖๙ ปี

ประวัติ
เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร
(ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์)


เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เกิดเมื่อ ณ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะเบญจศก จุลศักราช ๑๒๐๕ พ.ศ. ๒๓๘๖ เป็นบุตรหม่อมเจ้าจินดา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าสุทัศน์ ซึ่งได้ทรงพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นไกรสรวิชิต และได้ทรงบัญชาการกรมสังฆการีและธรรมการเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นไกรสรวิชิต ชื่อ เจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นธิดาพระยาพัทลุง(ขุน) หรืออีกนัย ๑ ว่า พระยาพัทลุงคางเหล็ก ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ญาติวงศ์ของงเจ้าจอมมารดากลิ่นรัชกาลที่ ๑ ได้รับราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในหลายคน ผู้ซึ่งควรจะยกนามมากล่าวในที่นี้ คือ พระยาพัทลุง(ทองขาว) บุตรพระยาพัทลุง(ขุน) และพระยาพัทลุง(ทับ) บุตรพระยาพัทลุง(ทองขาว)

พระยาพัทลุง(ทองขาว) เมื่อถวายตัวรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯได้ภรรยาเนื่องในราชินิกูลของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงนับว่า ตระกูลของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเป็นพระประยูรญาติข้างฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยอีกส่วน ๑ ได้เคยมีรับสั่งเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปเมืองสงขลา พระยาพัทลุง(ทับ)มาเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้พระองค์ทรงเคารพต่อพระยาพัทลุง(ทับ) โดยฉันท์ที่เป็นญาติข้างฝ่ายสมเด็จพระชนนี

ส่วนหม่อมราชวงศ์ซึ่งเป็นนัดดากรมหมื่นไกรสรวิชิตนั้น ได้รับราชการมีตำแหน่งมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน(๑)หลายคน ควรจะยกนามมากล่าวในส่วนบุตรหม่อมเจ้าจินดา คือ หม่อมราชวงศ์หรั่ง ได้เป็นที่พระทิพกำแหงสงคราม ปลัดเมืองพัทลุงคน ๑ หม่อมราชวงศ์เขียว ได้เป็นที่หลวงธรรมการานุวัตร์ในกระทรวงธรรมการคง ๑ หม่อมราชวงศ์ท้วมคน ๑ ทั้ง ๓ คนนี้ได้รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กมาก่อน แต่หม่อมราชวงศ์ท้วมได้เป็นเพียงนายสิบเอก หาทันได้รับพระราชทานสัญญาบัตรไม่ หม่อมราชวงศ์ลบเป็นคนเล็ก ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ ได้มียศตั้งแต่นายขันหุ้มแพรโดยลำดับขึ้นมาจนได้เป็นเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม อยู่ในทุกวันนี้ ก็เป็นน้องเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร

หม่อมเจ้าอลงกรณ์ น้องหม่อมเจ้าจินดา มีบุตรทำราชการอยู่ในตำแหน่งสูงเวลานี้ ๒ คน คือ มหาเสวกตรี พระยาศรีวรวงศ์(ม.ร.ว. จิตร)ม.ส.ม. , ท.จ.ว. ผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู๋หัวคน ๑ นายพลโท พระยาสุรินทราชา(ม.ร.ว.สิทธิ)ม.ส.ม. , ม.จ. เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตอยู่ในเวลานี้คน ๑ จะเห็นได้โดยบัญชีว่า เชื้อพระวงศ์กรมหมื่นไกรสรวิชิต แม้มีบางคนที่ไม่ได้รับราชการ แต่ที่ได้รับราชการตำแหน่งสูงมีหลายคน นับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เป็นหัวหน้าในตระกูลนั้น

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เดิมชื่อ หม่อมราชวงศ์พรรณราย แล้วจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ คลี่ เหตุใดจึงเปลี่ยนข้าพเจ้าไม่ทราบ ท่านจดไว้ในหัวข้อประวัติของท่านแต่เท่านั้น เมื่ออุปสมบท กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาจารย์ แต่บวชอยู่วัดสระเกศ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ในวงศ์ของเจ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เคยบวชในฝ่ายมหานิกายมาแต่เดิม แม้กรมหมื่นไกรสรวิชิต เมื่อทรงผนวชก็เสด็จอยู่วัดสระเกศ เชื้อวงศ์ควรจะบวชให้ตรงตามลัทธิของเทือกเถาที่มีมา ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาบวชเป็นธรรมยุติ

ประวัติของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรในส่วนราชการนั้น ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ตั้งแต่ถวายตัวแล้ว ก็ได้ช่วยหม่อมจินดาผู้บิดารับราชการในกรมสังฆการีธรรมการมาแต่เดิม จึงได้เป็นผู้ชำนาญราชการในกรมทั้ง ๒ นั้น เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี ซึ่งได้ทรงบัญชาการกรมสังฆการีธรรมการในรัชกาลที่ ๔ สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงกำกับการสังฆการีธรรมการ

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงพระกรุณาเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร จึงทรงใช้สอยในราชการกรมสังฆการีธรรมการต่างพระองค์ ถึงกราบบังคมทูลข้อราชการสังฆการีและธรรมการ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรับรับสั่งในราชการนั้นได้ตังแต่ยังเป็นหม่อมราชวงศ์คลี่มหาดเล็กตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๕

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสัญญาบัตรเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ทีแรกก็ได้เป็นพระวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ จางวางกรมธรรมการสังฆการี และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นพระยา ได้รับพระราชทานพานทองเป็นเกียรติยศ

เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมกรมธรรมการสังฆการี กรมศึกษาธิการและกรมพยาบาลเข้าเป็นกระทรวงธรรมการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการกระทรวงนี้เป็นคนแรก เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร แต่ยังเป็นพระยาวุฒิการบดี จึงมารับราชการที่ปลัดทูลฉลองรองตัวข้าพเจ้า เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าเชิญพระราชหัตถเลขาออกไปรับเสด็จพระเจ้านิโคลาศที่ ๒ เอมเปอเรอรูเซีย แต่ยังเป็นซารวิชถึงที่เมืองสิงคโปร์ เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรก็ได้ออกไปด้วย การที่ไปครั้งนี้เป็นคราวแรกและคราวเดียวที่ท่านได้ออกไปถึงเมืองนอกพระราชอาณาจักร ที่ข้าพเจ้านำข้อความข้อมากล่าว ผู้อ่านโดยมากที่มิได้รู้จัดคุ้นเคยกับตัวท่านเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรในครั้งนั้น อาจจะเข้าใจว่าข้าพเจ้าเอาข้อความเล็กน้อยที่ไม่มีสาระมากล่าว แต่ที่จริงมีเหตุที่ควรจะกล่าวไว้ให้ปรากฏ

ด้วยเมื่อก่อนจะตั้งกระทรวงธรรมการนั้น เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรมีอาการเจ็บป่วย ออกจะทอดธุระว่ามีความพิการอยู่ในร่างกาย เมื่อรวมกรมธรรมการสังฆการีเข้ามาสมทบในกระทรวงธรรมการ ท่านเป็นผู้ที่ได้บัญชาการเป็นอิสระมาแต่ก่อน ที่ต้องมาเป็นที่ ๒ รองตัวข้าพเจ้าผู้เยาว์อายุและมีความรู้ในทางสังฆการีธรรมการน้อยกว่าท่านเป็นอันมาก หรือยังไม่รู้ทีเดียวก็ว่าได้ ถ้าท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยอย่างอื่นดูก็อาจจัรู้สึกโทมนัส แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ท่านเห็นแก่ประโยชน์ราชการเป็นสำคัญยิ่งกว่าในส่วนตัว แต่บางทีจะเป็นด้วยความนับถือว่า ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ท่านจึงตั้งใจอุปการะชี้แจงราชการซึ่งท่านชำนาญมาแต่ก่อน แก่ข้าพเจ้าโดยมิได้ปิดบังอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้าอยากให้ท่านได้เห็นการอย่างใหม่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยต่างประเทศ จึงได้ชวนท่านไปราชการถึงเมืองสิงคโปร์ด้วยในครั้งนั้น ท่านก็เต็มใจไป แม้ต้องทนความลำบากก็มิได้ย่อท้อ มีผลจนสละความที่ท่านคิดว่าจะเป็นคนพิการมาได้แต่ครั้งนั้น

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าออกไปราชการประเทศยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านได้บัญชาการกระทรวงแทนข้าพเจ้าจนตลอดเวลาข้าพเจ้ากลับมา แลคงเป็นปลัดทูลฉลองอยู่ตลอดเวลาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ออกจากตำแหน่งนั้นแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่านเป็นเสนาบดีกระทรงธรรมการ แต่ยังเป็นพระยาวุฒิการบดี ได้รับพระราชทานเกียรติยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆอย่างสูงในรัชกาลที่ ๕ คือ ได้เป็นองคมนตรี รัฐมนตรี เป็นกรมการศาลฎีกา และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๑ มหาวราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ มหาสุราภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๒ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน และเหรียญจักรพรรดิมาลาเป็นเกียรติยศ

ครั้น ณ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเกียรติยศท่านขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีเนื้อความตามประกาศพระราชโองการว่า


ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเป็นอดีตถาคล่วงแล้ว ๒๔๔๗ พรรษา ปัตยุบันกาลจันทคตินิยม นาคสังวัจฉร กติกมาศ สุกรปักษ์ ตติยดิถี ครุวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ พฤศจิกายนมาศ ทศมมาสาหคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ฯลฯ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริว่า พระยาวุธิการบดีได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ภายหลังได้รับราชการเป็นผู้ช่วยในกรมสังฆการี ครั้นรัชกาลปัตยุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นอธิบดีกรมสังฆการีและธรรมการสืบมา จนได้เป็นปลัดทูลฉลองเมื่อตั้งเป็นกระทรวง จนได้เป็นเสนาบดี รอบรู้ราชการในหน้าที่เก่าใหม่เป็นอันมาก อีกส่วนหนึ่งนั้น ได้รับราชการเป็นอุปนายกในรัฐมนตรี จนเป็นผู้รั้งตำแหน่งสภานายก เป็นองคมนตรี ได้รับหน้าที่เป็นกรมการศาลฎีกาอยู่ช้านาน เจริญวัยวุฒิปรีชาสามารถรอบรู้ในราชกิจใหญ่น้อย และมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมควรจะได้รับสุพรรณบัฏฎเป็นเจ้าพระยาผู้หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระยาวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในสุพรรณบัฏว่า "เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ศุภไนยนิติธารี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ สุขุมศักดิสมบูรณ์ สุนทรพจนพิจิต ราชกิจจานุกิจโกศล พหลกัลยาณวัตร ศรีรัตนสรณาภรณ์ สถาวรเมตตาธยาไศรย อภัยพิริยบรากรมพาหุ คชนาม" ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณศุขศิริสวัสดิ พิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการ เทอญ

ดังนี้ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าในเวลาต่อมาในปีนั้นด้วย

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ยังได้รับพระราชทานเกียรติยศพิเศษอีกอย่าง ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสมควรจะจดลงไว้ ด้วยไม่ปรากฏว่าข้าราชการคนใดได้เคยรับพระราชทานเกียรติยศอย่างนั้นมาแต่ก่อน คือ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุสศลในเวลาพระชนมพรรษาเสมอด้วยสมเด็จพระอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมวงศานุวงศ์ประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งราชฤดี ณ สวนดุสิต ในอภิลักขิตสมัยนี้เมื่อ ณ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เพื่อถวายดอกไม่ธูปเทียนเครื่องสักการะแก่พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งยังมีพระชนม์เหลืออยู่แต่พระองค์เดียวในเวลานั้น เมื่อถวายดอกไม้ธูปเทียนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียนแล้ว พระบรมวงศ์พระองค์ใดที่นับชั้นและมีพระชันษาสูงกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะแก่พระองค์นั้น

ส่วนพระบรมวงศ์ที่อยู่ในชั้นและพระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อเสร็จการถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเข้าไปหน้าพระที่นั่ง แล้วมีรับสั่งว่า "พี่คลี่อายุแก่กว่าฉัน ควรจะได้รับดอกไม้ธูปเทียน" ดังนี้ แล้วก็พระราชทานเครื่องสักการแก่เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร มีขุนนางคนเดียวที่ปรากฏมาว่า ได้รับพระราชทานเกียรติยศทรงยกย่องอย่างนี้

ราชการอันนับเป็นหน้าที่พิเศษ เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรได้ทำในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งควรจะยกขึ้นกล่าวโดยเฉพาะมีอยู่อย่าง ๑ คือ ที่ได้รับหน้าที่แรกนาขวัญอยู่ ๓ ปี การแรกนาขวัญนี้เป็นประเพณีโบราณต้นตำรามาแต่มัธยมประเทศ เมื่อถึงต้นฤดูทำนา เวลาได้ศุภฤกษ์ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงทรงไถนาขวัญเป็นสัญญาณ ให้ราษฎรในประเทศนั้นๆลงมือทำนา ประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงทรงแรกนาเองวนั้นเห็นจะเลิกมาเสียช้านานแล้ว แม้ในตำราที่ปรากฏในสยามประเทศนี้แต่โบราณ ก็ว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แรกนาขวัญต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน มาในชั้นหลังเมื่อไม่มีตำแหน่งเจ้าพระยาจันทรกุมาร หน้าที่ตกแก่เจ้าพระยาพลเทพที่จะแรกนาขวัญต่างพระองค์

จนถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ เห็นเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก เป็นผู้แรกนาขวัญต่างพระองค์ทุกปีมา ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เกิดฝนแล้งติดๆกันหลายปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเลือกให้เจ้าพระยาภูธราภัยเป็นผู้แรกนาขวัญ ด้วยทรงพระราชดำริว่า ตระกูลของท่านเป็นตระกูลพราหมณ์มาแต่ครั้งกรุงเก่า เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยอสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาสีหราชฤทธิไกร(แย้ม) แต่ยังเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาภูธราภัยรับหน้าที่เป็นพระยาแรกนาต่อมา จนเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ หน้าที่แรกนานี้กลับมาเป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการตลอดมา จึงถึงเมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ก็ได้แรกนาขวัญอยู่ตามตำแหน่ง

ครั้นเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ และปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ป่วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกให้ เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเป็นพระยาแรกนาขวัญ การซึ่งได้ตำแหน่งพระยาแรกนาขวัญเช่นนี้ ไม่เป็นหน้าที่ซึ่งนำความยินดีมาให้แต่ฝ่ายเดียว เพราะถ้าฝนแล้ง ผู้แรกนามักถูกและเคยถูกราษฎรชาวนาติโทษต่างๆ พระยาแรกนาต้องรับผิดชอบอย่างนี้ตั้งแต่รัชกาลก่อนๆมา จนเข้าใจกันดี เมื่อถึงเวลาจะแรกนา ผู้ใดเป็นพระยาแรกนาขวัญต้องขวนขวายไปบูชา และขอพรต่อววัตถุและผู้ซึ่งตนนับถือ เพื่อจะให้เกิดผลไพบูลย์แก่การไร่นาตลอดปีนั้น เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรนับได้ว่า เป็นผู้เคราะห์ดีในหน้าที่ที่กล่าวมานี้ผู้ ๑ ด้วยทุกๆปีที่ท่านเป็นพระยาแรกนา เป็นปีที่ไม่ขาดแคลนในการไร่นาเลยสักปีเดียว

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการมาตลอดรัชกาลที่ ๕ ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๒ เป็นเกียรติยศอย่าง ๑ แต่ท่านมีความชราทุพพลภาพโรคภัยเบียดเบียนเนืองๆ ไม่สามารถรับราชการตามตำแหน่งได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเต็มตามบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๔

แต่ถึงท่านชราทุพพลภาพมากแล้วเช่นนั้น เวลามีการงานในพระราชฐานที่นับว่าเป็นการสำคัญ ท่านก็ยังอุตส่าหะเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แม้เพียงครู่หนึ่งยามหนึ่งตามกำลังที่สามารถจะทำได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงประจักษ์แจ้งความจงรักภักดีของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรซึ่งได้มีต่อพระองค์ ตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติอยู่แล้ว ครั้นมาทอดพระเนตรเห็นความพยายามด้วยความจงรักภักดีของท่านในเวลาเมื่อชราทุพพลภาพ ดังกล่าวมานี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาถรณ์ช้างเผือกมหาปรมาภรณ์ แก่เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เมื่อ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นเกียรติยศอย่างสูง ซึ่งมีแต่ตัวท่านผู้เดียวในบรรดาข้าราชการ ซึ่งได้รับพระราชทาน

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ป่วยเป็นโรคชรา ประกอบด้วยวักกะพิการ อาการทรุดลงโดยลำดับ ถึงอสัญกรรมเมื่อ ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลาเช้า ๕ โมง ๑๐ นาที คำนวนอายุได้ ๖๙ ปีกับ ๗ เดือน ๑๙ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานน้ำรกศพ และพระราชทานเกียรติยศในการศพ คือ มีแตรสังข์ จ่าปี่ จ่ากลอง และพระราชทานโกศมณฑปทรงศพ อย่างเสนาบดีชั้นสูง ด้วยทรงอนุสรณ์คำนึงถึงชาติสกุล และความชอบความดีของท่านที่ได้มีมาแต่ก่อนดังกล่าวมาแล้ว

ในที่สุดแห่งประวัติของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งข้าพเจ้าได้พรรณนามานี้ จะขอกล่าวความเพิ่มเติมลงไว้สักหน่อย ในเวลานี้ผู้ที่คุ้นเคยชอบอัธยาศัยกับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรก็ยังมีมากทั้งพระและคฤหัสถ์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่มีผู้ใดคัดค้านคุณสมบัติของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ เหตุด้วยได้ทราบอยู่ด้วยกันแต่คนชั้นเล็กหรือต่อไปภายหน้าผูที่ไม่รู้จักท่าน ได้เห็นหนังสือเรื่องนี้จะมิได้ทราบคุณสมบัติของท่านนอกจากที่กล่าวไว้ในทางราชการ จึงจะกล่าวความเพิ่มเติมลงไว้ คือ

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร นี้ เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยโอบอ้อมกว้างขวาง ผู้คนชอบพอมาก ทั้งพระและคฤหัสถ์ นับว่าท่านเป็นผู้มีมิตรสหายมากอย่างยิ่งคน ๑ ในยุคของท่าน ข้อนี้ความจริงจะว่ายุคเดียวก็ยังคลาด ถ้าจะให้ถูกต้องว่าถึง ๓ ชั่วคน เพราะท่านทำราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นคนกว้างขวางมาตั้งแต่ยังเป็นหม่อมราชวงศ์คลี่ ท่านมีวาจาเป็นคุณสมบัติอย่างสำคัญ กล่าวคือ รู้จักที่จะพูดไม่ให้ขวางหูผู้หนึ่งผู้ใด คุณสมบัติข้อนี้บางคนเข้าใจไปว่า อัธยาศัยของท่านเป็นผู้พอใจจะยกยอผู้อื่น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าไม่จริงอย่างเข้าใจนั้นเลยเป็นอันขาด

ข้าพเจ้าเองตั้งแต่ได้ร่วมราชการมากับท่าน ก็ได้รักชอบกันสนิทสนมตลอดมา ได้สนทนากันหนหลังที่สุด เมื่อก่อนท่านจะถึงอสัญกรรมเพียง ๒ วัน เพราะฉะนั้นถ้าจะตั้งว่าเป็นผู้รู้อัธยาศัยเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรก็เห็นจะพอได้ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรผู้เป็นน้องชายของท่าน เมื่อพูดกันถึงเรื่องนี้ความเห็นเป็นอย่างเดียวกับข้าพเจ้า จริงอยู่เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรไม่พอใจจะใช้วาจาอันเป็นเครื่องรำคาญหูแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติของท่าน แต่ถ้าผู้ใดดูหมิ่นก็อาจจะโต้ตอบได้ถึงแต้ม ไม่ว่ายศศักดิ์ต่ำและสูง แต่ถ้าผู้ใดที่เป็นมิตรสหายรักใคร่กับท่าน หรือเจ้านายที่ท่านนับถือ ท่านถือเอาแต่การที่เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นๆเป็นประมาณ พูดจาว่ากล่าวและตักเตือนแต่ด้วยน้ำใจที่รัก คำพูดจะถูกใจหรือมิถูกใจประการใดท่านไม่ได้ถือเอาความประสงค์แต่จะพูดให้ถูกหูเป็นประมาณนั้นเลยเป็นอันขาด

ตั้งแต่ข้าพเจ้ารับราชการในกระทรวงเดียวกันมาตลอดจนสิ้นอายุของท่าน ข้าพเจ้าได้เคยรับคำตักเตือนซึ่งรู้สึกว่า ด้วยความที่ท่านรักใคร่ นับครั้งไม่ถ้วน ผู้อื่นที่ท่านรักใคร่เช่นข้าพเจ้า หรือยิ่งกว่าข้าพเจ้า เข้าใจว่าในเวลานี้คงจะยังมีมากอยู่ด้วยกัน เชื่อว่าคงจะเคยได้รับคำตักเตือนของท่านทำนองเดียวกัน และรู้สึกอย่างเดียวกันกับข้าพเจ้าว่า ได้เคยมีกัลยาณมิตรมาในเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรนี้คน ๑ ซึ่งจะหาให้เสมอเหมือนได้ด้วยยาก





(๑) รัชกาลที่ ๖




คัดจากหนังสือ "คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก"
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

ที่มา  www.bloggang.com


เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์), เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) หมายถึง, เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) คือ, เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) ความหมาย, เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu