ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ราชบัณฑิตคือใคร?, ราชบัณฑิตคือใคร? หมายถึง, ราชบัณฑิตคือใคร? คือ, ราชบัณฑิตคือใคร? ความหมาย, ราชบัณฑิตคือใคร? คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
คำถาม

ราชบัณฑิตคือใคร?

ตำแหน่งราชบัณฑิตมีหน้าที่อะไร และต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
(นพดล สุจริตสัญชัย / กรุงเทพฯ)

คำตอบ

บางคนเมื่อเห็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรากฏชื่อผู้แต่ง พร้อมสร้อยห้อยท้ายว่า "ราชบัณฑิต" ก็ให้รู้สึกครั่นคร้าม และเกิดคำถามในใจว่า&hellip เขาเป็นใคร ?

บางคนเห็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็เชื่อแน่ว่าราชบัณฑิตยสถาน จะเป็นแหล่งรวม ของนักปราชญ์แขนงต่างๆ แต่ก็ยังไม่มั่นใจนักว่าหน่วยงานนี้ ทำหน้าที่แต่งหนังสืออย่างเดียว หรือมีภารกิจอื่นใดอีก

เชื่อแน่ว่าคงมีคนจำนวนมาก ที่ไม่รู้ว่าหน่วยงาน ที่มีนามว่า ราชบัณฑิตยสถาน มีบทบาทหน้าที่อะไร และราชบัณฑิต เป็นใคร&hellip ดังที่คุณนพดลนึกสงสัย

"ซองคำถาม" ขอข้อมูลไปยังราชบัณฑิตยสถาน และได้รับคำตอบอย่างละเอียด มาจากท่านเลขาธิการฯ แต่จะขอตอบให้คุณนพดลทราบ แต่เพียงสังเขปดังนี้

เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลก็มุ่งมั่น ที่จะทำนุบำรุงประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าตามแบบอารยประเทศ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ จะต้องให้ประเทศไทย มีผู้ทรงความรู้ที่ทัดเทียม กับประเทศที่มีความเจริญทางวิชาการ วิธีการก็คือ ต้องตรากฎหมาย เพื่อจัดตั้งสถาบัน ที่เป็นแหล่งรวมนักวิชาการสาขาต่างๆ ดังเช่นทุกประเทศที่เจริญแล้ว ได้จัดตั้งสถาบันเช่นนี้ เพื่อที่จะได้ติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้ กับองค์การปราชญ์ ของนานาประเทศ และทำการค้นคว้า วิจัย รวบรวมสรรพวิชาการ จัดทำเป็นตำราออกเผยแพร่สู่ประชาชน และนักศึกษา ในส่วนของรัฐบาลหากประสงค์ ในเรื่องเกี่ยวแก่วิชาการ ก็จะได้สถาบันนี้ เป็นเครื่องมือค้นคว้าให้ ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตราพระราชบัญญัติ ว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน เพื่อสืบแทนราชบัณฑิตยสภา ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งมีหน้าที่จัดการกับงาน ของหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทำนุบำรุงรักษาโบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ กับทั้งการบำรุงวิชาช่างและอักษรศาสตร์

พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดหน้าที่ และประเภทสมาชิกไว้ดังนี้
๑. ค้นคว้าและบำรุงสรรพวิชา ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติ และประชาชน
๒. ติดต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ กับองค์การปราชญ์อื่นๆ
๓. ให้ความเห็น คำปรึกษา และปฏิบัติการเกี่ยวกับวิชา ตามความประสงค์ของรัฐบาล

สมาชิกมีสามประเภท ประกอบด้วย
๑. ภาคีสมาชิก คือ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งที่ขอสมัครเข้าทำการร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน โดยมีคุณวุฒิตามที่กำหนดในกฎหมาย และราชบัณฑิตยสถานได้พิจารณาเห็นควรให้รับได้
๒. ราชบัณฑิต คือ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของราชบัณฑิตทุกสำนัก ได้พิจารณาคัดเลือกจากภาคีสมาชิก แล้วนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูล พระกรุณาทรงแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต
๓. ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คือ ผู้ทรงเกียรติคุณในวิชาประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของราชบัณฑิตทุกสำนัก เห็นชอบ แล้วนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงแต่งตั้ง

สมาชิกราชบัณฑิตยสถานจะพ้นตำแหน่งเมื่อ
๑. ตาย
๒. ลาออก
๓. ไร้ความสามารถ
๔. ขาดจากสัญชาติไทย
๕. ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ และที่ประชุมราชบัณฑิตวินิจฉัย ให้พ้นจากตำแหน่ง โดยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า สองในสามของที่ประชุม
๖. มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง และที่ประชุมราชบัณฑิตวินิจฉัย ให้พ้นจากตำแหน่ง โดยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า สองในสามของที่ประชุม

สำหรับจำนวนสมาชิก จำกัดจำนวนเฉพาะภาคีสมาชิกเท่านั้น โดยให้มีจำนวน ๑๖๐ คน ส่วนราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และราชบัณฑิตไม่มีการจำกัดจำนวนไว้

การรับผู้ทรงคุณวุฒิเป็นภาคีสมาชิก มีบทบัญญัติให้ยื่นความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกโดยจะต้องมีคุณวุฒิดังนี้
๑. ได้คิดกรรมวิธี หรือหลักอันใดที่ราชบัณฑิตยสถาน พิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ถึงขนาด
๒. ได้แต่งหนังสือที่ราชบัณฑิตยสถานเห็นว่าดีถึงขนาด หรือแปลหนังสือจากภาษาอื่น ซึ่งต้นฉบับได้รับการยกย่องว่า เป็นหนังสือชั้นเยี่ยมและคำแปลนั้นถูกต้อง
๓. ได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงเกียรติคุณในศิลปะ หรือ
๔. ได้เคยสอนวิชาเฉพาะในฐานะอาจารย์แห่งสำนักอุดมศึกษา ซึ่งรัฐบาลได้รับรองแล้ว

ในการสมัครจะสมัครได้ในสำนักเดียว และสาขาวิชาเดียว และจะต้องมีราชบัณฑิต จำนวนสองคนรับรอง โดยต้องเป็นราชบัณฑิต ในสาขาวิชาที่สมัครนั้นหนึ่งคน

สำหรับการเลือก และการแต่งตั้งราชบัณฑิตนั้น จะดำเนินการเมื่อมีตำแหน่งราชบัณฑิตว่างลง คือ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่ง พ้นจากความเป็นสมาชิกข้อใดข้อหนึ่ง หรือเมื่อมีตำแหน่งใหม่ คือ เมื่อราชบัณฑิตยสถานเห็นควร ให้มีตำแหน่งเพิ่มขึ้น ในสาขาวิชาที่ยังไม่เคยมีราชบัณฑิตประจำอยู่ ปัจจุบันมีราชบัณฑิตอยู่ ๖๙ คน ภาคีสมาชิก ๗๙ คน ไม่มีราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

การดำเนินงานของราชบัณฑิตยสถานมีสองลักษณะ ลักษณะแรกเป็นงานวิชาการ จากการค้นคว้า ที่ภาคีสมาชิก และราชบัณฑิต ได้นำมาแถลงแก่สำนัก ผลงานเรียบเรียงหนังสือตำรา งานที่ได้จากผลงานของสมาชิกนี้ ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ ในรูปของหนังสือ ตำรา และวารสารราชบัณฑิตยสถาน

ลักษณะที่ ๒ เป็นงานวิชาการประเภทสารานุกรม พจนานุกรม บัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ ที่ฝ่ายข้าราชการในกองต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ในรูปของคณะกรรมการ คณะบรรณาธิการ และคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก

"ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี"

ราชบัณฑิตคือใคร, ราชบัณฑิตคือใคร หมายถึง, ราชบัณฑิตคือใคร คือ, ราชบัณฑิตคือใคร ความหมาย, ราชบัณฑิตคือใคร คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำถามแนะนำ

คำถามในหมวดอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu