การจัดเรตติ้งของรายการโทรทัศน์ในเมืองไทยไม่ได้ใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสอบถามผู้ชมตามบ้านร้านช่อง และใช่ว่าหากเราเสนอตัวจะให้ข้อมูลว่า เราไม่ชอบดูละครน้ำเน่า ไม่ชอบเกมโชว์และรายการทั้งมวลที่ใช้ดาราตลกคณะต่าง ๆ เป็นพิธีกร เขาจะยอมรับฟังข้อมูลจากเราเสียเมื่อไร
เรตติ้งรายการโทรทัศน์ในเมืองไทยที่เอเยนซี่ผู้ซื้อโฆษณาให้ความเชื่อถือ จัดทำโดยบริษัทวิจัย ACNielsen (Thailand) โดยบริษัทจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีราว ๑,๐๐๐ ครัวเรือน แล้วนำกล่องบันทึกข้อมูลไปติดไว้กับเครื่องโทรทัศน์ของบ้านเป้าหมาย พร้อมกำหนดรหัสของสมาชิกในบ้านไว้ ซึ่งเมื่อเขาเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นคุณผู้ชาย-คุณผู้หญิง หรือเด็กในบ้าน เปิดรายการโทรทัศน์รายการใดดู เครื่องจะบันทึกรายละเอียดในการชมไว้ ในส่วนของบริษัทผู้จัดทำเรตติ้งเองก็จะบันทึกรายการที่ออกอากาศทางโทรทัศน์เสรีทุกช่องไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
เมื่อถึงกำหนด บริษัทผู้จัดทำเรตติ้งจะเก็บข้อมูลในกล่องไปประมวลผลเทียบเคียงกับเทปบันทึกของรายการโทรทัศน์ว่า ในแต่ละนาทีมีผู้ชมรายการดังกล่าวกี่มากน้อย แล้วคำนวณออกมาเป็นตัวเลขเรตติ้ง ซึ่งก็คือ เปอร์เซ็นต์ของผู้ชมรายการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่บ้านมีโทรทัศน์ ผลของเรตติ้งจะบอกเป็นตัวเลขตั้งแต่ ๐ ขึ้นไป นับตั้งแต่มีการจัดทำเรตติ้งกันมา ผลเรตติ้งสูงสุดคือ ๓๐ จากละครเรื่อง คู่กรรม ที่พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ แสดงนำ ออกอากาศทางช่อง ๗ สี
การจัดทำเรตติ้งนับว่ามีอิทธิพลมากต่อสถานีโทรทัศน์ คณะผู้จัดทำละคร และบริษัทโฆษณา ละครเรื่องไหนเรตติ้งดี โฆษณาก็เยอะ เผลอ ๆ ผู้บริหารสถานีก็ขอยืดละครออกไปอีก ๕ ตอน ๑๐ ตอนเพื่อเก็บเกี่ยวรายได้จากโฆษณา
อย่างไรก็ตาม การจัดทำเรตติ้งก็เป็นที่ถกเถียงกันมากในเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพียง ๑,๐๐๐ ครัวเรือน จะใช้เป็นตัวแทนประชาชนคนดูโทรทัศน์หลายล้านคนได้อย่างไร แต่ตัวเลขเรตติ้งนี้แหละ ที่กำหนดชะตากรรมรายการโทรทัศน์บ้านเรา
"ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี"