ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เมื่อผีเสื้อขยับปีก, เมื่อผีเสื้อขยับปีก หมายถึง, เมื่อผีเสื้อขยับปีก คือ, เมื่อผีเสื้อขยับปีก ความหมาย, เมื่อผีเสื้อขยับปีก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เมื่อผีเสื้อขยับปีก

ก้อนหินก้อนหนึ่งกลิ้งจากยอดเขาสูงแม้พลิกต่างกันแค่เสี้ยวองศาบางๆ จุดที่ตกมีโอกาสห่างกันไกลลิบ

ผลของผีเสื้อขยับปีก หรือ Butterfly Effect เป็นแนวคิดของ Dr. Edward Lorenz นักคณิตศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง

ในปี คศ.1961 เขาเผยแพร่แนวคิดนี้ อันมีที่มาจากความบังเอิญ เริ่มจากครั้งหนึ่งที่เขาทำการพยากรณ์อากาศ และป้อนข้อมูลใส่คอมพิวเตอร์ โดยปัดเศษตัวเลขจาก 0.506127 เป็น 0.506 หรือปัดเศษเพียง 0.000127 เท่านั้น แต่ผลที่ออกมา ทำให้ทั้งอึ้งและทึ่งอย่างยิ่ง เพราะสภาพอากาศที่พยากรณ์แตกต่างมากมาย เมื่อเปรียบเทียบกับตอนใช้ตัวเลขที่ไม่ได้ปัด เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ เขาทำการวิจัยต่อ และสรุปว่า ความแตกต่างในช่วงเริ่มต้น แม้ดูบางเบา ดูน้อยนิดจิ๊ดจิ๋ว ก็สามารถส่งผลลัพธ์ที่ซับซ้อนแตกต่างแบบห่างกันสุดขั้วได้

ก้อนหินก้อนหนึ่ง กลิ้งจากยอดเขาสูง มันจะกลิ้งหันเหไปทิศใด แรงแค่ไหน กระดอนไปไกลหรือไม่ หรือสร้างความเสียหายทำลายอะไรในเบื้องล่าง ส่วนหนึ่งขึ้นกับมุมของการพลิก ณ จุดเริ่มต้น 

แม้พลิกต่างกันแค่เสี้ยวองศาบางๆ จุดที่ตกมีโอกาสห่างกันไกลลิบ ท่านที่ชอบอ่านหนังสือ อาจคุ้นกับแนวคิดของหนังสือดัง The Tipping Point ของ Malcolm Gladwell ที่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งเล็ก ๆ ซึ่งอาจดูไม่สำคัญ สามารถส่งให้เกิดผลที่พลิกผันแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้ ไม่ธรรมดา อาทิ โรคระบาด เริ่มเกิดจากการที่คนไม่กี่คนป่วย แต่เมื่อถึงจุดหักเห จำนวนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้แตะถึงระดับที่ทำให้เกิดการแพร่กระจาย ดังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ติดตามนักเดินทางไปไม่กี่คน แต่ผลทำให้เกิดการระบาดทั่วโลก เป็นต้น

 

Social Media ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะมีส่วนเชื่อมโยงคนตัวเล็กตัวน้อย ให้เกิดกลุ่มเกิดกระแสแพร่หลายในหลายเรื่อง เช่น การประท้วงทางการเมืองทั่วทุกมุมโลก ที่ต่างลุกขึ้นรวมตัวสร้างความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือน เขยื้อนอำนาจการเมืองแกร่งหลายแห่งหน ที่คนทั่วไปคิดว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะแต่ละตระกูลต่างอยู่ยืนยงคงกระพันกันนานนัก

 

ข้อคิดแนวนี้ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ ปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นในตำนานพื้นบ้าน เช่นเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” ก่องข้าววันเกิดเหตุเศร้า เป็นใบเดิมที่แม่ใช้เลี้ยงดูลูกมา แต่จุดต่างในวันนั้นเป็นเพียงแค่ความหิวของลูกชั่ว ส่งผลให้เจ้าตัวบันดาลโทสะ จนฆ่าแม่ได้ (แถมกินข้าวก็ไม่หมด)

หรือ คำสั่งสอนให้ลูกหลานรู้จักเห็นคุณค่าของเงินที่ดูน้อยนิด “มีสลึง พึงบรรจบให้ครบบาท” ที่ท่านมหาเศรษฐียุค “เสื่อผืนหมอนใบ” ยืนยันได้ว่า เงินสลึงสามารถสร้างอนาคตยิ่งใหญ่ได้ ไม่หลอก 

 

นิทานอิสปที่เราคุ้นเคย เรื่อง “ราชสีห์กับหนู” ก็เช่นกัน เมื่อครั้งหนึ่งที่ราชสีห์ผู้ยิ่งใหญ่ ตัดสินใจไม่ทำร้ายหนู ดูเป็นเรื่องจิ๋วๆ แต่ยามหน้าสิ่วหน้าขวาน หนูตัวน้อยกลับช่วยปล่อยราชสีห์ให้มีชีวิตต่อได้...ไม่ธรรมดา

 

ท่านที่ไม่เชื่อหนู ลองดูพี่สตีฟ จ๊อบส์ ที่เฉลยว่า ความ “บังเอิญ” ในชีวิตเขา จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่อง “ไม่บังเอิญ”

ที่เขามาไกลได้ขนาดนี้ เป็นเพราะสิ่งที่เกิด ก่อนเขาเกิด

 

แม่ที่ให้กำเนิดตั้งท้องเขาตอนเธอไม่ได้แต่งงานและยังเป็นนักศึกษา จึงจะยกลูกให้คนอื่นไปเลี้ยงดู โดยมีข้อแม้ว่าครอบครัวที่ได้ลูกเธอไปต้องจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ตกลงกันเสียดิบดี ปรากฏว่าครอบครัวที่มีปริญญา พอรู้ว่าลูกที่คลอดออกมาเป็นผู้ชาย กลับเปลี่ยนใจเฉย บอกว่าอยากได้ลูกผู้หญิงจ้ะ

 

ทารกชายไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เลยตกเป็นลูกของอีกครอบครัวที่พ่อแม่ฐานะไม่ดี แถมไม่มีปริญญา แต่ให้สัญญาว่าจะส่งทารกน้อยให้เข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยให้จงได้

 

พ่อแม่บุญธรรมของสตีฟ จ๊อบส์ เพียรเก็บหอมรอมริบส่งลูกชายให้เข้ามหาลัยตามคำมั่น เขาเรียนอยู่ 6 เดือน ก็ตัดสินใจลาออก เพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่าของเงินพ่อแม่ที่เก็บมาทั้งชีวิต

 

จากนั้นเขาก็ระหกระเหิน เรียนโน่นนี่ตามที่ชอบ จึงทำให้ได้ศึกษาวิชาเขียนลายมือตัวบรรจงแบบอักษรวิจิตร หรือที่เรียกว่าCalligraphy ซึ่งหลายปีให้หลัง กลายเป็นพลังและแรงบันดาลใจ ส่งผลให้แมคอินทอชของเขาเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในโลกที่มีตัวพิมพ์บรรเจิด อันเป็นต้นกำเนิดก่อให้เกิด font สวยงามอีกมากมายในคอมพิวเตอร์ที่คนทั่วโลกใช้ในปัจจุบัน

Dr. Edward Lorenz เจ้าของมุมมอง Butterfly Effect เป็นผู้บุกเบิกทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ชื่อ Chaotic Theory หรือ ทฤษฎีอลวนซึ่งชี้ว่า บางสิ่งที่ดูวุ่นวาย และดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวกัน ล้วนเชื่อมกันได้แบบไม่บังเอิญ เพียงแต่เหตุกับผล อาจโยงกันอย่างซับซ้อนหลายทอด ทำให้เหตุที่ดูจะต่างกันเพียงน้อยนิด ก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันอย่างยิ่งใหญ่ได้ ไม่แปลก

ประยุกต์ใช้ได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะตัดสินใจทำอะไร จะได้ไปเลือกตั้งหรือไม่ จะไป หรือไม่ไปอีกกี่ครั้ง ไม่มีใครว่า ถือเป็นสิทธิ์

เพียงอย่าคิดว่า เราก็แค่คนตัวเล็กตัวน้อย จ้อยกระจิด พลังมีน้อยนิด ไม่มีสิทธิ์สร้างความแตกต่างใดๆ

กรุณาตระหนักใหม่ได้ว่า “แม้เพียงเอื้อมเด็ดดอกไม้ ดวงดาวก็สะเทือนได้”... เพราะเราไม่ธรรมดา

 

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

เมื่อผีเสื้อขยับปีก, เมื่อผีเสื้อขยับปีก หมายถึง, เมื่อผีเสื้อขยับปีก คือ, เมื่อผีเสื้อขยับปีก ความหมาย, เมื่อผีเสื้อขยับปีก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu