นายฮ้อย คาวบอยแบบไทยๆ?
จะมีใครรู้บ้างว่า ภาพคาวบอยหนุ่มมาดองอาจบนหลังม้า ควบม้าไล่ต้อนฝูงวัวอย่างชำนิชำนาญท่ามกลางแสงแดดครั้งหนึ่งคือวิถีชีวิตของ นายฮ้อยแห่งอีสาน ซึ่งปัจจุบันไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
ทุกปีราวเดือนสองเดือนสาม (มกราคม-กุมภาพันธ์) หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว นายฮ้อยจาก &“ เมืองบน&” หรือดินแดนที่ราบสูงโคราชแถบขอนแก่น โคราช ชัยภูมิ จะเริ่มออกหาซื้อวัวควายจากหมู่บ้านต่าง ๆ หมู่บ้านละประมาณ ๓๐-๔๐ ตัว
เมื่อรวบรวมได้ราว ๔๐๐-๕๐๐ ตัว หรือบางคราวอาจมากถึง ๑,๐๐๐ ตัว ก็จะเริ่มเดินทางพร้อมกองคาราวานเกวียนบรรทุกสัมภาระ ข้าวปลาอาหาร และลูกน้องไม่น้อยกว่า ๑๐ คน ถ้าเป็นฝูงใหญ่อาจต้องใช้คนนับร้อยไล่ต้อนลงมาขายที่ "เมืองล่าง" หรือดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางแถบลพบุรี สระบุรี อยุธยา มาถึงราวเดือนสี่เดือนห้า (มีนาคม-เมษายน) ซึ่งกำลังเริ่มฤดูกาลไถหว่านทำนาพอดี
ระหว่างการเดินทางรอนแรมกลางป่าเปลี่ยวเสี่ยงอันตราย เผชิญกับอุปสรรคนานัปการ นายฮ้อยต้องรับผิดชอบดูแลทุกชีวิตทั้งคนและฝูงวัวควายที่เสี่ยงต่อการถูก ปล้นสะดมระหว่างทาง ต้องปกครองคนได้ เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกคน กล้าหาญ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สามารถจัดการฝูงวัวควายนับร้อยนับพันตัวได้ โดยจะแบ่งออกเป็นฝูงย่อย ฝูงละ ๘๐-๑๐๐ ตัว มีคนคุมต้อน ๙-๑๒ คน มีหัวหน้าหนึ่งคน แต่ละกลุ่มย่อยเรียกว่า "หนึ่งพาข้าว"
เส้นทางไล่ต้อนเริ่มต้นจากขอนแก่น นครราชสีมา ผ่านช่องเขาต่าง ๆ ในแนวเทือกเขาพังเหยจังหวัดชัยภูมิ เช่น ช่องสำราญ ช่องตานุด ช่องลำพญากลางหรือช่องตะพานหิน เป็นต้น ผ่านเข้าสู่ประตูภาคกลางที่อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี หยุดแวะขายที่บ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นแห่งแรก
นายฮ้อยจะเข้าไปแจ้งข่าวให้คนในหมู่บ้านแวะมาดูมาซื้อวัวควาย จากนั้นจะตระเวนขายไปจนสิ้นสุดเส้นทางที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี กว่าจะหมดบางครั้งใช้เวลาร่วมเดือนหรือ ๒ เดือน
รวมเวลาเดินทางกลับแล้วกว่าครึ่งปี ที่พวกเขาต้องจากบ้านมาใช้ชีวิตรอนแรมห่างไกลจากครอบครัว ทว่าสิ่งที่พวกเขานำมาพามาด้วยพร้อม ๆ กับกองคาราวานวัวควาย คือวัฒนธรรมจากอีสาน โดยมีนายฮ้อยเป็นสื่อเชื่อมกับอารยธรรมในภาคกลาง ซึ่งยังปรากฏร่องรอยให้เห็นผ่านขนบธรรมเนียม ประเพณี การแต่งกาย อาหารการกิน ภาษาพูด ของกลุ่มคนที่หลากหลายแถบลพบุรี สระบุรี
เกือบ ๓๐ ปีแล้วที่ภาพกองคาราวานนายฮ้อยไล่ต้อนฝูงวัวควายหายไปจากความทรงจำ ภายหลังที่มีเส้นทางรถยนต์เข้ามาแทนที่ ฝูงวัวควายที่ต้อนมาขายยังตลาดนัดวัวควายทุกวันนี้จึงมาพร้อมกับรถบรรทุก
ข้อมูลนี้ได้มาจากเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และถ้าคุณกฤษฎาต้องการข้อมูลเรื่องนายฮ้อยแบบมีสีสันและบรรยากาศ "ซองคำถาม" แนะนำให้อ่านนิยายเรื่อง นายฮ้อยทมิฬ ของ คำพูน บุญทวี
"ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี"
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!