การติดบุหรี่เป็นการติด 2 ทางร่วมกันคือ
1. การติดทางร่างกาย
2. การติดทางจิตใจ
การติดทางร่างกายคือการที่ร่างกายติดสารนิโคติน เกิดจากการสูบบุหรี่อยู่เป็นประจำจนร่างกายติดสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่อยู่ในบุหรี่ เมื่อหยุดสูบบุหรี่สารนิโคตินในร่างกายจะลดลงทำให้เกิดอาการขาดนิโคตินได้แก่ อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย คิดอะไรไม่ออก ต้องหาบุหรี่มาสูบเพื่อเติมนิโคตินให้เพียงพอดังเดิม เมื่อหยุดสูบบุหรี่ภาวะเสพติดทางร่างกายจะค่อยๆหายไปในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นถ้าเราสามารถทนหยุดสูบบุหรี่ได้เพียง 2-3 สัปดาห์ ร่างกายของเราก็จะพ้นจากภาวะติดบุหรี่
การติดทางจิตใจคือการสูบบุหรี่จนติดเป็นนิสัย เกิดจากการเรียนรู้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้หายเครียด เพลิดเพลิน หายเบื่อ สมองแล่น ทำให้เกิดการติดอกติดใจอยากสูบเรื่อยๆจนติดเป็นนิสัยหรือเป็นความเคยชินอย่างหนึ่ง เมื่อไรที่รู้สึกเครียดหรือเบื่อๆก็จะคิดถึงบุหรี่ ภาวะเสพติดทางจิตใจเป็นสาเหตุสำคัญ ของการกลับมาสูบใหม่หลังจากเลิกได้แล้ว ดังนั้นผู้ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วยังต้องปฏิบัติตนเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ต่อไปเรื่อยๆจนเกิดเป็น"นิสัย"หรือเป็นความเคยชินอันใหม่ที่ไม่มีการสูบบุหรี่
วิธีการเลิกบุหรี่
วิธีต่อสู้กับการติดทางร่างกายคือ
1. หยุดสูบบุหรี่ให้ได้สัก 2-3 สัปดาห์
2. ใช้ยาช่วย
การใช้ “ยาช่วยอดบุหรี่” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การอดบุหรี่ง่ายขึ้นการใช้ยาสามารถช่วยลดความทรมานจากการติดทางร่างกายได้ทำให้เราสามารถทุ่มเทกำลังใจในการต่อสู้กับการติดทางจิตใจได้เต็มที่ การใช้ยาที่มีการศึกษาว่าช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จมากขึ้นคือ การให้นิโคตินทดแทนในรูปของ หมากฝรั่งนิโคตินและแผ่นปะนิโคติน
หลักการของทั้งหมากฝรั่งและแผ่นปะนิโคตินคือการให้นิโคตินแก่ ร่างกายในขนาดต่ำๆ เพื่อระงับอาการขาดนิโคตินแล้วค่อยๆ ลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จนหมด ทั้งหมากฝรั่งและแผ่นปะนิโคตินใช้ได้ผลใกล้เคียงกันแต่ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันบ้างคือเราสามารถใช้แผ่นปะนิโคตินได้ตลอดเวลารวมทั้งเวลานอนด้วยทำให้เมื่อตื่นขึ้นมาเราจะไม่ค่อย"หิว"บุหรี่ ส่วนหมากฝรั่งนิโคตินนั้นเราสามารถเพิ่มหรือลดปริมาณนิโคตินได้เองในระดับหนึ่งโดยการเคี้ยวถี่หรือห่างลง
นอกจากนี้การเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินยังช่วยลดความ"เหงาปาก" ได้ด้วยแต่การใช้ยาก็มีข้อจำกัดคือ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้สูบบุหรี่ต้องหยุดสูบทันที การใช้ยาไปด้วยแล้ว "ค่อยๆสูบน้อยลง" จะทำให้เลิกสูบบุหรี่ ไม่สำเร็จ นอกจากนั้นปริมาณนิโคตินโดยรวมที่ร่างกายได้รับเข้าไปอาจมากเกินไปทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
การต่อสู้กับการติดทางใจมีหลายวิธี
1. หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุหรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ เช่น
- ไม่พกบุหรี่ติดตัว
- ทิ้งอุปกรณ์สูบบุหรี่ทั้งหมด
- ไม่เข้าใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่
- เลือกที่นั่งในบริเวณที่ห้ามสูบบุหรี่
- ถ้าดื่มกาแฟหรือเหล้าแล้วอยากสูบบุหรี่ ก็ให้หยุดดื่มหรือเปลี่ยนไปดื่มอย่างอื่นแทน
- ถ้าต้องสูบบุหรี่หลังอาหารก็ให้ลุกขึ้นหา อะไรทำทันทีที่
รับประทานอาหารอิ่ม
2. เบี่ยงเบนความสนใจเมื่อเกิดความอยากสูบบุหรี่ขึ้นมา เช่น อาบน้ำ หาอะไรทำ เล่นกีฬา
3. เสริมสร้างกำลังใจ ในการเลิกสูบบุหรี่ เช่น
- คิดทบทวนผลเสียของการสูบบุหรี่และผลดีของการหยุดสูบบุหรี่
- บอกคนรอบข้างว่าท่านกำลังพยายามหยุดสูบบุหรี่เพื่อ พวกเขาจะได้ช่วยเชียร์และไม่มายั่วหรือ ส่งบุหรี่ให้เวลาท่านหงุดหงิดเขาจะได้
เข้าใจ
- ทำให้ท่านต้องพยายามอย่างจริงจังมากขึ้น
- เก็บเงินค่าบุหรี่ใส่กระปุกออมสินไว้
- ให้รางวัลตัวเองถ้าเลิกสูบบุหรี่ได้
4. หาวิธีอื่นๆในการจัดการกับความเครียด
วิธีจัดการกับความเครียดนั้นมีมากมายหลายวิธี บางคนใช้วิธีดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา บางคนใช้วิธีปิดห้องแล้วตะโกนดังๆ หรือลองศึกษา สังเกตุดูพฤติกรรมของพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ไม่สูบบุหรี่ว่าเขาจัดการกับความเครียดอย่างไร ทดลองใช้วิธีจัดการกับความเครียดแบบต่างๆดู แล้วจดจำวิธีที่ท่านชอบเอาไว้ใช้
5. กำหนดวันที่จะหยุดสูบอย่างเด็ดขาด
เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวและ"ทำใจ" อาจจะกำหนดโดยใช้วันที่มีความหมายพิเศษบางอย่างเช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันเกิดลูก หรืออาจกำหนดเป็นระยะเวลาเช่นอีก 3 วัน 7 วัน หรือ 10 วัน หรืออีก 2 สัปดาห์ก็ได้ หลังจากนั้นให้ใช้เวลาช่วงนี้ค่อยๆพยายามลดการสูบบุหรี่ลง โดยจำกัดจำนวนบุหรี่ที่จะสูบในแต่ละวันลงเรื่อยๆ สูบเพียงครึ่งมวนแล้วทิ้ง กำหนดวันที่จะไม่สูบบุหรี่เลยทั้งวันจากสัปดาห์ละ 1 วัน แล้วค่อยๆเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน 3 วัน หรือค่อยๆเพิ่มเป็น 2 วันติดกัน 3 วันติดกัน ฯลฯ ในระหว่างนี้ให้พยายามปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวมาแล้วไปด้วยคือ หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุ เบี่ยงเบนความสนใจ เสริมสร้างกำลังใจ และเปลี่ยนวิธีจัดการกับความเครียด เมื่อถึงวันที่ท่านกำหนดว่าจะหยุดสูบบุหรี่ให้ทิ้งบุหรี่ที่เหลือและอุปกรณ์การสูบบุหรี่ให้หมดแล้วหยุดสูบบุหรี่ทันที แล้วปฏิบัติตามวิธีข้างต้นต่อไปจนสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้เด็ดขาดและเกิดเป็น "นิสัย" หรือความคุ้นเคยอันใหม่ที่ไม่ต้องสูบบุหรี่
ข้อปฏิบัติในการป้องกันการสูบบุหรี่
กรณีคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ก็ไม่ควรริลอง ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องโก้เก๋หรือทำตามเพื่อน ในการป้อง
กันสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
การป้องกันตัวเอง
1 ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยของบุหรี่ ประโยชน์ของการไม่สูบบุหรี่
2. รู้จักตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยเหตุผล หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาพ่อ แม่ ครู หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ
3. ไม่ทดลองสูบุหรี่ และกล้าที่จะปฏิเสธเมื่อมีผู้อื่นชักชวน
4. ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
การป้องกันในครอบครัว
1. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยให้ความรัก ความเข้าใจ ความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่ลูกและให้คำปรึกษาแนะนำเมื่อลูกมีปัญหา
2. พ่อแม่ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพสารเสพติด
การป้องกันในโรงเรียน
1. ครูอาจารย์ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นที่ปรึกษาแนะนำในการปฏิบัติตัวในทางที่ ถูกต้องเหมาะสม
2. ครูอาจารย์ต้องคอยสอดส่องพฤติกรรมของนักเรียนรวมทั้งประสานงานกับผู้ปกครองเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของบุหรี่ในโรงเรียน
3. ครูอาจารย์ต้องศึกษาความรู้เรื่องบุหรี่และสารเสพติดและวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี
การป้องกันในชุมชน
ทุกคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมที่จะทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันโดยปราศจากบุหรี่และสารเสพติด