อาหารเสริม ผู้ป่วยโรคตับ?
อายุ 33 ปีครับ เป็นผู้ป่วยโรคตับจากไวรัส บี ขอคำแนะนำ เกี่ยวกับอาหารเสริม หรือการปฏิบัติตัวครับ ลำพูน
อายุ 33 ปีครับ เป็นผู้ป่วยโรคตับจากไวรัส บี ขอคำแนะนำ เกี่ยวกับอาหารเสริม หรือการปฏิบัติตัวครับ ลำพูน
นอกจากรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอแล้ว ความจริงแล้วคำว่าโรคตับมีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจจะหมายถึงผู้ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบ บี ซึ่งสภาพตับโดยทั่วไปแล้วไม่ได้แตกต่างจากคนปกติทั่วไปเท่าไรนัก ไปจนถึงผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง ซึ่งอาจจะมีอาการดีซ่าน บวม หรือท้องมานก็ได้ ซึ่งหมายถึงมีการเสื่อมสภาพของตับไปมาก สำหรับผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง คงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคตับเหล่านี้พอจะแบ่งออกได้เป็นหัวข้อสำคัญๆ 6 อ คือ 1 อาหาร สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับเพียงเล็กน้อย เช่นเป็นพาหะของเชื้อไวรัส บี ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเฉียบพลัน การรับประทานน้ำหวานมากๆไม่มีรายงานว่าทำให้การดำเนินโรคดีขึ้นกว่าการไม่ได้รับประทานน้ำหวาน อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถบริโภคอาหารได้เนื่องจากมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ในกรณีเช่นนี้การรับประทานอาหารที่ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรท พวกแป้ง และน้ำตาลเป็นหลักจะทำให้ย่อยอาหารได้ง่าย และควรหลีกเลี่ยงการ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง สำหรับผู้ป่วยซึ่งเริ่มมีอาการตับแข็งแล้ว อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารที่มีรสเค็มจัด เนื่องจากการรับประทานอาหารเค็มสามารถทำให้อาการบวม หรืออาการท้องมานเลวลงได้ โดยทั่วไปแล้วในผู้ป่วยที่มีอาการบวมหรือท้องมาน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณ เศษหนึ่งส่วนสามช้อนชาต่อวันเท่านั้น ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งควรรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงขึ้นใหม่ไม่ควรรับประทานอาหารที่เก็บค้างคืน หรืออาหารที่ประกอบขึ้นสุกๆ ดิบๆ เช่น การลวก การย่าง เพราะบ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้ป่วยโรคตับแข็งมาพบแพทย์ด้วยอาการติดเชื้อจากทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งบางครั้งสามารถเป็น รุนแรงจนเสียชีวิต ได้ผู้ป่วยซึ่งเป็นตับแข็งและไม่มีอาการซึม หรืออาการทางสมองร่วมกับภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยเหล่านี้ควรจำกัดปริมาณโปรตีนที่ได้จากสัตว์ อย่างไรก็ตาม สามารถเสริมโปรตีนได้ในรูปของโปรตีนจากพืชและถั่ว เป็นต้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เป็นผักและผลไม้ให้เพียงพอเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะท้องผูก การรับประทานอาหารเสริมที่เป็นโปรตีนที่มีกิ่ง Branch Chains Amino Acid อาจทำให้ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้อย่างไรก็ตามอาหารเสริมดังกล่าวยังมีราคาแพงและสามารถทดแทนได้ด้วยการรับประทานโปรตีนจากพืช ปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ ชัดเจนว่าอาหารเสริมต่างๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจะมีประโยชน์โดยแท้จริงกับผู้ป่วยโรคตับ นอกจากการรับประทานอาหารที่ได้กล่าวแล้วการรับประทานอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยว ไม่มีผลเสียโดยตรงอย่างไรต่อตับ 2 แอลกอฮอล์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี อาจจะพอ รับประทานได้บ้าง แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดซีแบบเรื้อรังมีหลักฐานชัดเจนพบว่าการรับประทานแอลกอฮล์มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงทำให้การดำเนินของโรคลุกลามเร็วขึ้นถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่จะไม่มีผลโดยตรงกับโรคตับ แต่การสูบบุหรี่ที่มีผลเสียต่อร่างกายรวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดมะเร็งในหลายๆ ส่วนของร่างกาย นอกจากปอด ดังนั้นให้สุขภาพแข็งแรงควรจะงดและหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วย 3 อัลฟาท๊อกซิน Aflatoxin สารอัลฟาท๊อกซินเป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา Aspergillus ซึ่งเป็นเชื้อราตระกูลเดียวกับที่พบตามขนมปังที่เก็บไว้นานๆ นั่นเอง เชื้อ Aspergillus บางตระกูลสามารถสร้างสารพิษที่เรียกว่า อัลฟาท๊อกซินขึ้น ซึ่งสารพิษนี้สามารถชักนำให้เกิดมะเร็งตับได้ เชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในอาหาร บางอย่างซึ่งเก็บอย่างไม่ถูกวิธีและมีความชื้นเช่น ถั่ว พริกป่น ข้าวโพด ข้าวสาร เป็นต้น การศึกษาจากประเทศจีนตอนใต้ พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง ในหมู่บ้านที่มีสารอัลฟาท๊อกซินปนเปื้อนในอาหารสูงกว่ากลุ่มประชากรที่บริโภคอาหารที่ไม่ได้ปนเปื้อนด้วยสารอัลฟาท๊อกซิน อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคตับจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวแล้ว 4 อารมณ์ และการพักผ่อน บ่อยครั้งทีเดียวที่แพทย์พบผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง หรือเป็นโรคตับแข็งที่มีอาการทั่วไปๆ สบายดีมาตลอด แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือตรากตรำงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงมีส่วนชักนำให้ไวรัสอักเสบเพิ่มเติมขึ้น ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน หรือบางครั้งรุนแรงจนเกิดภาวะตับวายเกิดขึ้นได้ 5 ออกกำลัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง และมีอาการที่บ่งว่ามีสภาพการทำงานของตับเหลืออยู่น้อย ดีซ่าน ท้องมาน บวม ผู้ป่วยเหล่านี้ควรงดออกกำลังกายและหลีกเลี่ยงการเดิน หรือนั่งนานๆ ผู้ป่วยที่มีประวัติเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารไม่ควรออกกำลังที่จะต้องแบ่งหรือเกร็งกล้ามเนื้อท้อง เช่น การยกน้ำหนัก เนื่องจากจะกระตุ้นให้เกิดความดันเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตกได้อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นตับแข็งในระยะเริ่มต้นไม่มีอาการผิดปกติ สามารถออกกำลังได้ตามตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม เช่น การวิ่งมาราธอน หรือการแข่งขันกีฬาที่ต้องแพ้ หรือชนะการออกกำลัง เช่น การเดิน วิ่งเบาๆ ดูจะเป็นการออกกำลังที่เหมาะสม นอกจากการออกกำลังแล้ว การมีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส ก็มีความสำคัญทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย 6 อัลฟาฟีโตโปรตีน Alpha feto-protein เป็นสารซึ่งสร้างขึ้นโดยเซลล์ตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแบ่งตัวของเซลล์ตับ เราพบสาร Alpha feto-fetein สูงขึ้น ในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยซึ่งเป็นมะเร็งตับ อาจมีการเพิ่มขึ้น Alpha feto-proteinซึ่งใช้เป็นเครื่องแจ้งเตือนมะเร็งของตับได้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ตลอดจนผู้ที่เป็นตับแข็งไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถือว่าเป็นประชากรที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งของตับได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น สามารถให้การรักษาที่เหมาะสมและมีโอกาสหายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตับควรมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัดและตรวจ Alpha peto-protein ตามที่แพทย์เห็นสมควร ถึงแม้ว่าจะมีพืช อาหาร และสมุนไพรหลายอย่าง ที่อ้างว่ามีสรรพคุณป้องกันการเกิดและรักษาโรคมะเร็งตับได้ ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเพียงพอจะแนะนำให้ ผู้ป่วยรับประทาน นอกจากนั้นสมุนไพรบางตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้จึงควรระมัดระวัง จากข้อมูลที่มีอยู่พอจะบอกได้ว่า การรับประทานอาหารที่ถูกต้องร่วมกับ พืชผัก และผลไม้ที่สะอาดในปริมาณที่พอเพียงจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย กล่าวโดยรวมแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคตับควรปฏิบัติตัวตาม 6 อ ที่ได้กล่าวมาแล้ว หรือปฏิบัติตัวตามสุขบัญญัติ 10 ประการตามที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเด็กๆ นั่นเอง ข้อมูลจาก www thailiverclub org
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!