แบตเตอรี่แห้ง
แบตเตอรี่แห้ง หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าถ่านไฟฉาย เป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนแปลงพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้า แบ่งออกเป็นเซลล์เปียกหรือโวลตาอิดเซลล์ ซึ่งอยู่ในถ่ายไฟฉายรุ่นเก่าและเซลล์แห้ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
แบตเตอรี่แห้ง แบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้
1.แบบคาร์บอน-สังกะสี ประกอบด้วย กล่องสังกะสีทรงกระบอก ซึ่งเป็นขั้วลบและเป็นที่บรรจุอิเล็กโตรไลท์ อิเล็กโทรไลท์ (Electrolyte) เป็นน้ำยาที่ทำปฏิกิริยาเคมีกับอิเล็กโทรดที่จุ่มอยู่ อาจเป็นเกลือ(Salt) กรด หรือด่าง(Alkaline) ก็ได้
2.แบบอัลคาไลน์ เซลล์ไฟฟ้าแบบนี้เหมาะสมดีทุกอย่างยกเว้นราคา เพราะให้กระแสไฟฟ้าสูง และทำงานได้ดีที่อุณหภูมิปกติ สามารถเก็บไว้ได้นาน อยู่ได้นานเฉลี่ยนานกว่าห้าปี
3.แบบซิลเวอร์ออกไซด์ ใช้ในงานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ มีอายุการใช้งานนานกว่าอัลคาร์ไลน์ถึง 3 เท่า ถ้าใช้กับไฟฉายจะไม่หรี่เลยจนกว่าเซลล์จะหมดอายุไปโดยสิ้นเชิง แต่ค่าใช้จ่ายก็ต้องสูงด้วยคือประมาณ 200 บาทต่อชั่วโมง
4.แบบเมอร์คิวรี่ เซลล์ไฟฟ้าแบบนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องใช้ที่ใช้เซลล์แบบกระดุม แต่ราคาเซลล์แบบเมอร์คิวรี่จะถูกกว่าซิลเวอร์ออกไซด์ครึ่งหนึ่ง ข้อที่แตกต่างกันคือแรงดันไฟฟ้า โดยเมอร์คิวรี่มีแรงดันไฟฟ้าเซลล์ละ 1.35-1.4 โวลต์ ส่วนซิลเวอร์ออกไซด์มีแรงดันไฟฟ้าเซลล์ละ 1.5 โวลต์
5.แบบนิกเกิลแคดเมียม เซลล์ไฟฟ้าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นชนิดที่เมื่อใช้จนกระแสไฟฟ้าหมดแล้วก็ต้องทิ้งไป แต่เซลล์แบบนิกเกิลแคดเมียม สามารถชาร์จไฟเข้าไปใหม่ได้ เซลล์หนึ่งๆ สามารถชาร์จไฟได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ครั้ง แบตเตอรี่ชนิดนี้มีแรงเคลื่อนไฟฟ้าเพียง 1.25 โวลต์
เซลล์แห้งแบบนิกเกิลแคดเมียมเป็นที่นิยมใช้กันมาก เพราะใช้จนไฟหมดสามารถประจุไฟได้ ทั้งยังมีน้ำหนักเบา และจ่ายกระแสไฟได้สูง จึงนิยมใช้กับเครื่องคิดเลข ไฟแฟลชถ่ายภาพ นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆแต่ไม่ว่าแบตเตอรี่แบบใดก็ล้วนมีโลหะหนักที่เป็นอันตรายเป็นองค์ประกอบ เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ลิเทียม แมงกานีสไดออกไซด์ ปรอทนิกเกิลเงินและสังกะสี
แคดเมียมเป็นโลหะหนักมีอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นจำนวนน้อย หากถูกทิ้งหรือปนเปื้อนในดิน น้ำ หากคน สัตว์ หรือพืช รับเข้าไป จากการหายใจ กิน ดื่ม จะเกิดพิษทีละน้อย จนที่สุดอาจทำให้เกิดระบบหายใจผิดปกติ ไตอักเสบ ไตวาย ข้อเสื่อม ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งในอวัยวะหลายชนิด
นอกจากนั้นแล้วยังมีโลหะหนักอื่นๆที่เป็นอันตรายเป็นองค์ประกอบ เช่น ตะกั่ว ลิเทียม แมงกานีสไดออกไซด์ ปรอทนิกเกิลเงินและสังกะสี หากไม่เก็บทิ้งอย่างถูกต้องจะก่อให้เกิดอันตราย หรือแม้แต่ทิ้งลงที่ฝังขยะ โลหะหนักเหล่านี้ก็อาจรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน แต่ถ้านำไปเผาก็จะปล่อยก๊าซออกมาอีกทั้งขี้เถ้าจากการเผาขยะก็ยังคงมีพิษต่อสิ่งมีชีวิตอยู่
ในต่างประเทศมีการแยกขยะประเภทนี้ไว้เพื่อการรีไซเคิลโดยเฉพาะ เพื่อกำจัดโลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแต่ในประเทศไทยยังไม่มีการรีไซเคิลขยะประเภทนี้ รวมทั้งยังไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับอันตรายของขยะชนิดนี้ และก่อนที่จะเป็นขยะพิษ ผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กอยู่ในบ้านก็ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ให้เด็กนำแบตเตอรี่ทุกชนิดไปอมเล่น หรือกลืนลงคอเพราะหากไม่ขับถ่ายออกมาตามปกติแล้ว โลหะหนักเหล่านี้จะรั่วซึมออกมาก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ที่มา: https://www.consumerthai.org/howtoboard/view.php?id=77