รู้ทัน Storm surge มหันตภัยร้ายแห่งท้องทะเล
หากลองนึกภาพเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอดีต แน่นอนว่า ภาพของเหตุการณ์ไล่ตั้งแต่พายุแฮเรียต ในปีพ.ศ.2505 ที่ซัดแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช จนราบเป็นหน้ากลอง ถัดมาในปี พ.ศ.2532 มหาวิบัติพายุเกย์ ก็สร้างความเจ็บช้ำให้แก่ชาวบ้านหลายพื้นที่ใน จ.ชุมพร จนมาถึงช่วงปี พ.ศ.2540 พายุลินดา ก็ซัดซ้ำรอยเดิมใน จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี
เหตุการณ์ทั้งหมดคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยหลายคน กระทั่งล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านก็เกิดเหตุพิบัติภัยจากพายุนาร์กีสที่ถล่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า จนสร้างความเสียหายเกินคณานับ ซึ่งภาพเหตุการณ์ที่ไล่เรียงมานี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าล้วนแล้วเกิดขึ้นจากความรุนแรงของพายุที่พัดเข้าหาชายฝั่งในลักษณะที่เรียกว่า ‘Storm surge’
Storm surge มหันตภัยร้ายเกินมองข้าม
นาวาเอก กตัญญู ศรีตังนันท์ ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ให้คำอธิบายว่า Storm surge คือ ปรากฏการณ์คลื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุหมุนโซนร้อนที่ยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นกว่าปกติ อันเนื่องมาจากความกดอากาศต่ำที่ปกคลุม ณ บริเวณนั้น ซึ่งเวลาที่หย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านไปพร้อมกับศูนย์กลางของพายุ ทำให้แรงกดนั้นยกระดับน้ำจนกลายเป็นโดมน้ำขึ้นมา โดยเคลื่อนตัวจากทะเลซัดเข้าหาชายฝั่ง
คำถามก็คือ Storm surge มีความเหมือนหรือแตกต่างจากการเกิดสึนามิ หรือไม่?
นาวาเอก กตัญญู ชี้แจงว่า สิ่งที่คล้ายกัน คือ รูปแบบการเคลื่อนตัวที่เป็นเหมือนคลื่นขนาดใหญ่แล้วพัดเข้าชายฝั่ง แต่ที่แตกต่างกัน คือ ลักษณะของการเกิด คือ สึนามิ เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของแผ่นดินไหวใต้ทะเล ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าชายฝั่ง แต่กับ Storm surge จะเกิดขึ้นโดยมีตัวแปรจากพายุ
ส่วนความเสียหายนั้น คิดว่า Storm surge จะเลวร้ายมากกว่า กล่าวคือ การเกิดสึนามิจะเกิดขึ้นวันไหนก็ได้ โดยท้องฟ้าอาจจะแจ่มใส อากาศเป็นปกติ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทางฝั่งอันดามันของไทย แต่หากเป็น Storm surge จะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่ท้องฟ้าปั่นป่วนไม่แจ่มใส สภาพอากาศเลวร้าย มีการก่อตัวของเมฆฝน ฝนตกอย่างหนัก ลมพัดแรง บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก คลื่นในทะเลสูง แต่เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามาก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดเข้ามาอีกครั้ง ดังนั้น ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ
รูปแบบการยกตัวของคลื่น Storm surge ในการขึ้นฝั่ง
“เมื่อ Storm surge เกิดมาพร้อมกับพายุโซนร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อพายุเข้ามาเราก็จะเห็นสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น การเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจากการสังเกตลักษณะอากาศที่จะค่อยๆ เลวร้ายลง ทำให้เรารู้ตัวล่วงหน้าหลายวันและสามารถหาทางอพยพได้ทัน แต่กับสึนามิอาจจะไม่รู้ได้เลย เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีสัญญาณบอกเหตุร้ายแต่อย่างใด แต่ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นในช่วงหลายปีมานี้ก็เป็นอะไรที่คาดเดา พยากรณ์ได้ยากเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศในทุกมุมโลกเกิดความแปรปรวน และยิ่งทวีความรุนแรงของเหตุการณ์ขึ้น สิ่งนี้จึงเรื่องที่ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด” นาวาเอก กตัญญู ให้ภาพ
คลื่น Storm surge ที่เกิดจากอิทธิพลของพายุในทะเล
กทม.ไม่น่าห่วงเท่าชายฝั่งอ่าวไทย
นาวาเอก กตัญญู อธิบายต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้หลายคนจึงตั้งคำถามว่าพื้นที่ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ชายฝั่งแล้วจะได้รับผลกระทบที่เกิดจาก Storm surge หรือไม่นั้น ต้องบอกว่าถึงแม้พื้นที่เสี่ยงการเกิดพายุจะอยู่ในอ่าวไทย แต่บริเวณก้นอ่าว หรือบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา กลับไม่เคยพบการเกิดพายุหมุนโซนร้อนมาก่อน ที่พบก็จะมีแต่ปลายๆ ของหางพายุดีเปรสชันซึ่งก็ไม่ได้เกิดความรุนแรง แต่พื้นที่ที่น่าห่วง คือ ตลอดแนวพื้นที่ราบชายฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป ซึ่งในอดีตพื้นที่เหล่านี้ก็เคยเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ซัดถล่มมาแล้ว หากมองในพื้นที่บริเวณชายฝั่งของกรุงเทพฯ โอกาสที่จะเกิดน้อย เนื่องจากพื้นที่ของกทม.เป็นพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน แต่หากว่าเกิดพายุพัดผ่านเข้ามาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจริงอิทธิพลจะเข้ามาถึงตัวเมืองแน่นอน โดยเฉพาะร่องแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะมีมวลน้ำทะลักเข้ามาไหลเอ่อท่วมพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ
นาวาเอก กตัญญู บอกอีกว่า ทางฝั่งของทะเลอันดามันก็ยังพอเบาใจได้เนื่องจากการเกิดของ Storm surge จะเกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนตัวของศูนย์กลางพายุเข้าหาชายฝั่ง แต่หากสังเกตเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุที่เกิดขึ้นในไทยนั้นจะเริ่มพัดขึ้นฝั่งอ่าวไทยแล้วพัดออกจากฝั่งทางอันดามันไปพม่า บังคลาเทศ อินเดีย ทำให้ฝั่งอันดามันเป็นการเคลื่อนตัวออกนอกชายฝั่ง ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจาก Storm surge เหมือนอ่าวไทย แต่ที่ไม่ควรมองข้ามคือหากพายุหมุนเกิดขึ้นภายในแผ่นดิน และบริเวณแหล่งน้ำภายในเช่น กว๊านพะเยา บึงบอระเพ็ด หากหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านแหล่งน้ำเหล่านั้น น้ำก็จะยกตัวขึ้นมาเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในทะเลและก็อาจทำให้เกิดคลื่นพัดเข้าสู่ฝั่งได้เช่นกัน
“ที่ผ่านมา หลายคนให้ความสนใจในการเฝ้าระวังสึนามิ เพราะยังเป็นของใหม่ในบ้านเรา แต่ความจริงแล้วภัยคุกคามที่แท้จริงคงหนีไม่พ้น Storm surge เพราะโอกาสที่จะเกิดพายุหมุนโซนร้อนที่พัดเข้าอ่าวไทยเกิดได้ถี่กว่า สึนามิหลายเท่า” นาวาเอก กตัญญู แจกแจง
ปลูกป่าชายเลน แนวป้องกันชั้นยอด
ในส่วนของการเฝ้าระวังและวิธีการเตรียมรับมือนั้น รศ.อัปสรสุดา ศิริพงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ระยะเสี่ยงการเกิดพายุจะอยู่ที่ 3 เดือนอันตราย เพราะจากสถิติการเกิดพายุหมุนโซนร้อนที่ขึ้นทางฝั่งอ่าวไทยนั้น เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนตุลาคม พายุจะก่อตัวทางตอนใต้ของปลายแหลมญวนทางเขมร และเมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนพายุจะเคลื่อนลงจากแหลมญวนจนเคลื่อนสู่อ่าวไทย ไปตลอดจนถึงเดือนธันวาคมพายุจึงจะสลายไปในที่สุด
สำหรับในบ้านเรานั้นหลายคน กลัวว่า Storm surge จะเกิดผลกระทบต่อเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่อยากให้อุ่นใจได้ว่า Storm surge คงเข้ามาไม่ถึง ที่ต้องระวังคือปัญหาเดิมๆ อย่างน้ำท่วม เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รับน้ำ อีกทั้งภายในตัวเมืองชั้นในยังมีสิ่งปลูกสร้างสูงๆ ป้ายโฆษณาตามตึกต่างๆ ก็ควรระวังหากเกิดลมพายุรุนแรงเพราะจะพัดป้ายให้พัง และเกิดความเสียหายได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรหาทางป้องกันอย่างเร่งด่วน
การเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับ Storm surge นั้น อยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยศึกษาลักษณะของการเกิด และความรุนแรงเพื่อที่จะได้หาทางหนีทีไล่ได้ทัน ซึ่งการหนีนั้นต้องมีหน่วยงานที่ร่วมทำแผนที่เสี่ยงภัย หากบริเวณไหนมีประชากรหนาแน่นบริเวณนั้นจะมีความเปราะบางมาก จึงต้องทำแผนที่ให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมือท่องเที่ยว
“วิธีการป้องกันมีอยู่หลายแนวทางทั้งการสร้างกำแพงป้องกันแต่ก็ไม่ควรนำมาใช้กับบ้านเรา และอาจจะเป็นการสูญเงินอย่างมหาศาล ทางออกที่ดีที่สุดคือการช่วยกันรักษาป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง หรือปลูกป่าชายเลนเพิ่มในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยลดความรุนแรงได้ อีกทั้งควรกำหนดเป็นหลักสูตรในเรื่องของภัยพิบัติลงในแบบเรียนเพราะเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเกิดความตื่นตัว จึงต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น และต้องมีการซ้อมแผนเตือนภัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวเกิดขึ้นจริงจะได้ช่วยลดความเสียหายจากชีวิตและทรัพย์สินได้” รศ.อัปสรสุดา ทิ้งท้าย
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2551 09:27 น.
https://www.coastalaqua.com/webboard/index.php?topic=1640.0